สรุปภาวะตลาดเงินตลาดทุนรายสัปดาห์ วันที่ 18-22 ธันวาคม 2560

สรุปภาวะตลาดเงินตลาดทุนรายสัปดาห์ วันที่ 18-22 ธันวาคม 2560

“เงินบาทอ่อนค่า ขณะที่ดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับเพิ่มขึ้นตลอดสัปดาห์”

สรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท

เงินบาทแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 1 เดือนใกล้แนว 32.90 บาทต่อดอลลาร์ ก่อนจะฟื้นตัวกลับมาเคลื่อนไหวในกรอบประมาณ 32.70-32.75 บาทต่อดอลลาร์ ในช่วงที่เหลือของสัปดาห์ ทั้งนี้ การอ่อนค่าของเงินบาทในระหว่างสัปดาห์ เป็นไปในทิศทางที่สอดคล้องกับการทยอยฟื้นตัวขึ้นของเงินดอลลาร์ ซึ่งได้รับแรงหนุนจากสัญญาณความคืบหน้าในการผลักดันมาตรการปฏิรูปภาษีของสหรัฐ  นอกจากนี้ เงินบาทยังขยับอ่อนค่าตามแรงซื้อเงินดอลลาร์ ในประเทศในช่วงใกล้สิ้นเดือนด้วยเช่นกัน 

- สำหรับในวันศุกร์ (22 ธ.ค.) เงินบาทอยู่ที่ 32.74 บาทต่อดอลลาร์ เทียบกับระดับ 32.50 บาทต่อดอลลาร์ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (15 ธ.ค.)  

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (25-29 ธ.ค.) ธนาคารกสิกรไทยประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 32.60-32.90 บาทต่อดอลลาร์ โดยจุดสนใจในประเทศน่าจะอยู่ที่ตัวเลขเศรษฐกิจไทยในเดือนพ.ย. 2560 ขณะที่ ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนธ.ค. สต็อกสินค้าภาคค้าส่งและภาคค้าปลีกขั้นต้นเดือนพ.ย. และดัชนีราคาบ้านเดือนต.ค. นอกจากนี้ ปัจจัยที่ต้องจับตาน่าจะอยู่ที่การปรับโพสิชันของนักลงทุนก่อนใกล้สิ้นปี ประเด็นต่อเนื่องจากมาตรการปฏิรูปภาษีของสหรัฐ และประเด็นทางการเมืองภายในของสเปน  

สรุปความเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นไทย

ดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับตัวขึ้นตลอดสัปดาห์ โดยดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,742.08 เพิ่มขึ้น 1.42% จากสัปดาห์ก่อน มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันลดลงประมาณ 3.57% จากสัปดาห์ก่อน มาที่ 47,119.05 ล้านบาท ส่วนตลาดหลักทรัพย์ mai ปิดที่ 540.25 จุด เพิ่มขึ้น 1.16% จากสัปดาห์ก่อน

- ดัชนีตลาดหุ้นไทยได้รับแรงหนุนจากมุมมองเชิงบวกของนักลงทุนต่อเศรษฐกิจไทยในปีนี้ ต่อเนื่องไปจนถึงปีหน้า หลังจากมีการปรับเพิ่มประมาณการจีดีพีในปี 2560 และปี 2561 ของธปท. และตัวเลขส่งออกของไทยเดือนพ.ย. ที่ออกมาดีกว่าที่คาด ส่งผลให้มีแรงซื้อเข้ามาในหุ้นขนาดกลางและใหญ่ นอกจากนี้ ดัชนี SET ยังมีปัจจัยบวกเพิ่มเติมจากต่างประเทศในช่วงกลางสัปดาห์ เมื่อสภาคองเกรสสหรัฐฯ ลงมติผ่านร่างกฎหมายปฏิรูปภาษี

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (25-29 ธ.ค.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,730 และ 1,720 จุด ขณะที่ แนวต้านอยู่ที่ 1,750 และ 1,760 จุด ตามลำดับ โดยปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม คงได้แก่ การทำ Window dressing ในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของปี ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญอื่นๆ ได้แก่ ข้อมูลการค้าระหว่างประเทศเดือนพ.ย. ขณะที่ ปัจจัยต่างประเทศที่สำคัญอื่นๆ ได้แก่ รายงานการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางญี่ปุ่น ตลอดจนดัชนีราคาผู้บริโภค และผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนพ.ย. ของญี่ปุ่น