แนะดูแลแรงงานไทยในต่างแดนให้ดีขึ้น หลังส่งเงินแสนล้านกลับปท.

แนะดูแลแรงงานไทยในต่างแดนให้ดีขึ้น หลังส่งเงินแสนล้านกลับปท.

วิเคราะห์มาตรการ ดูแลแรงงานไทยในต่างแดนให้ดีกว่าเดิม สมกับที่ส่งรายได้กลับไทยนับแสนล้าน จัดโดย สกว. ร่วมกับ มหิดล จัดประชุม "สถานการณ์การย้ายถิ่นและการคุ้มครองคนไทยต่างประเทศ"

เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2560 ที่ โรงแรมโนโวเทลสยามสแควร์ ศ.ดร.อิศรา ศานติศาสน์ ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายชาติและความสัมพันธ์ข้ามชาติ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการ “สถานการณ์การย้ายถิ่นข้ามชาติ องค์ความรู้ด้านการบริหารจัดการ และการคุ้มครองดูแลคนไทยในต่างประเทศ” เพื่อนำเสนอองค์ความรู้ด้านการย้ายถิ่นข้ามชาติของแรงงานไทยในต่างประเทศ รวมถึงทิศทางและแนวโน้มของการวิจัยด้านการย้ายถิ่นในประเทศไทย

ศ.ดร.อิศรา ศานติศาสน์ กล่าวว่า ปัจจุบันการเดินทางข้ามพรมแดนได้กลายเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในทุกสังคม ซึ่งเป็นการ “แสวงหาโอกาสที่ดีกว่า” งานที่มีค่าตอบแทนที่มากกว่า ตามความรู้ความสามารถ ภายใต้ยุคสมัยแห่งโลกาภิวัฒน์ ที่เชื่อมโยงคนจากพื้นที่ต่างๆเข้าหากัน ทั้งในรูปแบบการเดินทางไปมาหาสู่กัน การติดต่อสื่อสารถึงกัน และ การเชื่อมประสานให้เกิดความรักความผูกพันของคนต่างถิ่น การย้ายถิ่นข้ามชาติจึงเป็นกิจกรรมของมนุษย์ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ภายใต้วัตถุประสงค์ที่มีความหลากหลายแตกต่างกันไป ไม่ว่าจะเป็นการย้ายถิ่นเพื่อทำงาน เพื่อการศึกษา เพื่อครอบครัว หรือเพื่อชีวิตที่ดีกว่า

เช่นเดียวกับประเทศไทย ที่ได้เผชิญกับกระแสการไหลเข้าของแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านในพื้นที่อนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS) ซึ่งมีรายได้น้อย เดินทางเข้ามาแสวงหาชีวิตใหม่ในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ดีบทบาทของการรองรับการไหลเข้าของแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน ไม่ได้จำกัดเพียงแค่การเป็นประเทศจุดหมายปลายทางเท่านั้น แต่รวมถึงการเป็นประเทศทางผ่านของแรงงานข้ามชาติที่มีเป้าหมายเดินทางต่อไปยังประเทศอื่นอีกด้วย ประเทศไทยได้ถูกจัดเป็นหนึ่งใน 20ประเทศที่มีการเพิ่มประชากรแรงงานข้ามชาติสูงที่สุดในโลก ทั้งนี้งานวิจัยที่ผ่านมาได้คาดประมาณว่า จำนวนแรงงานข้ามชาติจากประเทศพม่า กัมพูชา และลาวที่ทำงานในประเทศไทย ในปี พ.ศ. 2558 มีจำนวนมากถึง 4.55 ล้านคน

ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายชาติและความสัมพันธ์ข้ามชาติ กล่าวอีกว่า ประเทศไทยได้กลายเป็นจุดหมายปลายทางและที่พักพิงของแรงงานจากประเทศลุ่มแม่น้ำโขงจำนวนมาก ในเวลาเดียวกันนี้คนไทยจำนวนมากก็ได้ตัดสินใจเดินทางออกไปมองหาโอกาสที่ดีกว่าในต่างประเทศ (Sciortinoand Punpuing, 2009) ซึ่งชี้ให้เห็นถึงพลวัตของการย้ายถิ่นที่มีไม่หยุดนิ่งอยู่ในรูปแบบการย้ายถิ่นแบบเก่าแต่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้การเปลี่ยนแปลงในมิติของตัวเลข แนวโน้ม รูปแบบ และประเด็นปัญหาเร่งด่วน เป็นความท้าทายของภาครัฐที่ต้องเร่งตอบสนองอย่างรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ

“ผลจากการวิจัยที่เกี่ยวข้องกับประเด็นการย้ายถิ่น จะมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมการวางนโยบายของภาครัฐให้รับมือกับปัญหาได้ทันท่วงที รวมถึงมาตรการในการดูแลคนไทยที่ไปทำงานในต่างแดน ทั้งในเรื่องของสวัสดิการ การรองรับแรงงานทีมีทักษะแรงงานจากต่างประเทศ และ ภาษีเงินได้ เนื่องจากมีบ้างอาชีพมีการพูดคุยการยกเว้นภาษีบ้างแล้ว ทำอย่างไรจะให้วาระดังกล่าวมีการพิจารณาอย่างเป็นรูปธรรม และเกิดประโยชน์สูงสุด” ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายชาติและความสัมพันธ์ข้ามชาติ กล่าว

รศ.ดร.กฤตยา อาชวนิจกุล สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวปาฐกถา เรื่อง คนไทยข้ามชาติ:สถานการณ์ นโยบายและทิศทางงานวิจัยตอนหนึ่งว่า คนไทยจำนวนมากมีการเคลื่อนย้ายไปต่างประเทศเพื่อแสวงหาโอกาสให้กับตนเอง และ ครอบครัว โดยสถิติจากการคุ้มครองและดูแลผลประโยชน์คนไทยในต่างประเทศ กรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ ณ เดือนกันยายน 60 ระบุว่ามีคนไทยจำนวน 1,120,837 คนในต่างประเทศ และมีคนไทยจำนวน 165,119 คนที่ทำงานในต่างประเทศ โดยประเทศที่มีคนไทยย้ายถิ่นมากที่สุด 3 อันดับ ได้แก่ ไต้หวัน 76,606 คน อิสราเอล 27,043 คน และสาธารณรัฐเกาหลีหรือเกาหลีใต้ 22,650 คน

โดยในจำนวนนี้ พบว่า ประมาณร้อยละ11.80ของผู้ที่ได้รับอนุญาตให้เดินทางไปทำงานต่างประเทศของแรงงาน re-entry มีระดับการศึกษาในระดับปริญญาตรีและมากกว่า ซึ่งเป็นกลุ่มแรงงานทักษะสูงและนำส่งรายได้กลับประเทศไทยผ่านระบบธนาคารไทยตั้งแต่เดือนมกราคม ถึงเดือนกันยายน 2560 มากถึง 94,174 ล้านบาท ส่วนปี 2559 ที่ผ่านมามีการนำส่งกลับรายได้มากถึง 114,581 ล้านบาท และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นซึ่งในจำนวนยังไม่รวมรายได้ที่มีการฝากส่งกับเครือญาติที่เดินทางกลับ รวมถึงรายได้จากแรงงานผิดกฎหมายที่ฝากเงินกับบล็อกเกอร์

“ส่วนตัวเชื่อว่า หากรวมรายได้จากแรงงานผิดกฎหมายเม็ดเงินที่ส่งกลับประเทศไทยมีจำนวนมหาศาล ซึ่งผลที่ประเทศไทย คือ ระบบเศรษฐกิจเพราะจำนวนเงินดังกล่าวไหลวนเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ ทั้งในส่วนของการชำระหนี้สิน สร้างบ้าน ซื้อรถ ลงทุนในระบบเกษตร หรือ แม้ แต่การซื้อโทรศัพท์มือถือ ดังนั้นจึงอยากจะฝากถึง ฝ่ายนโยบายชาติและความสัมพันธ์ข้ามชาติสกว.ให้สนับสนุนการวิจัยในประเด็น การบริหารจัดการแรงงานไทยในต่างประเทศเป็นประเด็นที่ท้าทายสำหรับภาครัฐในการที่จะต้องบริหารให้เกิดสมดุลยระหว่างมิติความมั่นคงของประเทศ การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ควบคู่ไปกับการคุ้มครองดูแลแรงงาน โดยเฉพาะเรื่องของ สิทธิแรงงาน และ สวัสดิการที่แรงงานควรได้รับ รวมไปถึงประเด็นในเรื่องของอาหาร และ การใช้โซเชียลมีเดียในการติดต่อสื่อสาร เพื่อเชิญชวนให้คนไทยอื่นให้ร่วมเดินทางไปแสวงหาโอกาสทางอาชีพและรายได้” รศ.ดร.กฤตยา กล่าว