นศ.แข่งเขียนโปรแกรมฯระดับเอเชีย ไทย48ทีมหวังทะลุเวิลด์ไฟนอล

นศ.แข่งเขียนโปรแกรมฯระดับเอเชีย ไทย48ทีมหวังทะลุเวิลด์ไฟนอล

เชียร์นศ.ไทย! แข่งเขียนโปรแกรมฯระดับเอเชีย ไทย48ทีมจาก74ทีมลงสนามสู้กัน จับตาคู่แข่งจากเกาหลี-สิงคโปร์ หวังเข้ารอบระดับเวิลด์ไฟนอล ที่กรุงปักกิ่ง จีน

นครปฐม - 21 ธันวาคม 2560 : คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ACM-ICPC ระดับเอเชีย ประจำปี 2560 ระหว่างวันที่ 21-23 ธันวาคม 2560 นี้ โดยพิธีเปิดได้จัดขึ้นในวันที่ 21 ธันวาคม 2560 เวลา 9.00-11.30 น. ณ ห้อง Grand Auditorium ชั้น 4 อาคารคณะ ICT มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา โดยมีผู้เข้าร่วมการแข่งขันกว่า 300 คน จากกว่า 10 ประเทศทั่วทวีปเอเชีย

การแข่งขันการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ACM-ICPC หรือ ACM International Collegiate Programming Contest นี้เป็นการจัดการแข่งขันการเขียนโปรแกรมในระดับอุดมศึกษาระดับนานาชาติที่มีชื่อเสียงที่สุด โดยสมาคม Association for Computing Machinery (ACM) เป็นสมาคมวิชาชีพด้านคอมพิวเตอร์ที่เก่าแก่และมีจำนวนสมาชิกมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก

รศ.ดร.เจริญศรี มิตรภานนท์ คณบดีคณะ ICT และประธานการจัดการแข่งขันในครั้งนี้ เผยว่า การแข่งขันการเขียนโปรแกรมในระดับอุดมศึกษาระดับนานาชาตินี้จะจัดเป็นรอบๆ ตั้งแต่ระดับชาติ ทวีป เพื่อเฟ้นหาผู้เข้าแข่งขันไปชิงชนะเลิศในระดับโลก หรือรอบ World final ต่อไป ในการแข่งขันระดับโลกนี้ จึงมีนักศึกษาจากทั่วโลกจำนวนหลายหมื่นคนเข้าร่วมชิงชัย โดยมีการจัดแข่งขันรอบชิงชนะเลิศระดับโลกมาแล้ว 40 ครั้ง ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1977 โดยมี Head quarter อยู่ที่ Baylor University สหรัฐอเมริกาซึ่งในปี 2559 ที่ผ่านมา มีนิสิตนักศึกษาเข้าร่วมการแข่งขันกว่า 46,381 คน จาก 2,948 มหาวิทยาลัย ใน 103 ประเทศทั่วโลก

“ในส่วนที่ คณะ ICT ม.มหิดล เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันในครั้งนี้ เป็นการแข่งขันระดับทวีปเอเชีย (ประเทศไทยจัดมาแล้วก่อนหน้านี้ 4 ครั้ง โดยมีเจ้าภาพจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต วิทยาเขตหาดใหญ่ และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งจัดมากสุด 2 ครั้ง) โดยในครั้งนี้ จะมีนิสิตนักศึกษาที่ผ่านเข้ารอบในระดับทวีปนี้ได้ ทั้งหมด 74 ทีม 222 ผู้เข้าแข่งขัน โดยแบ่งเป็น 26 ทีมต่างชาติ มาจากหลายประเทศ เช่น China, Hong Kong, Indonesia, Japan, Malaysia, Singapore, South Korea, Taiwan, Vietnam และ 48 ทีม จากประเทศไทย โดยผู้เข้าแข่งขันเหล่านี้มาจากนักศึกษาในมหาวิทยาลัยชั้นนำเลยทีเดียว

ที่น่าจับตามอง ก็จะมีจากสถาบันชั้นสูงของเกาหลีด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีหรือเรียกสั้นๆ ว่า KAIST (Korea Advanced Institute of Science & Technology) ซึ่งเป็นสถาบันที่เคยคว้ารางวัล First Solve หรือทีมที่แก้ปัญหาได้ก่อนเป็นทีมแรกอีกด้วย โดยในปีนี้ สถาบันนี้ได้เข้าร่วมการแข่งขันถึง 3 ทีม นอกจากนี้ ก็ยังมี NanyangTechnological University มหาวิทยาลัยชื่อดังจากประเทศสิงคโปร์ ซึ่งเข้าร่วมการแข่งขัน 3 ทีมเช่นเดียวกัน

สำหรับมหาวิทยาลัยไทย นอกจากมหาวิทยาลัยมหิดล ที่เข้าร่วมการแข่งขันกว่า 10 ทีม ยังมีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 6 ทีม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 5 ทีม และมหาวิทยาลัยชั้นนำทั้งจากเหนือ อีสาน ใต้ ออก และตก เข้าร่วมอีกกว่า 27 ทีมด้วยกัน เพื่อจะได้ผ่านการคัดเลือกไปเข้าแข่งขันในระดับเวิลด์ไฟนอลต่อไป

ในส่วนของรูปแบบของการแข่งขัน ACM-ICPC นิสิตหรือนักศึกษาในระดับปริญญาตรีจะต้องจัดทีม 3 คน จากมหาวิทยาลัยเดียวกัน มีอาจารย์ที่มาจากมหาวิทยาลัยเดียวกัน ทำหน้าที่เป็นผู้ควบคุมทีม มาเข้าแข่งขันในการทำโจทย์ที่ต้องใช้ทักษะการออกแบบอัลกอริทึม (การพัฒนาด้านการแก้ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างข้อมูลและขั้นตอนวิธี) แล้วเขียนโค้ดจัดการกับข้อมูลตัวอย่างที่ได้รับ ในระยะเวลาที่กำหนด การแข่งขันนี้ จะเน้นไปที่การให้ผู้เข้าแข่งขันได้แก้ไขโจทย์ปัญหา ภายใต้สภาวะที่กดดัน ผู้แข่งขัน 3 คน จะต้องแก้ไขปัญหาที่มีอาจารย์ผู้เชียวชาญทั้งในไทยและต่างประเทศเป็นผู้ออกโจทย์จำนวน 10 ข้อ ภายในเวลาแข่งขัน 5 ชั่วโมงติดต่อกัน โดยมีคอมพิวเตอร์ทีมละ 1 เครื่อง

สิ่งที่ผู้เข้าแข่งขันจะได้รับ นอกจากเงินรางวัลสำหรับผู้ชนะเลิศรางวัลที่ 1 2 3 และรางวัลอื่นๆ รวมกว่า 100,000 บาท (หนึ่งแสนบาท) พร้อมกับได้ไปแข่งขันในระดับเวิลด์ไฟนอลที่จะจัดขึ้นที่มหาวิทยาลัยปักกิ่ง กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน ในวันที่ 15-20 เมษายน 2561ผู้เข้าแข่งขันยังจะได้พบปะสังสรรค์กับคนเก่งด้านไอทีทั่วทวีปเอเชีย ซึ่งบางคนก็ได้ไปแข่งในระดับเวิลด์ไฟนอลมาแล้ว รวมทั้งอาจารย์โค้ชที่ได้เข้าร่วมการแข่งขันในครั้งนี้ จะได้เรียนรู้เทคนิคใหม่ๆ และวิธีการแก้ไขปัญหาใหม่ๆ แล้วนำไปพัฒนาให้นิสิตนักศึกษาของตนในรุ่นต่อๆ ไป ได้มีทักษะเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเป้าหมายของเราอยากให้มีเด็กไทยและเด็กในทวีปเอเซียได้ก้าวไปไกลถึงระดับเวิลด์ไฟนอลและสามารถเข้าไปทำงานในอุตสาหกรรมวอฟต์แวร์ในระดับโลกได้เป็นอย่างดีด้วยเช่นเดียวกันนอกจากนี้ ผู้เข้าร่วมการแข่งขัน ยังจะได้เข้าร่วมชมศิลปวัฒนธรรมไทย เช่น รำกลองยาว รำกระบี่กระบองยังได้ร่วมชมความงามของสถานที่ท่องเที่ยวของ จ.นครปฐม นั่นคือ พระปฐมเจดีย์ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้ง และยังได้เข้าร่วมชมคอนเสิร์ตระดับโลก ณ มหิดลสิทธาคาร ม.มหิดล ศาลายา อีกด้วย”