ปลดล็อค’สมอง’เด็กไทย

ปลดล็อค’สมอง’เด็กไทย

เมื่อโลกเปลี่ยนไป สมองแบบไหนที่ใช่สำหรับศตวรรษที่ 21

ไม่ว่าจะมีฉากหลังเป็นป่าเขาชนบท หรือตึกสูงในเมืองใหญ่ ภาพที่เห็นเจนตาคือ เด็กๆ กำลังจดจ่อกับหน้าจอสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ต ซึ่งหลายคนมองว่ามันคือดาบสองคมที่ทั้ง’ทำลาย’ และให้’โอกาส’ อนาคตของชาติ อย่างไม่เคยเป็นมาก่อน

ในวงเสวนาเรื่อง “ความเหลื่อมล้ำมีผลต่อทักษะสมองของเด็กไทย” ซึ่งจัดโดย สถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย ร่วมกับ องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ จิตแพทย์และนักวิชาการด้านการพัฒนาเด็กและเยาวชน และ ดร.นุชนาฏ รักษี รองผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล ไม่เพียงชี้ให้เห็นถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำในวงการการศึกษา ยังสะท้อนภาพความเปลี่ยนแปลงด้านทักษะการเรียนรู้ของเด็กไทยในศตวรรษที่ 21 ที่หากปลดล็อคข้อจำกัดต่างๆ ได้ อาจทำให้เด็กไทยได้ไปยืนอยู่แถวหน้าในเวทีโลก แต่หากปล่อยไป ไม่ใช่แค่แถวหลัง...แต่ไทยอาจตกขบวนแห่งโอกาสนี้ไปเลย

โง่ กับ จน...อะไรมาก่อน?

ทำนองเดียวกับไก่กับไข่...อะไรเกิดก่อน คำถามนี้หากคิดเร็วๆ อาจเถียงกันไม่จบ แต่ถ้าใช้ผลการศึกษาวิจัย ในบางแง่มุมจะเห็นความสัมพันธ์ระหว่างสถานะทางเศรษฐกิจกับพัฒนาการทางสมองของเด็ก

“จากที่มีการสำรวจในปี 2559 พบว่าประเทศไทยมีความเหลื่อมล้ำเป็นอันดับที่ 3 รองจากรัสเซียและอินเดีย และคู่แฝดของความเหลื่อมล้ำก็คือ รายได้กับการศึกษา ในปี 2555 Pisa Test พบว่า เด็กไทยเกือบ 50 เปอร์เซนต์ สอบตกวิชาคณิตศาสตร์ มีเพียงแค่ 8.3 เปอร์เซนต์เท่านั้นที่ได้คะแนนที่ดี แล้วพอไปดูในเรื่องของรายได้เกือบ 50 เปอร์เซนต์ ของครัวเรือนไทยมีรายได้อยู่ที่ประมาณ 15,000 บาท ซึ่งเป็นรายได้ที่น้อยมาก มีเพียง 10 เปอร์เซนต์ เป็นผู้ที่มีรายได้มาก ซึ่งตรงนี้เขาบอกว่ากับดักความยากจนก็เป็นกับดักความเหลื่อมล้ำเหมือนกัน โดยเฉพาะในเรื่องของโอกาสต่างๆ ที่เด็กจะสามารถเข้าถึง” ดร.นุชนาฏ รักษี ให้ข้อมูล พร้อมอธิบายต่อว่า

จากการศึกษาของต่างประเทศ พบว่าในครอบครัวที่เศรษฐสถานะต่ำ พัฒนาการด้านภาษาของเด็กก็จะน้อยเมื่อเทียบกับครอบครัวที่มีเศรษฐสถานะสูง “เรื่องของเวลาด้วย พอมีเศรษฐสถานะต่ำ คุณพ่อคุณแม่ก็ทำงานตัวเป็นเกลียว ไม่มีเวลาที่จะมาดูแลลูก ทำให้การพูดคุยกันระหว่างลูกกับพ่อแม่น้อยลงไปด้วย อันนี้ก็เป็นสิ่งที่น่าห่วง”

ทั้งนี้เพราะช่วงทองของพัฒนาการสมอง หรือช่วงที่สมองพัฒนาได้ดีที่สุด คือช่วง 3-6 ปี วัยนี้เด็กจะอยากเรียนรู้ ค้นหา สำรวจ พ่อแม่ต้องให้เขาเรียนรู้จากกิจกรรมต่างๆ ผ่านประสาทสัมผัสทั้ง 7 แต่ถ้าพ่อแม่ไม่มีเวลาก็อาจทำให้เสียโอกาสที่สำคัญที่สุดไป

“ประสาทสัมผัสทั้ง 7 สำคัญมาก เช่นการที่เขาเล่นดินน้ำมัน เขาได้ใช้ในเรื่องของตา มือสัมผัส ได้คิด ได้วางแผนว่าเขาจะปั้นเป็นอะไร อันนี้เป็นสิ่งที่บางทีพ่อแม่หรือคนเลี้ยงดูคิดว่าเป็นการเล่นเฉยๆ จับมาเขียนหนังสือดีกว่า พ่อแม่มักมีความเข้าใจว่าการที่เด็กเล็กๆ อ่านออกเขียนได้เป็นเรื่องที่เก่ง จริงๆ ในช่วงเล็กๆ เป็นช่วงที่สมองยังพัฒนาได้ไม่เต็มที่ ฉะนั้นทักษะบางอย่างในเรื่องของกล้ามเนื้อมืออะไรต่างๆ เขายังทำได้ไม่ดี แต่เมื่อเขาถูกจับให้เข้าไปนั่งเขียนหนังสือ มันก็เกิดความเครียด”

นั่นหมายความว่า ในขณะที่ความจนมีผลต่อสมองเด็ก เพราะแรงบีบคั้นทางเศรษฐกิจทำให้พ่อแม่ต้องห่างเหิน ไม่สามารถทำกิจกรรมกับลูกในชีวิตประจำวันได้ แต่คนที่มีฐานะทางเศรษฐกิจดี หากผลักดันลูกแบบผิดๆ ก็อาจกระทบต่อพัฒนาการของเด็กเช่นกัน

“เด็กที่มีความเครียดมากๆ เห็นชัดจากการสแกนสมองว่า ตัวสมองจะมีขนาดเล็กลงเมื่อเทียบกับเด็กปกติ หรือเด็กที่มีปัญหามากก็พบว่าจะมีฮอร์โมนความเครียดสูง”

ที่สำคัญ พ่อแม่ต้องทำความเข้าใจใหม่ว่า เด็กเรียนเก่งอาจจะไม่ใช่คนที่จะประสบความสำเร็จในโลกยุคใหม่

“การให้ไปเรียนพิเศษเยอะๆ ศตวรรษที่ 21 มันไม่ใช่แล้ว เพราะว่าการเรียนอย่างเดียวมันไม่ได้ช่วยให้เขาประสบความสำเร็จได้ เราจะเห็นข่าวเยอะแยะมากมายว่าเด็กเก่งได้รางวัล แต่เขาไม่มีความสุข ไม่ประสบความสำเร็จในชีวิต ไม่สามารถที่จะอยู่ร่วมกับคนอื่นได้” ดร.นุชนารถ ทิ้งปมให้คิดต่อ

ไอที เท่ากับ โอกาส?

ถ้าความเหลื่อมล้ำคือการเข้าไม่ถึงทรัพยากร ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาก็คือการเข้าไม่ถึงแหล่งเรียนรู้ ไม่ว่าจะด้วยเงื่อนไขทางเศรษฐกิจของครอบครัว หรือการคมนาคมที่ทำให้เด็กต่างจังหวัดถูกปัดตกข้างทาง

“ในต่างจังหวัด มองไปรอบๆ เราจะพบว่าคนจำนวนมากขยันให้ตายก็โงหัวไม่ขึ้น ไม่มีทางที่จะมีเงินออม ไม่มีทางจะขยับทั้งฐานะและสถานะ มีหลายปัจจัยที่ล็อคเขาอยู่  ‘ความพยายามอยู่ที่ไหน มิได้แปลว่าความสำเร็จอยู่ที่นั่น’ ในโครงสร้างที่ความเหลื่อมล้ำมันแข็งแรง” นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ ​ตั้งโจทย์ใหญ่ ก่อนชี้ให้เห็นว่าแม้ความเหลื่อมล้ำจะเป็นอุปสรรคต่อความก้าวหน้าของเด็กไทย แต่ในยุคดิจิทัล ‘ไวไฟ’ และ ‘ไอที’ คือคีย์เวิร์ดที่จะทำให้เด็กในชนบทเข้าถึงแหล่งเรียนรู้ได้ง่ายขึ้น และถือเป็นโอกาสที่มาพร้อมกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี

“ถ้าเราเข้าใจเรื่องนี้ เราทำลายความเหลื่อมล้ำได้ เหตุเพราะโอกาสเปิดแล้ว หมายความว่า แหล่งเรียนรู้จริงๆ คือ สมาร์ทโฟน มิได้อยู่ที่โรงเรียนอีกต่อไปแล้ว มิได้อยู่ที่หลักสูตร และมิได้อยู่ที่กระทรวงศึกษาธิการอีกแล้ว”

แต่ก่อนจะไปถึงจุดนั้น สิ่งที่ทั้งครอบครัว สังคม และรัฐบาลต้องช่วยกัน ก็คือการสร้างคนที่พร้อมสำหรับโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว สร้างภูมิคุ้มกันให้เด็กรู้ทันเทคโนโลยีในมือ นายแพทย์ประเสริฐ ย้ำว่า พ่อแม่ยุคใหม่ต้องเลี้ยงลูกเพื่อให้มีสมองที่ดีพอที่จะรับมือกับชีวิตในศตวรรษที่ 21

“ความสามารถที่จะรับมือกับชีวิตในศตวรรษที่ 21 เรามีคำศัพท์เฉพาะ บัญญัติไม่เกิน 5-10ปี เรียกว่า EF (Executive Functions) เป็นความสามารถของสมองไม่ใช่ใจ ที่จะควบคุมความคิด ควบคุมอารมณ์ และควบคุมการกระทำเพื่อไปให้ถึงเป้าหมาย

ประเด็นคือ สมัยผมเรียนหนังสือ ผมไม่ต้องมีเป้าหมายก็ได้ พ่อแม่สั่งให้เป็นหมอ สังคมก็สั่งให้เป็นหมอ เพราะบังเอิญเรียนเก่งต้องเป็นหมอ ห้ามคิด แต่นั่นมันเป็นศตวรรษที่ 20 ก็ไม่มีอะไรต้องคิด ตอนนี้ไม่ใช่ บ้านที่กำหนดเป้าหมายให้ลูก ความเสี่ยงจะสูงมาก เพราะลูกจะเจอตัวแปรสูงมาก แต่บ้านที่เลี้ยงลูกให้มีความสามารถในการกำหนดเป้าหมายเองว่า ผมชอบอันนี้ หนูชอบอันนั้น ชอบจริง รักจริง แล้วไปให้ถึง เราเรียกความสามารถแบบนี้ว่า EF เราเลี้ยงลูกเพื่อการนี้ นี่เป็นความรู้สมัยใหม่ที่เราอยากให้พ่อแม่และระบบการศึกษารับทราบ”

ดังนั้น กลับไปที่คำถามเดิมๆ ว่า เด็กไฮคลาส เด็กเรียนเก่ง ชีวิตจะประสบความสำเร็จจริงหรือ... “คำตอบคือ เริ่มไม่จริงตั้งแต่มีคอมพิวเตอร์ และไม่จริงมากขึ้นเมื่อมีสมาร์ทโฟน เหตุเพราะศตวรรษที่ 20 ลักษณะงานทั่วไป ทุกบริษัท ห้างร้าน โรงงาน แม้กระทั่งนายแพทย์ เราทำงานตามสายพาน สมองไม่ต้องคิดอะไรมาก งานบรรลุผล รับเงินเดือน แต่ศตวรรษที่ 21 ไม่ใช่ ทุกท่านที่อยู่ในธุรกิจและงานที่ซับซ้อน จะพบว่างานไม่เป็นไปตามสายพาน มีตัวแปรมากเกินกว่าที่ปริญญาใดๆ จะบอกได้ว่าให้ทำอย่างไร บัณฑิตไทยจำนวนมากจบมาวันแรกพร้อมกับไม่รู้จะทำอะไร และไม่รู้จะทำอย่างไร ไม่ว่าจะเป็นนายแพทย์หรือนักข่าว พอๆ กัน ครูก็ด้วย ทุกคนเผชิญปัญหานี้หมด ดังนั้นการศึกษาประเภทท่องทั้งหมดแล้วสอบได้ หมดสมัยแล้ว” 

หมอประเสริฐ ชวนให้คิดว่าเด็กทุกวันนี้ไม่ใช่เป็น‘เด็กดี’แล้วจบ "ทางเดินที่เขาจะเติบโตขึ้นมีทางแยกที่ทดลองความสามารถได้ แล้วพ่อแม่ก็เอาไม่อยู่ เพราะฉะนั้นความสามารถที่เราต้องการจึงไม่ใช่ความสามารถประเภทท่องหนังสือ สอบได้ทุกเปเปอร์ เราไม่ได้ต้องการความสามารถแบบนั้น เพราะต่อให้จบสูงมา ถ้าทักษะชีวิตไม่มี การรับมือกับตัวแปรมากมายในชีวิตหรือในงานก็ไปได้ไม่ดี”

ถอดรหัสพัฒนาเด็กไทย

แม้จะเชื่อว่าไวไฟและไอทีช่วยปลดล็อคเงื่อนไขของความเหลื่อมล้ำได้ เพราะแหล่งเรียนรู้ไม่ได้อยู่ที่โรงเรียน และไม่ได้อยู่เฉพาะที่กรุงเทพฯ อีกต่อไป แต่จำเป็นต้องขีดเส้นใต้ตรงประโยคที่ว่า “โอกาสเปิดแล้ว แต่ต้องมีปัญญาด้วย”

สมาร์ทโฟนในมือก็เหมือนดาบสองคม หากรู้จักใช้ก็สร้างประโยชน์ได้มากมาย แต่หากใช้ไม่เป็นก็จะกลายเป็นเครื่องมือที่ทำลายตั้งแต่ ’สมอง’ ไปจนถึง ‘ชีวิต’ นายแพทย์ประเสริฐ บอกว่าเครื่องมือสำคัญที่จะทำให้เด็กๆ ใช้เทคโนโลยีได้อย่างชาญฉลาดก็คือ EF ซึ่งประกอบด้วย ความสามารถในการควบคุมตัวเอง, ความจำใช้งาน working memory และความสามารถในการคิดวิเคราะห์ ซึ่งทั้งสามส่วนนี้เป็น “ความสามารถของสมองไม่ใช่นิสัย” และ พัฒนาได้ดีในช่วง 3-6 ขวบ

“ถามว่าทำไมต้องควบคุมตัวเอง เพราะในสมาร์ทโฟนมีตัวแปรเยอะมากที่จะทำให้เด็กของเราวอกแวก ฉะนั้นเด็กจะเรียนรู้สิ่งที่ตนเองต้องการตามเป้าหมายที่กำหนดได้ ต้องควบคุมตัวเองเป็น ไม่วอกแวก อีกข้อนึงสำคัญที่สุดคือ ความสามารถที่จะอดเปรี้ยวไว้กินหวานเป็นทักษะที่ต้องฝึก ทำงานก่อนเล่นทีหลัง พอเครื่องนี้เข้ามา พ่อแม่สอนทักษะทำงานก่อนเล่นทีหลังยากมาก”

สำหรับความจำใช้งานนั้น ไม่ได้มีไว้เพื่อตอบข้อสอบ แต่หมายถึงความจำที่พร้อมจะนำออกใช้ได้ทันที ชั่งน้ำหนักข้อดีข้อเสียในเรื่องต่างๆ ได้ตลอดเวลา และสุดท้ายคือความคิดวิเคราะห์ที่จะช่วยให้ประเมินและวางแผนไปสู่เป้าหมายได้ ซึ่งทั้งหมดนี้ต้องเริ่มวางรากฐานของสมองตั้งแต่ยังเล็ก

“มนุษย์ต่างจากสัตว์ทุกชนิดในโลก ตรงที่นิ้วโป้งสามารถแตะนิ้วทั้ง 4 ได้ ผลจากการที่เราทำแบบนี้ได้ สมองส่วนหน้าของเราจึงโตกว่าสัตว์ทุกชนิด ถ้าเด็กคนไหนใช้นิ้วมือมากในช่วง 3-6 ขวบ สมองจะโตกว่า จุดเชื่อมต่อเส้นประสาทมากกว่า วงจรประสาทดีกว่า ดังนั้นการเล่นทุกชนิด เล่นดิน เล่นทราย ปั้นดินน้ำมัน วิ่งไล่จับ เล่นหมากเก็บ อะไรก็ตามที่ใช้นิ้วครบทั้ง 10 นิ้ว สมองดีหมด พ้นจากการเล่นก็คือการทำงานบ้าน ได้ทั้งหมด”

ด้วยเหตุนี้ในวัยอนุบาล ไม่มีอะไรดีไปกว่าการ‘เล่น’ "การเล่นทำให้เด็กรู้เรื่องพื้นที่ ไอ้โน่นอยู่ข้างหน้าไอ้นี่ ไอ้นี่อยู่ข้างหลังไอ้โน่น อีกเรื่องหนึ่งคือ เวลา เป็นอะไรที่จับต้องไม่ได้ คุณพ่อคุณแม่ที่เลี้ยงลูกเก่งๆ จะพบว่าเด็กบางคนเลี้ยงง่ายมาก เขารู้ว่าเวลาไหนต้องทำอะไร เด็กพวกนี้จับต้องเวลาได้ก่อน ความสามารถนี้เกิดจากการเล่น และความสม่ำเสมอในการฝึกวินัยของพ่อแม่”

อย่างไรก็ตาม นอกจากพ่อแม่ผู้ปกครองแล้ว สิ่งที่จะช่วยปลดล็อคให้เด็กไทยมีทักษะพร้อมสำหรับศตวรรษที่ 21 ก็คือ นโยบายที่เอื้ออำนวยของภาครัฐ ซึ่งถ้ามีการวางเป้าหมายในเรื่องนี้อย่างจริงจัง ผลลัพธ์ย่อมเปลี่ยนตัวเลขอันตรายที่เป็นอยู่

“EF ของเด็กไทยช่วง 2-6 ปีอยู่ในภาวะที่ควรพัฒนาและปรับปรุง เกือบๆ 30 เปอร์เซนต์ ใกล้เคียงกับพัฒนาการเด็กที่ยังมีปัญหาอยู่ก็คือ 30 เปอร์เซนต์ และใน 30 เปอร์เซนต์นี้ พัฒนาการที่มีปัญหาก็คือเรื่องของภาษาและการเรียนรู้ ซึ่งมันลิงก์กัน” ดร. นุชนารถ ชี้สถานการณ์ปัจจุบัน

ถึงอย่างนั้น ก็ไม่ได้หมายความว่าเด็กไทยไร้ทางเยียวยา นายแพทย์ประเสริฐ ฝากคำแนะนำ 3 ข้อ ไม่ยากไม่ง่าย ถ้าทำได้จะกลายเป็น‘โอกาส’ โดยเฉพาะกับคุณพ่อคุณแม่ที่มีสถานะทางเศรษฐกิจไม่ดีให้หลุดพ้นจากกับดักความเหลื่อมล้ำ

อันดับแรก อ่านนิทานให้เด็กฟัง เรื่องนี้ถึงพ่อแม่จะทำเองได้แต่รัฐต้องเข้ามาส่งเสริม หนังสือนิทานต้องราคาถูกลงและกระจายไปยังชนบทมากขึ้น เด็กทุกคนต้องได้อ่านนิทานใน 3 ขวบปีแรกเป็นอย่างน้อย

“สวัสดิการของคนเป็นพ่อเป็นแม่ในการลางานเพื่อดูแลลูกใน 3 ขวบปีแรก ต้องปรับปรุง ก่อน 2 ขวบ เด็กไม่ได้รับอนุญาตให้อยู่หน้าจอ จอไหนๆ ก็ไม่ให้ เพราะว่าภาพเคลื่อนไหวนั้นกระทบกับพัฒนาการสมองอย่างมาก ความเสียหายที่ได้ไม่คุ้มค่า”

เรื่องถัดมาคือ การเล่น “ก่อน 7 ขวบไม่มีการเรียนหนังสือ การเล่นเป็นการพัฒนาเซลและวงจรประสาทเพื่อรองรับ EF การเรียนไปเริ่มจริงๆ หลัง 7 ขวบ อ่านเขียน คิดเลข ไปทำที่ 7 ขวบ ซึ่งประเทศพัฒนาแล้วเขาทำ อะไรแบบนี้พ่อแม่ไม่สามารถเป็นตัวของตัวเอง ถ้ารัฐไม่ปลดล็อค”

สุดท้าย การทำงานบ้านเป็นเรื่องที่ทุกบ้านควรฝึก ไม่ว่าจะยากดีมีจน คุณหมอให้เหตุผลว่า “เพราะการทำงานคือการใช้นิ้ว 10 นิ้ว เราไม่ได้อยากได้งาน เราอยากได้นิ้ว 10 นิ้วที่ขยันในการทำงาน” 

ฟังดูไม่ใช่เรื่องยาก แต่หากหวังผลสร้างเด็กไทยให้ก้าวทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลก ใช้ชีวิตแบบเก่งดีมีความสุข รัฐต้องช่วยปลดล็อคพ่อแม่ทั่วประเทศ และพ่อแม่ก็ต้องปลดล็อคให้กับลูกๆ เดินออกจากสนามสอบแข่งขัน สู่สนามเด็กเล่นตามวัย เติบโตด้วยการกำหนดเป้าหมายของตนเอง