รณรงค์กทม.สวมหมวกนิรภัย100% ไม่สวม-ตร.ให้ยืม

รณรงค์กทม.สวมหมวกนิรภัย100% ไม่สวม-ตร.ให้ยืม

"นครบาล" เปิดโครงการ "กรุงเทพมหานคร เมืองต้นแบบสวมหมวกนิรภัย 100 เปอร์เซ็นต์" หากพบผู้ขับขี่ไม่สวมหมวก-ให้ยืม เริ่มรณรงค์ 28 ธ.ค.นี้

ที่ชั้น 1 ศูนย์ควบคุมและสั่งการจราจร ( บก.02 ) กองบังคับการตำรวจจราจร (บก.จร.) ถนนวิภาวดีรังสิต เมื่อเวลา 11.00 น.วันที่ 21 ธันวาคม พล.ต.ท.ชาญเทพ เสสะเวช ผบช.น. เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการ “ กรุงเทพมหานคร เมืองต้นแบบสวมหมวกนิรภัย 100 เปอร์เซ็นต์ (Saving all lives for Thai people Opening up Bangkok) “ โดยมีพล.ต.ต.จิรพัฒน์ ภูมิจิตร รอง ผบช.น. พล.ต.ต.ธีรศักดิ์ สุริวงศ์ ผบก.จร. ร่วมกันรับมอบหมวกนิรภัยจากภาคเอกชน ภาคีเครือข่าย และประชาชนที่ให้การสนับสนุนหมวกนิรภัยตามโครงการ เพื่อแจกจ่ายให้ บก.น.1-9 และ บก.จร. จำนวน 1,500 ใบ นำไปใช้รณรงค์ตามโครงการนี้ ซึ่งจะเป็นการให้ผู้กระทำผิด(ข้อหาไม่สวมหมวกนิรภัย) ยืมหมวกนิรภัยเพื่อสวมใส่ในขณะขับขี่ทุกครั้ง เพื่อลดการสูญเสียชีวิต ลดการบาดเจ็บ ลดความรุนแรงจากอุบัติเหตุทางถนนอันเกิดจากการใช้รถจักรยานยนต์และทำให้กรุงเทพมหานครเป็นเมืองต้นแบบสมหมวกนิรภัย 100%

ปัจจุบันอุบัติเหตุทางถนนเป็นปัญหาที่สำคัญของโลก ซึ่งทุกประเทศกำลังเผชิญอยู่ในแต่ละปีทุกประเทศต้องสูญเสียทรัพยากรบุคคลที่มีคุณค่าตลอดจนทรัพย์สินมูลค่ามหาศาล ส่งผลกระทบต่อสภาพเศรษฐกิจ สังคม และคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยองค์การอนามัยโลก (WHO) ขององค์การสหประชาชาติ ระบุว่า ทุกปีจะมีคนตายประมาณ 1.3 ล้านคน และมีผู้บาดเจ็บหรือพิการประมาณ 50 ล้านคนทั่วโลกจากอุบัติเหตุทางถนน ซึ่งนับว่าเป็นสถิติที่สูงมาก จนกระทั่งองค์การสหประชาชาติต้องจัดให้มีการประชุมเพื่อแก้ปัญหาอุบัติเหตุทางถนนในเดือน พ.ย.52 ณ กรุงมอสโก ประเทศรัสเซีย โดยมีมติเรียกร้องให้ประเทศสมาชิกยกระดับการแก้ไขปัญหาตามกรอบปฏิญญามอสโก ในชื่อ A Decade of Action for Road Safety (ทศวรรษแห่งความปลอดภัยทางถนน) 2011 – 2020 (พ.ศ.2554 – 2563) เพื่อกำหนดเป้าหมายและการสูญเสียชีวิตในระดับที่ท้าทายให้เหมาะสมกับอุบัติเหตุทางถนนของแต่ละประเทศเมื่อสิ้นสุดทศวรรษ โดยลดลงให้ได้ถึงร้อยละ 50

ในส่วนของประเทศไทย ซึ่งเป็นสมาชิกขององค์การสหประชาชาติและเป็นประเทศที่ประสบปัญหาการสูญเสียชีวิตและบาดเจ็บจากอุบัติเหตุทางถนนเป็นจำนวนมากระดับต้นๆ ของโลก ประชากรส่วนใหญ่มีรายได้ต่ำถึงรายได้ปานกลางมักนิยมใช้รถจักรยานยนต์เป็นพาหนะเป็นจำนวนมาก ซึ่งการที่ต้องใช้ทางใช้ถนนร่วมกันโดยไม่มีการแบ่งแยกรถยนต์ รถโดยสาร รถบรรทุกและรถประเภทอื่นๆ ที่แล่นด้วยความเร็วสูง ดังนั้น เมื่อมีการเฉี่ยวชนหรือเกิดอุบัติเหตุ ผู้ใช้รถจักรยานยนต์กลุ่มดังกล่าวจึงมีอัตราความเสี่ยงสูงกว่ารถประเภทอื่นที่จะบาดเจ็บ พิการ ทุพพลภาพหรือสูญเสียชีวิต จากข้อมูลของสำนักงานตำรวจแห่งชาติพบว่า ปี 2559 ในเขตกรุงเทพมหานคร ผู้ใช้รถจักรยานยนต์มีพฤติกรรมละเลยไม่สวมหมวกนิรภัย มีสถิติอัตราการเกิดอุบัติเหตุสูงที่มาจากรถจักรยานยนต์ จำนวน 10,924 คัน คิดเป็นร้อยละ 25 ของผู้ใช้รถจักรยานยนต์ทั้งหมดในเขตกรุงเทพมหานคร และ 1 ใน 3 ของยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุทั้งหมด ที่ผ่านมานั้นการบังคับใช้กฎหมายโดยการ จับ ปรับ ออกใบสั่ง และปล่อยผู้กระทำความผิดที่ไม่สวมหมวกนิรภัยให้ขับขี่ขับรถต่อไปนั้น ไม่สามารถป้องกันความสูญเสียจากการเกิดอุบัติเหตุได้ ดังนั้น การรณรงค์ให้สวมหมวกนิรภัยจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยลดโอกาสเสี่ยงต่อการเสียชีวิตอันเนื่องจากการบาดเจ็บที่ศีรษะได้

โครงการ “กรุงเทพมหานคร เมืองต้นแบบสวมหมวกนิรภัย 100 เปอร์เซ็นต์ จะเริ่มดำเนินการ ตั้งแต่ห้วง 7 วันอันตรายในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2561 นี้ ตั้งแต่วันที่ 28 ธ.ค.60 เป็นต้นไป ทั้งนี้การดำเนินการแบ่งออกเป็นขั้นตอน ดังนี้ 1.เจ้าหน้าที่ตำรวจจราจร ในสังกัด บก.น. 1-9 และ บก.จร. ซึ่งพบเห็นผู้ขับขี่หรือผู้โดยสารที่ไม่สวมหมวกนิรภัย จะดำเนินการตามกฎหมายโดยการออกใบสั่งจราจรในข้อหา “ไม่สวมหมวกนิรภัยในขณะขับขี่รถจักรยานยนต์” หรือ ข้อหา “เป็นผู้ขับขี่ยินยอมให้ผู้โดยสารไม่สวมหมวกนิรภัยในขณะโดยสารรถจักรยานยนต์” ตามมาตรา 122 แห่งพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522(แล้วแต่กรณี) โดยจะไม่อนุญาตให้ผู้ขับขี่หรือผู้โดยสาร ขับขี่หรือโดยสารรถจักรยานยนต์ต่อไปอย่างผิดกฎหมายอีก จนกว่าผู้ขับขี่หรือผู้โดยสารจะสวมหมวกนิรภัยและปฏิบัติตามกฎหมายที่มีอยู่อย่างครบถ้วน

2. เจ้าหน้าที่ตำรวจจราจร ที่พบการกระทำผิด อธิบายให้ผู้กระทำผิดทราบและมีความรู้ความเข้าใจในบทบัญญัติของกฎหมายว่า “การขับขี่หรือโดยสารรถจักรยานยนต์ทุกครั้งจะต้องสวมหมวกนิรภัย” พร้อมทั้งแนะนำโทษภัยของความรุนแรงเมื่อเกิดอุบัติเหตุทางถนนจากการใช้รถจักรยานยนต์แล้วไม่สวมหมวกนิรภัย และหลังการจับกุม หากผู้กระทำผิดไม่สามารถจัดหาหมวกนิรภัยมาสวมใส่ได้ ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจผู้จับกุมแนะนำให้ผู้กระทำผิดไปยืมหมวกนิรภัยที่ได้รับสนับสนุนตามโครงการนี้ ซึ่งจะมีให้บริการอยู่ที่สถานีตำรวจต่างๆ เพื่อสวมใส่ในขณะขับขี่ทุกครั้ง แล้วแจ้งแก่ผู้กระทำผิดด้วยว่าให้นำหมวกนิรภัยมาคืนสถานีตำรวจที่ให้ยืมภายใน 7 วันนับจากวันที่ได้รับใบสั่งจราจร

3. เจ้าหน้าที่ตำรวจจราจร ที่พบการกระทำผิด ใช้คลิป “กองบังคับการตำรวจจราจร” ของงานอบรมผู้กระทำความผิด กก.3 บก.จร. เป็นสื่ออบรมให้ความรู้แก่ผู้กระทำผิดอันเป็นการกระตุ้นให้ผู้กระทำผิดเกิดความตระหนักในความปลอดภัยของตนเองและผู้อื่น ด้วยวิธีการสแกนคิวอาร์โค้ดผ่านแอพพลิเคชั่นไลน์
4. การสอบสวนเปรียบเทียบปรับ ให้พนักงานสอบสวนพิจารณาทำการเปรียบเทียบปรับในอัตราสูงสุดตามที่กฎหมายกำหนด พร้อมทั้งอธิบายและให้ความรู้ถึงโทษภัยของความเสี่ยงจากการละเลยไม่สวมหมวกนิรภัย และความรุนแรง/ความสูญเสียที่ตามมาเมื่อเกิดอุบัติเหตุทางถนน

พล.ต.ต.ชาญเทพ กล่าวว่า โครงการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อรณรงค์ส่งเสริมและสร้างความรู้ความเข้าใจแก่ผู้ขับขี่และผู้โดยสารรถจักรยานยนต์ในเขตกรุงเทพมหานคร ให้ตระหนักถึงความปลอดภัย มีวินัยด้านการจราจร ปฏิบัติตามกฎหมายจราจรอย่างเคร่งครัดและเกิดความร่วมมือในการสวมหมวกนิรภัยขณะขับขี่หรือโดยสารรถจักรยานยนต์ทุกครั้ง เพื่อลดการสูญเสียชีวิต ลดการบาดเจ็บ ลดความรุนแรง จากอุบัติเหตุทางถนนอันเกิดจากการใช้รถจักรยานยนต์ และทำให้ กรุงเทพมหานคร เป็นเมืองต้นแบบสวมหมวกนิรภัย 100 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งที่ผ่านมาในพื้นที่กรุงเทพมหานครมีผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์สวมหมวกนิรภัยคิดเป็นร้อยละ 75

ผู้สื่อข่าวถามว่าเมื่อไม่มีการตั้งด่านจะมีผลต่อการรณรงค์ให้ประชาชนสวมหมวกนิรภัยหรือไม่ ทางพล.ต.ต.ชาญเทพ กล่าวว่า ปัจจุบันเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ปฏิหน้าที่บังคับใช้กฎหมายอยู่แล้ว ปัญหาที่เกิดเมื่อมีการตั้งด่านพร้อมกันทุกสถานีจะส่งผลให้การจราจรติดขัด ช่วงนี้จึงเป็นการจับกุมผู้กระทำความผิดจอดในที่ห้ามจอด ขับรถฝ่าไฟแดง ไม่สวมหมวกกันน็อค ฝ่าฝืนเส้นห้าม เพราะต้องการคืนพื้นผิวให้การจราจร และเมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจพบผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ที่ไม่สวมหมวกนิรภัยก็จะให้ยืมหมวกนิรภัย เพื่อสร้างวินัยและความปลอดภัยให้กับตัวผู้ขับขี่เอง ซึ่งจะเริ่มรณรงค์ตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 28 ธ.ค.นี้