โรงปลูกผักอัจฉริยะ ภารกิจใหม่ไบโอเทค

โรงปลูกผักอัจฉริยะ ภารกิจใหม่ไบโอเทค

ไบโอเทคเตรียมยื่นของบพิเศษเพื่อโปรเจคระดับประเทศดึงผู้เชี่ยวชาญญี่ปุ่นสร้างโรงเรือนไฮเทคปลูกสมุนไพรนำร่อง 5 กลุ่มโปรดักส์แชมเปี้ยน

ไบโอเทคเตรียมยื่นของบพิเศษเพื่อโปรเจคระดับประเทศดึงผู้เชี่ยวชาญญี่ปุ่นสร้างโรงเรือนไฮเทคปลูกสมุนไพรนำร่อง 5 กลุ่มโปรดักส์แชมเปี้ยน จากนั้นส่งต่อนาโนเทคพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ ขณะเดียวกันเล็งผลักดันศึกษาเทคโนโลยีการลอกเลียนแบบกระบวนการสังเคราะห์แสงเทียมของพืชหรือแบคทีเรีย เพื่อให้ได้แหล่งพลังงานสะอาดใหม่ตามเทรนด์โลก


“โรงปลูกสมุนไพรต้องเกิดในปลายปี 2561 โดยจะของบพิเศษแทรกจากงบกลาง ผ่านนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เพื่อให้การทำงานเร็วขึ้น” สมวงษ์ ตระกูลรุ่ง ผู้อำนวยการศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ กล่าว


สร้างโมเดลธุรกิจให้ภาคเอกชน


โรงปลูกผักระบบปิด (Plant Factory) เป็นเทรนด์เกษตรกรรมไฮเทคที่กำลังจะกลายมาเป็นคู่แข่งของเกษตรกลางแจ้ง บริษัทด้านไอทีในญี่ปุ่นต่างเข้ามาวิจัยและพัฒนาธุรกิจนี้ ไม่ว่าจะเป็น ฟูจิตสึ โตชิบา พานาโซนิค ชาร์ป ฮิตาชิ ด้วยเหตุนี้ ไบโอเทคจึงต้องสร้างองค์ความรู้เตรียมรับการเข้ามาของเทคโนโลยีนี้ โดยกำหนดเป็นยุทธศาสตร์หนึ่งในปี 2561
ยกตัวอย่างที่ประเทศญี่ปุ่นผลิตผักกาดแก้วได้วันละ 5,000 -10,000 หัว สามารถรับรับประทานได้โดยไม่ต้องล้างน้ำ รสชาติดีและเก็บได้นานถึง 1 เดือนโดยไม่เสียรสชาติ สามารถผลิตและจำหน่ายเชิงพาณิชย์ โดยใช้วิธีการควบคุมอุณหภูมิผ่านหลอดแอลอีดี มีต้นทุนราคาถูก หรือการปลูกสตรอว์เบอร์รีที่มีวิตามินซีสูง ในพื้นที่ 30 ตารางเมตรใช้ผู้ดูแล 3 คน สร้างรายได้ปีละ 600 ล้านบาท นอกจากนี้ภัตตาคารบางแห่งในจีน ฮ่องกงและญี่ปุ่นจะมีโรงปลูกผักไฮเทคไว้คอยให้บริการลูกค้า


“ต้นแบบของโรงปลูกผักเกิดในญี่ปุ่น พร้อมๆ กับเนเธอร์แลนด์แล้วขยายไปอเมริกา เหมาะสำหรับพืชมูลค่าสูง เช่น สตรอว์เบอร์รีซึ่งในไทยปลูกได้ปีละครั้งและเน่าเสียง่าย แต่หากปลูกในโรงปลูกผักจะมีอายุหลังการเก็บเกี่ยวนานขึ้น แต่ที่ไบโอเทคต้องทำให้ได้คือ โรงปลูกพืชสมุนไพรเพื่อตอบโจทย์ประเทศในการนำสมุนไพรไปใช้แทนยาปฏิชีวนะในสัตว์ส่งออก ที่มีความเข้มงวดสูงในเรื่องสารตกค้าง ขณะที่สมุนไพรไทยหลายตัวมีฤทธิ์ต้านแบคทีเรีย เชื้อรา ไวรัส สามารถนำมาใช้ทดแทนได้ ประกอบกับตลาดสมุนไพรโลกเติบโตขึ้นทุกปี จึงถือเป็นโอกาสที่ดีของสมุนไพรไทย”
ไบโอเทคจะทำหน้าที่ดูแลตั้งแต่ต้นน้ำ กระทั่งส่งต่อวัตถุดิบให้ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติหรือนาโนเทคสกัดเอาสารสำคัญ แล้วนำไปต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เพื่อให้ 5 สมุนไพรไทย ได้แก่ กวาว

เครือขาว กระชายดำ ไพล บัวบกและลูกประคบ สามารถออกสู่ตลาดโลก รองรับกระแสความต้องการใช้ยาสมุนไพรทดแทนยาสกัดจากเคมี
ส่วนในปีถัดไปจะสร้างโรงปลูกผักเพื่อการอนุรักษ์พันธุ์พืชโดยรวบรวมสายพันธุ์ต่างๆ ให้ได้มากที่สุด เพื่อเป็นสมบัติของประเทศในอนาคต และจะเป็นพื้นฐานข้อมูลในการทำพืชมุ่งเป้า หลังจากที่ผ่านมาทำเรื่องข้าว ซึ่งแบ่งเป็นข้าวเพื่ออุตสาหกรรมและข้าวเพื่อการบริโภค โดยจะทำให้มีคุณค่าอาหารมากขึ้นรวมทั้งจะพัฒนาข้าวสำหรับผู้ป่วยโรคต่างๆ เช่น โรคเบาหวาน โรคไต โรคโลหิตจาง


“ต่อไปเราจะพัฒนาพันธุ์พืชอื่นๆ แบบมุ่งเป้า อาทิ มันสำปะหลังที่ไม่มีไซยาไนต์ โดยอาศัยการศึกษาโครงสร้างดีเอ็นเอหาวิธีจัดการให้ไซยาไนต์หมดไป หรือการใช้เทคโนโลยีเข้าไปช่วยให้ทุเรียนสุกพร้อมกัน เพื่อให้ง่ายต่อการบริหารจัดการของเกษตรกร"


เทคโนฯ สังเคราะห์แสงเทียม


พร้อมกันนี้จะพยายามรวบรวมสายพันธุ์จุลินทรีย์จากทั่วประเทศไว้ในธนาคารจุลินทรีย์ไบโอเทค ซึ่งในปัจจุบันมีมากกว่า 80,000 สายพันธุ์ ถือว่ามีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 6 ของโลกและเป็นแหล่งทรัพยากรชีวภาพที่มีคุณค่า สำหรับค้นหาผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าต่างๆ เช่น สารออกฤทธิ์ทางชีวภาพเพื่อประโยชน์ด้านการเกษตรและการแพทย์ ผลิตภัณฑ์เคมีและเอนไซม์ อีกหนึ่งเทคโนโลยีที่น่าจับตาคือ การสังเคราะห์แสงประดิษฐ์ (artificial photosynthesis) ซึ่งเป็นขบวนการทางเคมีที่มนุษย์สร้างขึ้นเลียนแบบธรรมชาติในการสังเคราะห์แสงจากพืช แบคทีเรียสามารถนำคาร์บอนไดออกไซด์เข้าไปใช้ประโยชน์และขับออกมาเป็นออกซิเจน กลายเป็นพลังงานสะอาดไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม


“ที่ผ่านมา ไทยเราไม่กล้าเดินไประดับแถวหน้า ทำให้ต้องเดินตามทั้งๆ ที่นักวิจัยไทยมีความสามารถ หรือต่อให้ไม่มีนักวิจัยด้านนี้โดยตรง ผมจะผลักดันให้ไบโอเทคศึกษาเพราะเป็นโอกาสที่ไม่ควรละเลย และเป็นเทรนด์ที่จะเกิดประโยชน์มหาศาล”