ลุยสอบสวนเปิดคดี 'เอิร์ธ' ปลอมเอกสารกู้กรุงไทยหมื่นล้าน

ลุยสอบสวนเปิดคดี 'เอิร์ธ' ปลอมเอกสารกู้กรุงไทยหมื่นล้าน

"ดีเอสไอ" รับคดี "กรุงไทย" ร้องสอบ "เอิร์ธ" ปลอมเอกสารนำเข้าถ่านหินอินโดฯ กู้เงินแบงค์หมื่นล้านเป็นคดีพิเศษ ชี้เป็นความผิดนอกราชอาณาจักร อสส.ส่งอัยการร่วมสอบ ระบุคดีสำคัญต้องเร่งรัดให้เสร็จโดยเร็ว

ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) – 19 ธ.ค.60 พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เปิดเผยกรณีธนาคารกรุงไทยตรวจสอบพบหลักฐานเกี่ยวกับการปลอมแปลงเอกสารการส่งสินค้าทางเรือเพื่อนำเข้าถ่านหินจากประเทศอินโดนีเซีย โดยบริษัท เอ็นเนอร์ยี่เอิร์ธ จำกัด (มหาชน) และได้ส่งมาให้ดีเอสไอดำเนินคดีว่า สำหรับคดีดังกล่าวดีเอสไอรับสอบสวนเป็นคดีพิเศษแล้ว โดยเป็นความผิดนอกราชอาณาจักร ซึ่งขณะนี้สำนักงานอัยการสูงสุดได้ส่งอัยการเข้ามาร่วมสอบสวนตั้งแต่เริ่มต้นคดี และเมื่อวันที่ 18 ธ.ค.ที่ผ่านมา ตนได้มอบหมายให้พ.ต.ท.ปกรณ์ สุชีวกุล ผอ.กองคดีการเงินการธนาคาร เรียกประชุมพนักงานสอบสวนเพื่อเปิดคดีและเชิญตัวแทนจากธนาคารกรุงไทย ในฐานะผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษเข้าชี้แจงข้อกล่าวหาปลอมแปลงเอกสารนำเข้าถ่านหิน ทั้งนี้ดีเอสไอจะเร่งรัดการสอบสวนให้เสร็จสิ้นโดยเร็วเนื่องจากเป็นคดีสำคัญ

แหล่งข่าวเปิดเผยว่า สำหรับคดีดังกล่าวสืบเนื่องจากผู้บริหารธนาคารกรุงไทยได้เข้าไปตรวจสอบการปล่อยสินเชื่อดังกล่าวของธนาคารกับบริษัทเอ็นเนอร์ยี่เอิร์ธฯกว่า 12,000 ล้านบาท หลังจากที่บริษัทดังกล่าวผิดนัดชำระหนี้ตั๋วแลกเงินB/Eเมื่อกลางปีที่ผ่านมา และทยอยผิดนัดเรื่อยมาจนถึงต้นเดือน พ.ย. ที่ผ่านมาได้ผิดนัดชำระหนี้เป็นเงินเกือบ 1,800 ล้านบาท โดยมีปัญหาการการขาดสภาพคล่องอย่างต่อเนื่องจึงทำให้มีหนี้สินเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 47,000 ล้านบาท จนคณะกรรมการบริษัทมีมติให้เข้าสู่กระบวนการการฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลาย

นอกจากนี้ จากการตรวจสอบพบว่าบ.เอ็นเนอร์ยี่เอิร์ธฯซึ่งมีธุรกิจในการนำเข้าถ่านหินมีการนำใบตราส่งสินค้าทางเรือ(B/L)ที่อ้างว่านำเข้าถ่านหินจากอินโดนีเซียมาเป็นหลักฐานในการกู้เงินจากธนาคารกรุงไทยพบว่า มีการปลอมแปลงหลายสิบฉบับมูลค่าหลายพันล้านบาท โดยแจ้งให้ดีเอสไอดำเนินคดีก่อนว่ามีการปลอมแปลง 10 ฉบับ จากนั้นอาจจะมีการแจ้งเพิ่มเติมในส่วนที่เหลือ นอกจากนั้นยังมีการนำ B/Lจริงมาวนในใช้ในการกู้เงินอีกด้วย

รายงานข่าวระบุว่า สำหรับเจ้าหนี้รายใหญ่สุด ของบริษัท เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ มีหลายราย อาทิ ธนาคารกรุงไทย ประมาณ 12,000 ล้านบาท ธนาคารกสิกรไทย จำนวน 2,800 ล้านบาท ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำนวน 1,800 ล้านบาท และธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า จำนวน 350 ล้านบาท นอกจากนี้ยังมีเจ้าหนี้ตั๋วแลกเงินระยะสั้นจำนวน 2,900 ล้านบาท หนี้หุ้นกู้ 2 ชุด รวม 5,500 ล้านบาท