‘InsurTech Ignite Hackathon’ เฟ้นไอเดียสตาร์ทอัพสายประกัน

‘InsurTech Ignite Hackathon’ เฟ้นไอเดียสตาร์ทอัพสายประกัน

แนวโน้มธุรกิจประกันภัยมีความสนใจที่จะลงทุนเรื่องการวิเคราะห์ข้อมูลขั้นสูง เพื่อการเข้าใจความเสี่ยงในเชิงลึกและสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้าได้ดีขึ้น

แม้วันนี้ธุรกิจประกันวินาศภัยจะยังไม่ได้รับผลกระทบแรงๆ จากเทคโนโลยีและพฤติกรรมผู้บริโภคยุคใหม่ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วเท่าอุตสาหกรรมอื่น เช่น การเงินการธนาคาร ค้าปลีก และมีเดีย แต่ก็ไม่ปฏิเสธว่าสักวัน การเปลี่ยนแปลงนั้นจะเดินทางมาถึง

“InsurTech Ignite Hackathon” ก้าวแรกของการขยับในฟากผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมวินาศภัยที่รวมตัวกันทำในนามสมาคมฯ สะท้อนให้เห็นว่า ถึงตอนนี้ทุกคนตระหนักและคิดว่าเป็นเวลาที่ต้องลุกขึ้นมา เรียนรู้ ทำความเข้าใจ และเปิดรับความร่วมมือกับสตาร์ทอัพ เช่นภาพที่เห็นมาแล้วใน PropTech ในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่, Fintech ความร่วมมือระหว่างแบงก์กับสตาร์ทอัพ

พีระพัฒน์ เมฆสิงห์วี ประธานคณะกรรมการพัฒนาธุรกิจ และวิชาการประกันภัย สมาคมประกันวินาศภัยไทย และคณะทำงาน ประกอบด้วย ดร. โชติมา พัวศิริ , วิชชุกร นิลมานัตต์ , จักรวี วิสุทธิผล ,นิธิพร ไตรทิพเทวินทร์ ,ดร. ศรันฐ์ หวั่งหล และ ภาวนา ไทยสุวรรณ ร่วมกันผลักดันให้เกิดโครงการ “InsurTech Ignite Hackathon” ร่วมกับ CU Innovation Hub ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 27 ม.ค.และ 3-4 ก.พ.2561

งานนี้สำคัญอย่างไร และจะสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับธุรกิจนี้มากน้อยแค่ไหนนั้น พีระพัฒน์ บอกยังยากที่จะชี้ชัดลงไป

นั่นเพราะ เป็นครั้งแรกของการจัดงานที่เปิดโอกาสให้ สตาร์ทอัพ (startup) รุ่นใหม่ได้เข้ามามีส่วนสำคัญในการนำเสนอแนวคิดและการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ ให้กับธุรกิจประกันวินาศภัย

โดย InsurTech (Insurance Technology) สามารถเข้ามาช่วยพัฒนางานใน 4 ด้านหลัก ประกอบด้วย 1. การเลือกซื้อประกัน และการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ 2. การขายและการบริการ 3. การพิจารณารับประกัน และ 4. การเคลมประกัน

การนำเทคโนโลยีเข้ามาสนับสนุนการทำงาน ทำได้ทั้งการปรับปรุงกระบวนการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น การให้บริการในเวลาที่สั้นลง รวมไปถึงการลดต้นทุนในการปฏิบัติงาน

ส่วนจะสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับธุรกิจนี้ได้มากน้อยแค่ไหน พีระพัฒน์ บอกนี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้น ในการเปิดกว้างเพื่อรับไอเดีย

โดยเน้นการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการ และ สตาร์ทอัพรุ่นใหม่ เข้ามามีส่วนสำคัญในการนำเสนอแนวคิดและการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ ในธุรกิจประกันวินาศภัย รวมทั้งทำให้เกิดการเข้าถึงการให้บริการประกันวินาศภัยที่ครอบคลุมสะดวกรวดเร็ว และมีความทันสมัยสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคในยุคปัจจุบัน

“ในวันนำเสนองานจะมีการเชิญบริษัทสมาชิกกว่า 60 บริษัทเข้าร่วมรับฟังไอเดีย หากบริษัทใดสนใจไอเดียไหนก็สามารถเลือกที่จะทำงานร่วมกันไป สมาคมฯ ทำหน้าที่เป็นการให้ความรู้และกระตุ้นให้เห็นถึงความสำคัญของเทคโนโลยี”

รูปแบบของ “InsurTech Ignite Hackathon” แบ่งเป็นสองกิจกรรม

Workshop จัดขึ้นในวันที่ 27 มกราคม 2561 เปิดโอกาสให้ประชาชนที่สนใจได้เข้าฟังความรู้ด้านนวัตกรรมและแนวโน้มทางการประกันภัยของโลก

“เนื่องจากธุรกิจนี้จะมีรายละเอียดเยอะ หากเป็นคนนอกจะมองไม่เห็นภาพว่ามีการทำงานใดบ้าง การเวิร์คชอปจะทำให้คนที่เข้าฟังได้เข้าใจในธุรกิจ จากนั้นก็ค่อยไปคิดกันว่าจะแก้ปัญหาในเรื่องใดต่อไป”

ถัดมาเป็นกิจกรรม Hackathon จัดขึ้นในวันที่ 3-4 กุมภาพันธ์ 2561 ให้ผู้ประกอบการรุ่นใหม่หรือสตาร์ทอัพ เข้ามาคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการประกันภัย สร้างแพลตฟอร์มธุรกิจเบื้องต้น จากนั้นจะเปิดเวทีให้นำเสนอแนวคิด หรือนวัตกรรมใหม่ๆ เกี่ยวกับธุรกิจประกันภัย

ทีมชนะการแข่งขันจะได้รับเงินรางวัลรวมมูลค่า 100,000 บาท รวมถึงโอกาสได้ร่วมงานกับบริษัทประกันที่เป็นสมาชิกของสมาคมฯ

โดยทีมชนะเลิศและรองชนะเลิศ รวม 3 ทีมจะได้รับการบ่มเพาะเพื่อพัฒนาไอเดียและผลิตภัณฑ์ให้เป็นรูปธรรมมากขึ้นเป็นระยะเวลา 2 เดือน คาดว่าจะมีทีมต่างๆ เข้าร่วมเสนอผลงาน 15-20 ทีม

กิจกรรมที่เกิดขึ้น พีระพัฒน์ บอก อุตสาหกรรมวินาศภัยในไทยถือว่ายังขยับช้ากว่าในต่างประเทศ

“แม้จะเริ่มช้ากว่า วันนี้เรารับรู้แล้วว่า ไม่ปรับ จะอยู่ไม่ได้  สำหรับผมถือว่าไม่ช้าเกินไปในการลุกขึ้นมาทำในเรื่องของเทคโนโลยี เพราะในภาพรวมแล้วทุกๆ อุตสาหกรรมอยู่ในช่วงของการปรับตัว   เป็นการเปิดรับสิ่งใหม่ๆ และเรียนรู้ไปด้วยกัน ระหว่าง สตาร์ทอัพ ที่เก่งเรื่องเทคโนโลยี กับ คนที่มีโนว์ฮาวในการทำธุรกิจประกันภัย

เชื่อว่า 3 ปีนับจากนี้จะได้เห็นการเปลี่ยนแปลง”

ส่อง InsurTech ต่างแดน

รายงาน “”Global InsurTech Report – 2017: Insurance’s new normal: Driving innovation with InsurTech ของ PwC ชี้ว่าธุรกิจประกันภัยทั่วโลกมีความตื่นตัวกับการเข้ามาของเทคโนโลยีทางการเงิน โดยพบว่า 45% ของธุรกิจประกันภัยที่ทำการสำรวจจำนวน 189 รายในกว่า 40 ประเทศทั่วโลก มีการจับมือเป็นพันธมิตรกับสตาร์ทอัพ อินชัวร์เทค

ผลสำรวจ ยังระบุว่า ธุรกิจประกันภัยมีความสนใจที่จะลงทุนเรื่องการวิเคราะห์ข้อมูลขั้นสูง(Data analytics)และเทคโนโลยีบนสมาร์ทโฟน เพื่อการเข้าใจความเสี่ยงในเชิงลึกและสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้าได้ดีขึ้น

รวมถึงแนวโน้มของธุรกิจประกันภัยที่เริ่มนำเทคโนโลยีใหม่ๆ  อย่าง บล็อกเชน (Blockchain) ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI)และระบบจัดการกระบวนการแบบอัตโนมัติ (Robotics Process Automation: RPA)เข้ามาใช้งานมากขึ้น

ตัวอย่างมีให้เห็นแล้วจาก Lemonade สตาร์ทอัพในฝั่งอเมริกา มีการดึงเอาปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI (Artificial Intelligence) เข้ามาให้บริการ โดยสร้าง Chatbot ชื่อว่า “Jim” ให้บริการลูกค้า 

เพื่อแก้ปัญหาที่ส่วนใหญ่ลูกค้าต้องเจอคือบริการที่ล่าช้า ซึ่ง Jim จะทำหน้าที่ทั้งติดต่อลูกค้าไปจนถึงการเคลมค่าเสียหายไปจนถึงการโอนเงินเงินชดเชยเข้าบัญชีได้อย่างรวดเร็ว