สท.ปั้นเกษตรอัจฉริยะ

สท.ปั้นเกษตรอัจฉริยะ

เทคโนโลยีเซ็นเซอร์ หนึ่งในเทคโนโลยีภายในสมาร์ทฟาร์ม เป็นเป้าหมายของสถาบันการจัดการเทคโนโลยีฯ ที่จะผลักดันในพื้นที่เกษตรภาคตะวันออกโซนอีอีซีไอเพื่อตอบโจทย์ชาวสวนรุ่นใหม่ พร้อมสร้างแกนนำต้นแบบและผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์รุ่นใหม่รองรับแผนก้าวสู่ฮับเมล็ดพันธุ์

เทคโนโลยีเซ็นเซอร์ หนึ่งในเทคโนโลยีภายในสมาร์ทฟาร์ม เป็นเป้าหมายของสถาบันการจัดการเทคโนโลยีฯ ที่จะผลักดันในพื้นที่เกษตรภาคตะวันออกโซนอีอีซีไอเพื่อตอบโจทย์ชาวสวนรุ่นใหม่ พร้อมสร้างแกนนำต้นแบบและผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์รุ่นใหม่รองรับแผนก้าวสู่ฮับเมล็ดพันธุ์

แผนงานในปี 2561 คาดว่าจะนำเทคโนโลยีไปถ่ายทอดอย่างน้อย 50 ชุมชนในพื้นที่อีอีซีไอ และ 200 ชุมชนทั่วประเทศ โดยใช้งบประมาณ 100 ล้านบาทเพื่อยกระดับคุณภาพการผลิต แปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่ม ผ่านกลุ่มยังสมาร์ทฟาร์มเมอร์ ที่เข้าใจการใช้เทคโนโลยีและพร้อมจะลงทุนเพื่อเป็นแกนนำต้นแบบในการใช้สมาร์ทเทคโนโลยี เข้าไปบริหารจัดการสวนให้มีประสิทธิภาพ


มุ่งสวนผลไม้ภาคตะวันออก


สถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร (สท.) หน่วยงานน้องใหม่ในสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) มีภารกิจนำผลงานวิจัยจาก สวทช. และพันธมิตรสู่การใช้งานจริงในพื้นที่ ผ่านการถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ชุมชนอย่างทั่วถึง พร้อมทั้งพัฒนาบุคลากรด้านการเกษตรและชุมชนให้ก้าวทันเทคโนโลยี ตลอดจนเป็นแหล่งความรู้ที่เข้าถึงได้ง่ายและตอบโจทย์ความต้องการของเกษตรกรและชุมชน พร้อมทั้งสนับสนุนกระบวนการเรียนรู้ของเกษตรกรเพื่อนำไปสู่การสร้างความรู้และนวัตกรรม รวมถึงการพัฒนาให้มีทักษะโดยเชื่อมโยงกับผู้ผลิตและผู้ประกอบการแปรรูป


วิราภรณ์ มงคลไชยสิทธิ์ รองผู้อำนวยการ สวทช. และผู้อำนวยการ สท. กล่าวว่า ทิศทางการการดำเนินงานปี 2561จะมุ่งเน้นให้สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลและตอบความต้องการของภาคการเกษตร โดยเฉพาะเกษตรกรคนรุ่นใหม่ที่ตอบรับเทคโนโลยีได้เร็ว ซึ่งเป็นทิศทางเกษตรกรรมใหม่ที่ต้องการใช้เทคโนโลยีเพิ่มผลผลิต หรือทำน้อยได้มาก ใช้ทรัพยากรที่มีอยู่จำกัดให้คุ้มค่าที่สุด โดยนำเทคโนโลยีเซ็นเซอร์ อินเทอร์เน็ตออฟธิงส์หรือไอโอที เข้ามาใช้เก็บข้อมูล วางแผนการผลิต บริหารจัดน้ำ ปุ๋ย ควบคุมอุณหภูมิความชื้น รวมถึงวางแผนการตลาด
พื้นที่เป้าหมายนอกจาก 3 จังหวัดอีอีซีคือ ชลบุรี ฉะเชิงเทรา ระยอง ยังขยายไปถึงจันทบุรีและปราจีนบุรี เนื่องจากเป็นพื้นที่ของไม้ผลที่มีมูลค่าสูง อาทิ ทุเรียน เงาะ มังคุด


ส่วนการดำเนินงานในรอบปีนี้ สถาบันการจัดการฯเร่งรัดขยายผล ถ่ายทอดองค์ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรมลงสู่ชุมชน 220 ชุมชน ใน 45 จังหวัด ครอบคลุมเทคโนโลยีหลัก 36 เรื่อง เช่น โครงการข้าวอินทรีย์ จ.ยโสธร ส่งเสริมผู้ผลิตข้าวอินทรีย์ 4,000 ราย สร้างผลกระทบมูลค่า 104 ล้านบาท โรงเรือนพลาสติกคัดเลือกแสงที่ขยายผลเทคโนโลยี 24 โรงเรือนใน 12 จังหวัด เกษตรกรสร้างรายได้จากการปลูกผัก 7.5 พันล้านบาท เทคโนโลยีการผลิตบิวเวอเรียหัวเชื้อสดและก้อนเชื้อระดับมาตรฐาน โดยร่วมมือกับกรมส่งเสริมการเกษตร ถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตหัวเชื้อให้เจ้าหน้าที่ศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านอารักขาพืช (ศทอ.) 9 แห่ง และศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชน 882 แห่งทั่วประเทศ

ปั้นเมล็ดพันธุ์รุ่นใหม่


นอกเหนือจากการถ่ายทอดเทคโนโลยี สถาบันการจัดการฯให้ความสำคัญกับการสร้างทรัพยากรบุคคล โดยร่วมกับมหาวิทยาลัยแม่โจ้ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีเชียงใหม่ จัดทำโครงการพัฒนาทักษะผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์รุ่นใหม่ ร่วมกับบริษัทผลิตเมล็ดพันธุ์ 6 แห่ง ได้แก่ หจก.ลัคกี้ซีดส์อโกร หจก.นิยมไทยการเกษตร บริษัท สามเหลี่ยมเมล็ดพันธุ์ จำกัด บริษัท เชียงใหม่ซีดส์ จำกัด หจก.ไทยนอร์ทเทิร์นซีดส์ และบริษัทสุพรีม โกลด์ จำกัด จัดทำโครงการบ่มเพาะนิสิตนักศึกษาที่ต้องการทำการเกษตรที่บ้านและสร้างเครือข่ายในชุมชน เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับภาคการผลิตด้วยการปั้นคนรุ่นใหม่เข้ามาเสริม เนื่องจากภาคการผลิตปัจจุบันใช้คนงานน้อยลง ขณะเดียวกันคนทำงานอายุมากขึ้น จึงจำเป็นต้องเร่งสร้างกลุ่มคนรุ่นใหม่ทดแทนในอนาคต


อุตสาหกรรมเมล็ดพันธุ์ถือเป็นอุตสาหกรรมสำคัญ เนื่องจากมีมูลค่าส่งออกสูง โดยเฉพาะเมล็ดพันธุ์ผักมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 5 พันล้านบาท อีกทั้งตามนโยบายรัฐบาลต้องการเป็นศูนย์กลางเมล็ดพันธุ์ของเอเชียแปซิฟิก ฉะนั้น ต้องเริ่มตั้งแต่การพัฒนางานวิจัย พัฒนาคนไปถึงโครงสร้างพื้นฐาน เพราะการผลิตเมล็ดพันธุ์ต้องมีความรู้และเทคโนโลยีเข้าไปเกี่ยวข้อง จึงต้องให้เด็กเรียนรู้ตั้งแค่กระบวนการแรกไปจนถึงกระบวนการสุดท้ายในการทำงาน