‘กาตาร์แอร์เวย์ส’ลุยโรงแรมเสริมพอร์ตรายได้

‘กาตาร์แอร์เวย์ส’ลุยโรงแรมเสริมพอร์ตรายได้

ช่วงกลางปีที่ผ่านมาความเคลื่อนไหวโลกอาหรับที่ทุกคนจับตามองคือการตัดความสัมพันธ์ทางธุรกิจ-การเมืองกับ “กาตาร์” จาก 4 ประเทศ ซึ่งมีผลโดยตรงต่อธุรกิจภายในประเทศรวมถึง“กาตาร์แอร์เวย์ส”สายการบินแห่งชาติ

ที่ต้องปรับกลยุทธ์การบริหารเส้นทางการบินและแสวงหารายได้มาชดเชย หนึ่งในแผนสำคัญคือการขยายเส้นทางบินใหม่ๆ ที่ตะวันออกไกล (Far East) ซึ่งมีไทยเป็นหนึ่งในจุดหมายรวมถึงกระจายความเสี่ยงสู่ “การลงทุนโรงแรม” เพิ่มเติม

อัคบาร์ อัล บาเกอร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบินกาตาร์แอร์เวย์สกรุ้ป กล่าวกับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า กาตาร์ตั้งเป้าหมายมีโรงแรมครบ 50 แห่งทั่วโลกใน 5 ปีข้างหน้า จากปัจจุบันมีโรงแรมในเครือ 5 แห่ง อยู่ระหว่างเจรจาซื้อกิจการโรงแรม 2 แห่งในกรุงเทพฯ โดยจะเลือก 1 แห่ง เร็วๆ นี้เพิ่งสรุปการซื้อโรงแรมอีกแห่งในเมลเบิร์น ออสเตรเลีย 

“การรุกเข้าสู่ธุรกิจโรงแรมเพื่อให้มั่นใจว่าจะมีรายได้เข้ามาเสริมทัพต่อเนื่อง แม้ว่าจะเป็นสายการบินของรัฐบาลที่มีงบสนับสนุน แต่จำเป็นต้องทำธุรกิจให้มีความยั่งยืนด้วยตัวเอง”

ขณะที่กลยุทธ์การไล่ซื้อหุ้นสายการบินระดับโลกต่างๆ ยังเป็นไปอย่างเข้มข้น อาทิ การถือหุ้นกลุ่มไอเอจี เจ้าของสายการบินบริติชแอร์เวย์สเป็น 20% เข้าถือหุ้น 10% ของกลุ่ม Latam Airlines ในอเมริกาใต้และซื้อหุ้นคาเธย์แปซิฟิกกว่า 9% รวมถึงความพยายามล่าสุดในการเข้าซื้อ “อเมริกันแอร์ไลนส์” ซึ่งยังไม่ประสบความสำเร็จ แต่ยังแสวงหาการลงทุนในกิจการการบินสหรัฐต่อไป

เมื่อถามถึงความสนใจในไทย อัคบาร์ กล่าวว่า แม้จะยังไม่ใช่ในตอนนี้แต่ก็ไม่ได้ปฏิเสธความไปได้ แต่ยืนยันได้ในขณะนี้ คือ กาตาร์แอร์เวย์สยังไม่สนใจการลงทุนในธุรกิจโลว์คอสท์แต่มุ่งเป้าไปที่สายการบินให้บริการเต็มรูปแบบ (Full Services) เท่านั้น

“เอเชียมีศักยภาพด้านฐานประชากรมหาศาลมีปริมาณลูกค้าตอบสนองสิ่งที่การบินต้องการได้ มีสภาพเศรษฐกิจเฟื่องฟูและเติบโตมาก โดยมี 2 ประเทศมหาอำนาจ จีนและอินเดีย รวมตัวกันอยู่ จึงสำคัญมากในการสร้างเส้นทางเติบโตของกาตาร์แอร์เวย์สในภูมิภาคนี้ ด้วยกว่า 26 เส้นทางที่มีอยู่ ใน 3-5 ปีจากนี้ จะยิ่งเติบโตเร็วกว่าที่เป็นอยู่ทั้งการเพิ่มจุดหมายใหม่และความถี่เส้นทางเดิม”

แม้จะเป็นจุดหมายที่ไม่ใช่เมืองหลักเช่นเชียงใหม่ หรือ อู่ตะเภา กระทั่งกระบี่ ที่เปิดตัวไปก่อนแล้ว สายการบินก็พร้อมรุกเข้าไปซึ่งการเข้าไปเปิดบริการจะใช้วิธี “สร้างความสนใจให้นักเดินทางต้องการเดินทาง” ดังนั้น มีความเป็นไปได้ในการเพิ่มจุดบินใหม่ แม้จะเปิดเส้นทางลำดับ 5 ที่สนามบินอู่ตะเภาแล้ว ในเดือน ม.ค.ตามกำหนด โดยหลักการคือจะเลือกจุดหมายเป็นที่คุ้นเคยของตลาดตะวันตก ซึ่งยังครอบคลุมไม่หมดทุกจุดหมาย เช่น เกาะสมุย  ด้วยศักยภาพ และมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับบางกอกแอร์เวย์สของไทยผู้บริหารสนามบินในฐานะพันธมิตรที่ทำโค้ดแชร์ร่วมกัน 

อัคบาร์ ย้ำว่า แม้ว่าสายการบินจะมีอายุ 20 ปี ถือว่ายังน้อยในอุตสาหกรรมการบิน แต่เชื่อว่าจะผู้นำเทรนด์ใหม่ๆ และยกระดับการบริการผู้โดยสารต่อเนื่อง ปีงบประมาณ 2560 สิ้นสุดเดือน มี.ค.ปีหน้า ผลประกอบการคาดว่าจะติดลบเพราะสัดส่วนธุรกิจกับประเทศที่ตัดความสัมพันธ์ มีส่วนแบ่งราว 11% ต่างจากปีงบประมาณที่แล้วทำกำไร 541 ล้านดอลลาร์ ราว 1.76 หมื่นล้านบาท กำไรสุทธิเพิ่มขึ้นถึง 21.7% เทียบปีก่อนหน้าและรายได้ประจำเพิ่มขึ้น 10.4%

ตามแผนปีงบประมาณนี้มี 26 เส้นทางใหม่ ที่เปิดหลากหลายภูมิภาค ปี 2561 มีเส้นทางที่เตรียมบินเพิ่ม อาทิ จิตตะกองในบังกลาเทศ เมดานในอินโดนีเซีย ปีนังในมาเลเซีย รวมถึงการรุกเส้นทางที่ 5 ในออสเตรเลียที่แคนเบอร์รา งถือเป็นสายการบินแรกจากตะวันออกกลางที่ปักธงสู่เมืองนี้ด้วย

ขณะที่ เส้นทางในยุโรปที่จะช่วยเชื่อมเครือข่ายจากตลาดตะวันตกผ่าน“ศูนย์การบิน” ที่กรุงโดฮามายังไทยมีแผนเปิดบินในเมืองรองและหลักอาทิคาร์ดิฟฟ์ในสหราชอาณาจักร(เวลส์) ลิสบอนจากโปรตุเกส มาลาก้าจากสเปน และเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กจากรัสเซียด้วย ปัจจุบันมีฝูงบินรวม 209 ลำ มียอดสั่งซื้อใหม่รออยู่อีกกว่า 350 ลำ 

ธุรกิจของกลุ่มกาตาร์แอร์เวย์สยังมีความแข็งแกร่งด้านการเติบโตเพราะมีธุรกิจอื่นด้วย อาทิ การบริหารจัดการ“ท่าอากาศยานนานาชาติฮาหมัด” ซึ่งมีจุดเด่นเชิงยุทธศาสตร์เป็นสนามบินศูนย์กลางที่ผู้โดยสารกว่า 80% ทั่วโลกเดินทางเข้าถึงได้ในระยะบิน 6 ชั่วโมง การที่กาตาร์แอร์เวย์สเข้าไปดูแลทั้งหมดจึงออกแบบและให้บริการด้วยความเข้าใจผู้โดยสารได้จนเป็นสนามบินเดียวในตะวันออกกลางที่ได้รับการจัดอันดับเป็นสนามบิน 5 ดาวจากสกายแทรกซ์ นอกจากนี้มีธุรกิจกาตาร์ดิวตี้ฟรี บริหารร้านค้าปลอดภาษีในสนามบิน กาตาร์ดิสทริบิวชั่น รับสิทธิ์นำเข้าไวน์และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์รายเดียวของประเทศด้วย 

นอกจาก 5 เส้นทางในไทย ได้แก่ กรุงเทพฯ ภูเก็ต กระบี่ เชียงใหม่ และอู่ตะเภา (เปิดเดือน ม.ค.2561) ยังมีเส้นทางอาเซียน ได้แก่ บาหลี,ฮานอย,โฮจิมินห์,จาการ์ตา,กัวลาลัมเปอร์,มะนิลา,พนมเปญ,สิงคโปร์และย่างกุ้ง