โลว์คอสท์แข่งบริการหนีสงครามราคา

โลว์คอสท์แข่งบริการหนีสงครามราคา

เทรนด์โลว์คอสท์ แอร์ไลน์ เปลี่ยน มุ่งหารายได้จากบริการเสริม หนีแข่งสงครามราคา เพิ่มรูปแบบบริการเอาใจผู้บริโภค “ไทย ไลอ้อน แอร์” ชูเครื่องใหม่ เอ330 พร้อมเอ็นเตอร์เทนเมนต์ฟรีรายแรก “ไทยแอร์เอเชีย” เปิดเคาน์เตอร์ เช็คอินพิเศษ เลาจน์ รับไลฟ์สไตล์ลูกค้า

นายอัศวิน ยังกีรติวร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายการบิน ไทย ไลอ้อน แอร์ กล่าวว่า การก้าวข้ามของโลว์คอสต์แบบเดิมสู่การเป็นสายการบินแบบลูกผสม (ไฮบริด) แต่ยังคงตรึงราคาเท่ากับโลว์คอสต์เหมือนเดิม จะเป็นกระแสที่เห็นมากขึ้น เนื่องจากกลยุทธ์ด้าน “ราคา” ไม่เพียงพอในการชักจูงอีกต่อไป แต่การสร้างฐานลูกค้าให้เป็นแฟนประจำและประทับใจในบริการ จะมีส่วนสำคัญอย่างมาก

การขยับตัวล่าสุดของไทย ไลอ้อน แอร์ จึงเห็นการลงทุนเพิ่มฝูงบินใหม่ โดยนำเครื่องแอร์บัส เอ330-300 แบบลำตัวกว้างเข้ามาประจำการเป็นครั้งแรก 3 ลำ รองรับการบินระยะไกล พร้อมกับการลงทุนด้านสิ่งอำนวยความสะดวก เป็นโลว์คอสต์รายแรกของไทยที่ให้บริการสิ่งบันเทิงบนเครื่องบิน เช่น จอภาพส่วนตัวหน้าที่นั่ง สำหรับการชมภาพยนตร์, เล่นเกมส์ และฟังเพลง โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม พร้อมกับช่องยูเอสบีสำหรับชาร์จโทรศัพท์ทั้ง 392 ที่นั่ง เพื่อตอบสนองลูกค้าคนรุ่นใหม่ที่สนใจความบันเทิงและเทคโนโลยีโดยเฉพาะ

เร่งเพิ่มรายได้ “นอน แอโร่” 

ขณะเดียวกันเพิ่มที่นั่งชั้น "พรีเมียม อีโคโนมี" ซึ่งมีความกว้าง 60 นิ้ว ส่วนที่นั่งปกติความกว้าง 31 นิ้ว เพื่อรองรับความสะดวกกับการเดินทางที่ชั่วโมงบินเพิ่มขึ้นได้ โดยทั้ง 2 ประเภทยังคงรักษาเอกลักษณ์ของไทย ไลอ้อน แอร์ คือ ให้น้ำหนักกระเป๋าฟรี 20 ก.ก. และ 10 ก.ก. ตามลำดับ​

“การแข่งขันด้านราคาในปีหน้า จะยังคงดุเดือด เส้นทางที่สายการบินจะเข้าไปหลังจากการปลดธงแดงจากองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ไอซีเอโอ) ก็ไม่ต่างกันมาก หลักๆ ก็มีทั้งญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ดังนั้น นอกจากราคาที่ปรับขึ้นลงตามดีมานด์และการแข่งขันแล้ว สิ่งที่สายการบินต้องนำเสนอคือ บริการเสริมที่ต้องเพิ่มมากขึ้น ควบคู่ไปกับการคงมาตรฐานความปลอดภัยในระดับสูงไว้”

รวมถึงเริ่มแสวงหาช่องทางทำรายได้ใหม่ๆ โดยเริ่มกระตุ้นให้พนักงานต้อนรับ จำหน่ายอาหารและสินค้าบนเครื่องบินเพิ่ม เพื่อสร้างรายได้นอกเหนือการจำหน่ายตั๋ว (Non Aero) ให้เพิ่มขึ้น จากปัจจุบันที่ยังอยู่ในอัตราต่ำ ซึ่งเป็นที่มาของภาพที่ปรากฎในสังคมออนไลน์ ในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาที่ลูกเรือของไทย ไลอ้อน แอร์ ใช้กลยุทธ์การชักจูงให้ลูกค้าซื้ออาหารร้อนรับประทานบนเครื่องบินมากกว่าเดิม

“ขณะนี้เรามีเครื่องบินแอร์บัส เอ330-300 แล้ว 3 ลำ มีนักบินสำหรับเครื่องบินรุ่นนี้ 20 คน ซึ่งย้ายมาจากสายการบินอื่นๆ จึงมีความเชี่ยวชาญเชื่อถือได้ อนาคตก็พร้อมจะนำเครื่องขนาดใหญ่เข้ามาประจำการอีก หากมีความต้องการในเส้นทางระยะไกลเพิ่ม"

ทั้งนี้เชื่อว่าตลาดนักท่องเที่ยวไทยไปญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ยังไม่อิ่มตัว เมื่อเปิดให้บริการจริงก็เชื่อว่าอัตราบรรทุกเฉลี่ยน่าจะเกิน 80% เพราะยังมีเมืองอื่นๆ ที่คนไทยเริ่มรู้จักและต้องการเดินทางตรงแบบไม่ผ่านโตเกียวมากขึ้น ดังนั้น เบื้องต้นภายในช่วง 2 ไตรมาสแรก จะผลักดันให้มีเส้นทางโตเกียว, ฟุกุโอกะ จากญี่ปุ่นให้ได้ก่อน พร้อมกับบินจากดอนเมืองเข้าทั้งกรุงโซล และปูซาน ทางตอนใต้ของเกาหลีใต้ไปพร้อมกัน

ตั้งเป้าไล่บี้ไทยแอร์เอเชีย

สำหรับปีนี้ ไทย ไลอ้อน แอร์ มีเครื่องบิน 31 ลำ และปีหน้าจะรับเครื่องบินโบอิ้ง 737-Max อีก 4 ลำ รวมเป็น 35 ลำ โดยเครื่องบินดังกล่าวจะใช้สำหรับเสริมความแข็งแกร่งเส้นทางในประเทศจากฮับที่สนามบินดอนเมือง และเส้นทางข้ามภูมิภาคโดยไม่ผ่านกรุงเทพฯ มากขึ้น ทั้งนี้ แม้ว่าปัจจุบันจะมีส่วนแบ่งตลาดในประเทศเป็นอันดับ 2 รองจากไทยแอร์เอเชียแล้ว แต่อาจจะยังไม่สามารถแซงขึ้นอันดับ 1 ได้ในระยะสั้น เนื่องจากคู่แข่งเปิดให้บริการก่อนมาหลายปี

ดังนั้น เป้าหมายการเติบโตจึงอยู่ที่การขยับขึ้นมาอยู่อันดับ 2 เกาะติดคู่แข่งเบอร์ 1 ให้ได้ในทุกเส้นทางก่อน หากเส้นทางไหนยังมีลูกค้าเป็นอันดับ 3 ก็ต้องขยับขึ้นมาเป็นอยู่ที่ 2 หรือที่ 1 ให้ได้ ส่วนที่ครองส่วนแบ่งอันดับต้นอยู่แล้วก็ต้องรักษามาตรฐานต่อเนื่อง

นอกจากนั้น เริ่มมองไปที่การใช้สนามบินต่างจังหวัดเป็นศูนย์กลางเพื่อบินไปต่างประเทศมากขึ้น มีจุดหมายหลักในจีนเป็นหลัก เนื่องจากเป็นตลาดใหญ่ที่ทำรายได้ให้กลุ่มกว่า 30% ในขณะนี้ มีเส้นทางที่กำลังเตรียมเปิด ได้แก่ ภูเก็ตไปเซี่ยงไฮ้ และปัจจุบันก็อยู่ระหว่างขออนุญาตบินเส้นทาง “ปักกิ่ง” เมืองหลวงของจีน ที่ยังไม่มีโลว์คอสต์จากไทยรายใดปักธงไปถึง หากได้รับอนุญาตก็มีโอกาสเปิดทั้งเส้นทางกรุงเทพฯ และภูเก็ต รวมถึงสนามบินอู่ตะเภา เพื่อให้นักท่องเที่ยวต่อไปยังพัทยาโดยตรงได้

“ต้นปีหน้าเส้นทางต่างประเทศที่จะเปิดแน่นอนแล้ว คือ จากกรุงเทพฯ ไปยังฉางโจว (จีน) และโคชิ ในอินเดีย ขณะที่เส้นทางในประเทศก็ยังขยายต่อเนื่อง ในภาพรวมตั้งเป้าผู้โดยสารไว้ 10 ล้านคนในปีหน้า หลังจากปีนี้คาดว่าจะทำได้ 8 ล้านคน ขณะที่อัตราบรรทุกเฉลี่ยที่อยู่ในช่วง 80% ปลายๆ นั้น ก็จะผลักดันให้อยู่ในระดับแตะ 90% ขึ้นไป โดยมั่นใจว่ากลยุทธ์การเพิ่มคุณภาพบริการต่างๆ จะช่วยสร้างฐานลูกค้าเพิ่มเติม”

ทั้งนี้ ระหว่างที่รอทางการญี่ปุ่นและเกาหลีใต้อนุญาตให้ทำการบินเข้าไปนั้น ได้นำเครื่องแอร์บัส เอ 330-300 ไปให้บริการที่เชียงใหม่ 3 เที่ยว/วัน และภูเก็ต 3 เที่ยวบิน/วัน เพื่อให้ลูกค้าได้ทดลองสินค้าก่อน

ไทยแอร์เสริมบริการรับไลฟ์สไตล์ลูกค้า

อย่างไรก็ตาม การขยับรุกของไทย ไลอ้อน แอร์ น้องใหม่ที่เข้าสู่อุตสาหกรรมการบินของไทยในปี 2556 นั้น ไม่ใช่รายแรกที่เริ่มเพิ่มบริการระดับพรีเมียม แต่ “ไทยแอร์เอเชีย” เจ้าตลาดอันดับ 1 ของเส้นทางในประเทศ เริ่มปรับกลยุทธ์ไปก่อนแล้วในปีนี้ โดยการเพิ่มบริการ AirAsia Red Carpet ให้ใช้บริการเคาน์เตอร์เช็คอินพิเศษ, สิทธิการใช้ “เลาจน์” ในท่าอากาศยานก่อนขึ้นเครื่อง, บริการเรียกขึ้นเครื่องก่อนอันดับแรก และรับสัมภาระที่ปลายทางก่อน โดยมีราคาเพิ่มเติม 800 และ 1,000 บาทสำหรับเส้นทางในและต่างประเทศ

นายสันติสุข คล่องใช้ยา ผู้อำนวยการฝ่ายการพาณิชย์ สายการบินไทยแอร์เอเชีย กล่าวว่า การออกแบบสิทธิพิเศษ เนื่องจากกลุ่มลูกค้าขยายตัวต่อเนื่อง และเริ่มมีไลฟ์สไตล์ที่แตกต่างกัน บางกลุ่มเลือกโลว์คอสต์เพราะมีความถี่ตรงกับต้องการ แต่ก็ยังมองหาความสะดวกสบาย ดังนั้นจึงต้องแตกไลน์ผลิตภัณฑ์ด้วยบริการพิเศษ โดยสามารถใช้ได้ทั้งลูกค้าของไทยแอร์เอเชีย และไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ทุกเที่ยวบินจากดอนเมือง

ขณะที่พันธมิตรผู้ให้บริการเลาจน์ ใช้บริการร่วมกับ “เดอะ คอรัล เอ็กเซ็กคูทีฟ เลาจน์” ซึ่งบริหารจัดการโดยกลุ่มมิราเคิล