พช.จัดงบ17.5ล. ผุดรร.โอทอปพัฒนาสินค้า-เชื่อมท่องเที่ยว

พช.จัดงบ17.5ล. ผุดรร.โอทอปพัฒนาสินค้า-เชื่อมท่องเที่ยว

พช.เชียงใหม่ ทุ่มงบ 17.5 ล้านบาท ผุดโรงเรียนโอทอป พัฒนาขีดความสามารถสินค้าโอทอป เชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยวในชุมชน

เมื่อวันที่ 18 ธ.ค.60 นายอภิวัฒน์ ธีระวาสน์ พัฒนาการจังหวัดเชียงใหม่ สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า การขับเคลื่อนเพื่อให้สินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ หรือ OTOP เพื่อให้สินค้าของชุมชนได้รับการพัฒนาต่อยอดทั้งทางด้านการบริหารจัดการ และการตลาด เพื่อเป็นการยกระดับผลิตภัณฑ์ให้มีคุณภาพ มีมาตรฐาน และเป็นที่ต้องการของตลาด รวมทั้งสามารถสร้างนวัตกรรมเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า พร้อมทั้งเชื่อมโยงสินค้าจากชุมชนสู่ตลาดทั้งในและต่างประเทศ

ทางสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดเชียงใหม่ จึงได้จัดทำโครงการ “OTOP Backstreet Academy” หรือ โรงเรียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา เพื่อรวบรวมเรื่องราวภูมิปัญญาท้องถิ่น ที่นำมาใช้ในการผลิตสินค้า เพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ OTOP โดยคงไว้ซึ่งภูมิปัญญาท้องถิ่นให้คงอยู่ในชุมชน เป็นการสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่น และเป็นการสืบสานภูมิปัญญา ถ่ายทอดเรื่องราวให้บุคคลที่สนใจหรือกลุ่มคนรุ่นใหม่ได้ เข้ามาศึกษาเรียนรู้กระบวนการผลิต เหมือนเป็นโรงเรียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งในการจูงใจให้บุคคลทั่วไปได้เข้ามาศึกษาเรียนรู้ และท่องเที่ยวภายในหมู่บ้าน โดยทางสำนักงานพัฒนาชุมชนได้รับงบประมาณในการดำเนินการโครงการดังกล่าวนี้จำนวน 17.5 ล้านบาท โดยได้เริ่มดำเนินการแล้ว และจะสิ้นสุดโครงการในเดือน มีนาคม 2561 หลังจากนั้นพื้นที่ที่ได้รับคัดเลือกจะต้องทำการบริหารจัดการสืบสานต่อยอดให้เกิดความยั่งยืนต่อไป

Image2

ขณะนี้ได้คัดเลือกพื้นที่เป้าหมาย จำนวน 10 แห่ง ที่มีศักยภาพในการบริหารจัดการ เพื่อเป็นต้นแบบในหลากหลายเรื่อง พร้อมทั้งดำเนินการเชื่มโยงกับสถานที่ใกล้เคียงให้เป็นจุดท่องเที่ยว สร้างรายได้ให้กับชุมชน พื้นที่ได้รับการคัดเลือก 10 แห่ง ได้แก่ 1.เชียงใหม่ศิลาดล หมู่ 6 ต.ป่าป้อง ดอยสะเก็ด, 2.วิสาหกิจชุมชนกลุ่มร่มหลวงลุงวงศ์ หมู่ 2 ตำบลต้นเปา อำเภอสันกำแพง, 3.กลุ่มวิสาหกิจชุมชนตีลายแผ่นแร่บ้านป่าสักขวาง หมู่ที่ 13 ตำบลสันกำแพง อำเภอสันกำแพง, 4.ฟาร์มกระดาษสา หมู่ที่ 1 ตำบลต้นปา อำเภอสันกำแพง, 5.เครื่องเขินวิชัยกุล ตำบลหายยา อำเภอเมืองเชียงใหม่, 6.เครื่องเงินชุมชนศรีสุพรรณ ตำบลหายยา อำเภอเมืองเชียงใหม่, 7.แกะสลักกิ่วแลน้อย หมู่ที่ 10 ตำบลบ้านแม อำเภอสันป่าตอง, 8.บ้านเหมืองกุง หมู่ที่ 7 ตำบลบ้านเหมืองกุง อำเภอหางดง, 9.บ้านน้ำต้น สล่าแดง หมู่ ที่ 6 ตำบล บ้านกาด อำเภอแม่วาง และ 10.ศูนย์หัตถกรรมผ้าตีนจกแม่แจ่ม หมู่ที่ 8 ตำบลช่างเคิ่ง อำเภอแม่แจ่ม

สำหรับสินค้าโอทอป ของจังหวัดเชียงใหม่เมื่อปีที่ผ่านมามีรายได้ประมาณ 1 หมื่นล้านบาท และตั้งเป้าเพิ่มปีละไม่ต่ำกว่าร้อยละ 20 เนื่องจากมีผู้ประกอบการลงทะเบียนเพิ่มขึ้น และผู้ประกอบการที่ลงทะเบียนสามารถลงสินค้าได้มากกว่า 1 ผลิตภัณฑ์ ซึ่งทางสำนักงานพัฒนาชุมได้มีการสนับสนุนส่งเสริมให้ผู้ประกอบการได้เข้าร่วมงานจำหน่ายสินค้า ตามที่หน่วยงานต่างๆจัดขึ้น เพื่อเป็นช่องทางการจำหน่ายสินค้าของผู้ประกอบการสินค้าโอทอป ได้อีกช่องทางหนึ่ง ปัจจุบันมีผู้ประกอบการลงทะเบียนกับสำนักงานฯ ประมาณ 1,700 ราย

Image4

นางสาวทัศนีย์ ยะจา เจ้าของเชียงใหม่ศิลาดล บายทัศนีย์แอดดอยสะเก็ดเชียงใหม่ กล่าวว่า เชียงใหม่ศิลาดลแอดดอยสะเก็ด ได้รับคัดเลือกเป็นหนึ่งในเป้าหมาย 10 พื้นที่ ที่ได้รับคัดเลือกให้เป็นโรงเรียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา หรือ OTOP Backstreet Academy เพื่อเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ให้กับบุคลทั่วไป และกลุ่มคนรุ่นหลังในพื้นที่ ได้เข้ามาเยี่ยมชมขั้นตอนการผลิตสินค้า ตามภูมิปัญญาท้องถิ่น รวมทั้งเป็นจุดเชื่อมโยงท่องเที่ยวในชุมชนใกล้เคียง เป็นการสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับชาวบ้านในชุมชน รวมทั้งเป็นการต่อยอดให้คนรุ่นใหม่ ที่มีแนวคิดสร้างสรรค์เข้ามาพัฒนาชุมชนให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวพัฒนาผลิตภัณฑ์ในชุมชนให้น่าสนใจ เชียงใหม่ศิลาดลมีความพร้อมในการเข้าร่วมโครงการพร้อมทั้งสนับสนุนเพื่อให้เกิดเส้นทางท่องเที่ยวเชื่อมโยงภายในชุมชน เพื่อเป็นการต่อยอดสร้างรายได้ให้กับชุมชนในพื้นที่

โดยโครงการดังกล่าวนี้ จะมีการอบรมผู้ประกอบการ และบุคคลในชุมชนเพื่อให้มีความพร้อมที่จะเป็นมัคคุเทศก์ในการเล่าเรื่องราวของชุมชน ให้กับผู้ที่เข้ามาเยี่ยมชม เป็นการกระตุ้นให้นักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาเยี่ยมชมวิธีการผลิตสินค้า และจับจ่ายใช้สอยภายในหมู่บ้าน เป็นการกระตุ้นการท่องเที่ยวอีกช่องทางหนึ่ง จากเดิมที่ทางพัฒนาชุมจะให้การสนับสนุนพัฒนาผลิตภัณฑ์กับผู้ประกอบการ เพื่อนำสินค้าออกไปจำหน่ายตามงานแสดงสินค้าต่างๆ เท่านั้น การดำเนินการโครงการนี้ จะเป็นการต่อยอดเพิ่มรายได้ให้กับชุมชนเพิ่มมากขึ้น