4 ข้อสังเกต..ผลสอบหาเหตุ 'น้องเมย' เสียชีวิต

4 ข้อสังเกต..ผลสอบหาเหตุ 'น้องเมย' เสียชีวิต

จับประเด็นร้อน!! 4 ข้อสังเกต..ผลสอบหาเหตุ "น้องเมย" เสียชีวิต

กลายเป็นกระแสวิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง เกี่ยวกับผลการสอบสวนข้อเท็จจริงการเสียชีวิตของ “น้องเมย” หรือ ภคพงศ์ ตัญกาญจน์ อดีตนักเรียนเตรียมทหารชั้นปีที่ 1 ซึ่งแถลงโดยคณะกรรมการสอบสวนที่กองทัพไทยตั้งขึ้น เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา

เพราะผลสอบออกมาในแนวป้องสถาบัน ป้องผู้บังคับบัญชา และป้องรุ่นพี่ พร้อมโยนสาเหตุการตายไปที่ “ปัญหาสุขภาพ” แม้จะมีการ “ซ่อม” แบบฝ่าฝืนระเบียบมาก่อน (สั่งให้ออกกำลังกายให้ห้องซาวน่าเล็กๆ ร้อนๆ เป็นเวลานาน) แต่ก็ยังเชื่อว่าไม่ใช่สาเหตุการตาย บทสรุปการสอบสวน ขมวดประเด็นให้เข้าใจง่ายๆ แบบนี้

1.การธำรงวินัย (ซ่อม) วันที่ 15 ต.ค.และการถูกลงโทษวันที่ 16 ต.ค. (เพราะไม่ขอบคุณรุ่นพี่ที่เมตตากรุณาให้หยุดซ่อม) ไม่เป็นเหตุให้เสียชีวิต
2.ซี่โครงหักซี่ที่ 4 อาจเพราะการทำ CPR
3.สาเหตุการตายเพราะหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน
4.พบเซลล์กล้ามเนื้อหัวใจบางส่วนโตผิดปกติ

จากคำแถลง และบทสรุปผลการสอบสวน “ล่าความจริง” ได้พูดคุยกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ และผู้ทรงคุณวุฒิที่เกี่ยวข้อง สรุปข้อสังเกต 4 เรื่องที่ต้องนำมาพิจารณาต่อ และไม่ควรปล่อยให้ผ่านไป

เรื่องแรก คำแถลงของคณะกรรมการฯ ชัดเจนว่าพยายามเชื่อมโยงการเสียชีวิตของน้องเมยกับปัญหาสุขภาพที่มีมาก่อนแล้ว เช่น อาการไฮเปอร์เวนติเลชั่น หรือ “โรคมือจีบ”

คำถามคือ อาการนี้คืออะไร แพทย์ผู้เชี่ยวชาญให้ข้อมูลว่า ไฮเปอร์เวนติเลชั่น เป็น “กลุ่มอาการ” ไม่ใช่ “โรค” พูดง่ายๆ คืออาการหอบจากภาวะอารมณ์ เช่น เครียด วิตกกังวล เป็นภาวะชั่วคราว ไม่ได้ติดตัวตลอดเวลา ปัจจัยกระตุ้นมีทั้งคน สภาพแวดล้อม และระดับความเครียดของตัวเอง อาการที่ปรากฏคือ หายใจเร็วเกินไป หรือหายใจไม่ออก เกร็ง (มือจีบ) รู้สึกเหมือนจะขาดใจ อาการแบบนี้ เมื่อตัวกระตุ้นหรือความเครียดลดลง ก็จะกลับมาเป็นปกติ จึงไม่ใช่สาเหตุการตาย

แต่ข้อสังเกตของหมอก็คือ ทำไมจึงยังมีการฝึกหนักและลงโทษนักเรียนที่มีอาการแบบนี้ อย่างกรณีของน้องเมย เพราะแนวทางที่ถูกต้องคือแยกตัวออกมา แล้วส่งตรวจอย่างละเอียดที่โรงพยาบาล เพื่อความปลอดภัย เพราะอาจพบโรคหรืออาการอื่นที่ซ่อนอยู่อีก

เรื่องที่ 2 การสรุปว่าน้องเมยเสียชีวิตจากหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน พูดง่ายๆ คือ “หัวใจวาย” แต่กลับพูดโยงไปถึงความผิดปกติของกล้ามเนื้อหัวใจ ทั้งๆ ที่ผลชันสูตรของโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ก็ไม่ได้ระบุเอาไว้ว่าเป็นสาเหตุการตาย การพูดโยงแบบนี้ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญมองว่าเหมือนเป็นการชี้นำว่า หัวใจวายเพราะความผิดปกติของหัวใจใช่หรือไม่ ทั้งๆ ที่หัวใจวายเฉียบพลัน เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ รวมทั้งการถูกซ่อม หรือออกกำลังกายอย่างหนักเกินจะรับไหวด้วย

เรื่องที่ 3 ซี่โครงซี่ที่ 4 หัก แล้วพูดเปิดทางว่าอาจเกิดจากการทำ CPR แต่ขณะเดียวกันก็ยืนยันว่าไม่ได้ถูกทำร้ายหรือถูกซ่อม แพทย์ผู้เชี่ยวชาญตั้งคำถามว่า เป็นการพยายามสรุปเกินข้อเท็จจริงหรือไม่ เพราะสาเหตุที่ทำให้ซี่โครงหัก เกิดจากการถูกกระแทกโดยของแข็งไม่มีคม เกิดขึ้นได้จาก 3 ปัจจัยหลัก คือทำเอง อุบัติเหตุ และบุคคลอื่นทำ การทำ CPR เข้าข่ายบุคคลอื่นทำ แต่ไม่ใช่สาเหตุหลัก ฉะนั้นจึงไม่ควรด่วนสรุป แต่ควรค้นหาสาเหตุหรือพยานแวดล้อมอื่นๆ ประกอบมากกว่า

เรื่องที่ 4 ผลการสอบสวนข้อเท็จจริงฯ ไม่มีผลทางกฎหมายและคดี เพราะเป็นลักษณะ “หาคนผิดทางวินัย” ไม่ได้เกี่ยวกับคดีอาญา ฉะนั้นจึงไม่ควรใช้ผลการสอบสวนนี้ ชี้นำคดี

นี่คือข้อสังเกต 4 ประเด็นจากคำแถลงของคณะกรรมการสอบสวนที่ตั้งขึ้นโดยกองทัพไทย ฉะนั้นเรื่องการตายของน้องเมย คงยังไม่จบแค่นี้ โดยเฉพาะท่าทีของครอบครัวน้องเมย ที่ประกาศเดินหน้าฟ้องคดี ก็ต้องรอดูว่าทางครอบครัวมีหลักฐานอะไร

ที่น่าสนใจก็คือ ทั้งคณะกรรมการสอบสวนฯ และบุคลากรจากโรงเรียนทหารแห่งนี้ทุกคน ยืนยันว่าการ “ธำรงวินัย” เป็นระบบที่ดี ส่วนที่ก่อให้เกิดปัญหาเป็นเรื่อง “ตัวบุคคล” แต่ไม่ได้บอกให้ชัดว่าจะป้องกันปัญหานี้อย่างไร