C-L-M-V-T สัมพันธ์เพื่อน สู่..สัมพันธ์ค้า 

C-L-M-V-T สัมพันธ์เพื่อน สู่..สัมพันธ์ค้า 

รู้จักอาเซียนในระดับประเทศมายาวนาน ยังไม่ใกล้ชิดเท่ารู้จักกัน“ฉันท์เพื่อน” สูตรการสร้างเครือข่าย CLMVT ดึงผู้บริหารรัฐ-เอกชนอาเซียน ผ่านหลักสูตรMIT สร้างผู้ประกอบการ กระตุ้นคิด-ออกแบบโมเดล สร้างพลังร่วมพลิกภูมิภาค

กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม (CLMV) นับเป็นตลาดส่งออกสินค้าไทยที่สำคัญ คิดเป็นสัดส่วนส่งออกถึง 10.4% ของมูลค่าการส่งออกรวมของไทยในช่วง 10 เดือนแรก (ม.ค.-ต.ค.) ของปี 2560 โดยไทยส่งออกไปยัง 4 ประเทศเพื่อนบ้าน เป็นมูลค่ารวม 20,304 ล้านดอลลาร์ ขยายตัวถึง 14%

ความสำคัญของตลาดเพื่อนบ้าน จึงเป็นที่มาของการ "รวมกลุ่ม" เชื่อมสัมพันธ์ครบมิติ การค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว ที่มีการวางยุทธศาสตร์ร่วมกันมายาวนาน ทว่าเป้าหมายการปลดล็อคอุปสรรค และปลดปล่อยศักยภาพในภูมิภาคยังคงต้องใช้เวลาจัดระเบียบ และความเข้าใจ” ของแต่ละประเทศให้ตรงกัน

ยุทธศาสตร์การสร้างเครือข่ายเชื่อมโยงการค้าในภูมิภาค (Connectivity) เป็นหนึ่งในแนวทางเปิดประตูการค้า“ผ่านคน” ด้วยการสร้างสัมพันธ์จากกลุ่มย่อย ผ่านโปรแกรมการเชิญผู้บริหารระดับสูงทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึงนักธุรกิจชั้นนำ จาก CLMVT  คือ กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม และไทย มาแลกเปลี่ยนมุมมอง ร่วมกันออกแบบกลยุทธ์ใหม่ๆ เพื่อผลักสร้างความสัมพันธ์ใกล้ชิด ไปสู่การสร้างเครือข่ายความสัมพันธ์ระดับใหญ่ขึ้นในระดับประเทศ และระดับภูมิภาคในอนาคต

ราล์ฟ แคทซ์ อาจารย์ด้านการพัฒนาผู้ประกอบการ และพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยี จากสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (Massachusetts Institute of Technology : MIT) หนึ่งในผู้เชี่ยวชาญที่มาบรรยายหลักสูตรที่ MIT ปลุกพลังให้ผู้ประกอบการ และผู้บริหารจากภาครัฐ สร้างการเปลี่ยนแปลงในภูมิภาคอาเซียน ภายใต้โครงการ “CLMVT Executive Program on New Economy หรือ CLMVT-EXP”  ของสถาบันพัฒนาผู้ประกอบการค้ายุคใหม่ (New Economy Academy)  กระทรวงพาณิชย์ โดยมีผู้เข้าร่วมอบรมกว่า 60 คนในกลุ่มอาเซียน มามองเห็นปัญหาร่วมกัน และร่วมกันระดมสมองคิดนอกกรอบ หาโมเดลธุรกิจใหม่เพื่อปลดล็อคปัญหา 

โดยหลักสูตรมุ่งเน้นการ ปรับมุมมองความคิด” มองปัญหาเป็นโอกาสในการสร้างธุรกิจและสร้างนวัตกรรม

เขายังมองเทรนด์โลกที่หมุนเร็วจนส่งผลกับภาคธุรกิจว่า ทำให้ธุรกิจต้องเตรียมพร้อมรับมือสร้างสรรค์สิ่งใหม่” อยู่เสมอ 

ธุรกิจยุคหน้าจะต้องเข้าใจแนวโน้มโลกยุคหน้า ว่าสิ่งใหม่ๆที่จะเกิดขึ้นจะกระทบต่อชีวิตผู้คนมหาศาล โดยเฉพาะแนวโน้มที่“โลกเล็กลง”จากเส้นแบ่งพรมแดนประเทศที่หายไป ทั้งจากเทคโนโลยี และข้อตกลงระหว่างประเทศ

กลายเป็นโอกาสในการก้าวเข้าไปทำธุรกิจนอกประเทศ เช่นเดียวกับคู่แข่งที่จะมาแข่งขันธุรกิจในตลาดที่ถือครองอยู่ หากไม่เร่งปรับตัวอยู่แบบเดิมก็เท่ากับเดินถอยหลัง

โลกต่อไปยังล้วนเกี่ยวข้องกับระบบดิจิทัล รวมถึง ระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI-Artificial Intelligence) เครื่องมืออัจฉริยะทั้งหลายที่เชื่อมโยงกับระบบอินเตอร์เน็ท (IoT-Internet of Things) จึงต้องเข้าใจกระบวนการทำงานเทคโนโลยีมาสร้างความได้เปรียบในการทำธุรกิจ เข้าถึงผู้บริโภคได้อย่างสะดวกรวดเร็ว เพราะโลกยุคหน้าหมุนเร็ว เปลี่ยนแปลงเร็ว ผู้ประกอบการจึงต้องหูไวตาไวและก้าวให้ทันความเปลี่ยนแปลง

กระแสการทำธุรกิจในยุคหน้าจะรวมกลุ่มกัน จับมือร่วมกัน ทางธุรกิจกันมากขึ้น เพื่อใช้จุดแข็งของแต่ละฝ่ายเข้ามาผนึกกำลังกัน เพราะในยุคหน้าเป็นยุคแห่งเศรษฐกิจแบ่งปัน (Sharing Economy)

“พลังที่โลกย่อส่วนเล็กลง ทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างเกิดขึ้นรวดเร็ว รวมทั้งผู้ประกอบการที่เกิดขึ้นเร็ว มีโมเดลธุรกิจใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมาย แต่ก็พร้อมจะดับลงอย่างรวดเร็วเช่นกัน” เขาประเมิน และว่า 

กลุ่มประเทศอาเซียนมีจุดแข็งที่การรวมกลุ่ม นั่นคือพื้นฐานทางวัฒนธรรมของอาเซียน การรวมกลุ่มเหล่านี้นำมาซึ่งโอกาสในการเรียนรู้ และการสื่อสารขอแรงสนับสนุนจากภาครัฐ ทุกประเทศต้องเลือกมองหาจุดแข็งแล้วมาผนึกกำลังกัน สร้างอาเซียนให้เป็นดาวดวงใหม่ที่โดดเด่นในแผนที่โลก

เขายังระบุว่า สิ่งที่ประเทศอาเซียน แตกต่างจากสหรัฐอเมริกา ก็เพียงแค่ภูมิภาค และจุดเด่นของอุตสาหกรรม แต่สิ่งที่เหมือนกันคือ การมองเห็นปัญหา พร้อมกับโอกาส จึงต้องคิดนอกกรอบ ค้นพบนวัตกรรมให้ได้ 

ทำธุรกิจในยุคนี้ยังต้องตัดสินใจที่เฉียบขาด แหลมคม สร้างพลังให้คนทำงานเป็นทีม รู้จักการแปลงไอเดียให้กลายเป็นความจริง

เขายังมองถึงวัฒนธรรมองค์กรที่จะสร้างผู้ประกอบการในโลกยุคหน้าด้วยสูตรง่ายๆว่า ผู้ประกอบการนอย่ากลัวที่จะผิดพลาด และเมื่อทำผิดแล้วก็อย่าผิดซ้ำ ต้องเรียนรู้จากความผิดพลาดใช้เป็นเส้นทางสู่ความสำเร็จ

เขาแนะนำด้วยว่า หากประเทศไทยจะก้าวไปสู่ความสำเร็จจำเป็นต้องเลือกสิ่งที่โดดเด่นของประเทศ แล้วส่งเสริมให้ประสบความสำเร็จจนได้รับการยอมรับในระดับโลก เช่น สหรัฐ ประสบสำเร็จในด้านซอฟต์แวร์ ส่วนญี่ปุ่นประสบความสำเร็จในการพัฒนาหุ่นยนต์ และเยอรมนี ประสบความสำเร็จในอุตสาหกรรมยาและเวชภัณฑ์

การไทยวางเป้าหมายไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 สำหรับเขามองว่าเป็นการมองเพียงระยะสั้น เพียงเพราะกำลังก้าวสู่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม 4.0 แต่ไทยควรก้าวข้ามมองไปที่อุตสาหกรรม 5.0 มองว่าอะไรจะเกิดขึ้นในยุคถัดไป 

ขณะที่ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ประเทศก้าวสู่ความสำเร็จในทุกยุค คือ "การศึกษาและการบริหารจัดการ"

---------------------

Know Who มาก่อน Know How

ราเกส ซิงห์ กรรมการเลขาธิการสภาธุรกิจไทย-เวียดนาม และผู้อำนวยการส่วนพัฒนากลยุทธ์และปฏิบัติการองค์กร บมจ.ศรีไทยซุปเปอร์แวร์ มองว่า วิธีการดึงผู้บริหารระดับสูงทั้งภาครัฐและเอกชนจากกลุ่มประเทศ CLMVT  ทำเวิร์คช็อป และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ นำเสนอแนวคิดใหม่ๆ เกี่ยวกับการพัฒนาภูมิภาคอาเซียน ถือเป็นการสร้างระบบนิเวศน์(Ecosystem) ที่หลอมรวมนักธุรกิจและผู้บริหารในภูมิภาคมาสร้างสัมพันธ์ในภูมิภาค สานต่อยุทธศาสตร์ เชื่อมโยงสร้างเครือข่าย (Connectivity) ในภูมิภาคอาเซียนของรัฐบาล

“การเข้ามาใช้ประสบการณ์แลกเปลี่ยนความคิดและไอเดียการทำธุรกิจร่วมกัน เป็นการเรียนรู้การทำงานเป็นทีม เพื่อต่อภาพการพัฒนาโอกาสในการทำธุรกิจร่วมกันในอนาคต มองอาเซียนเป็นเครือข่ายซัพพลายเชนในกลุ่มธุรกิจที่เชื่อมโยงกันก็หลอมรวมการผลิตและกระจายสินค้า รวมถึงตลาดร่วมกันได้”

เขาเล่าบรรยากาศในการทำเวิร์คช็อปที่คอยชี้นำและกระตุ้นความคิดและไอเดียโดยศาสตราจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยี แบ่งเป็น 2 กลุ่มที่คละกันทั้ง 5 ประเทศ พบว่ามีการนำเสนอไอเดียที่แก้ไขปัญหาหรือสร้างธุรกิจที่หลากหลาย  เช่น ไอเดียของกลุ่มเขา คือ ไลออน นำเสนอการสร้างแวลูเชนกาแฟ เพราะเป็นพืชเกษตรที่ปลูกมากในภูมิภาคอาเซียน โดยเฉพาะในลาว เวียดนามและกัมพูชา แต่ยังขาดการพัฒนาต่อยอดด้านการพัฒนาแบรนด์ และสร้างมูลค่าทางการค้า รวมถึงการขาดการวิจัยและพัฒนา(R&D) พวกเขาจึงร่วมกันคิดแบรนด์กาแฟ ที่เป็นเอกลักษณ์ของ CLMVT

อีกไอเดียที่น่าสนใจของกลุ่มอื่น เช่น การพัฒนา Fintech (เทคโนโลยีทางการเงิน) ของกลุ่มCLMVT ที่เป็นแอพพลิเคชั่นการจ่ายเงินร่วมกันในอาเซียน เพื่อเตรียมตัวเข้าสู่สังคมไร้เงินสด (Cashless) รวมไปถึงแนวคิดผลงานหัตถกรรมของ CLMVT ซึ่งเป็นเอกลักษณ์จาก 5 ประเทศหลอมรวมไว้ด้วยกัน แล้วช่วยกันโปรโมทไปสู่มูลค่าสูง

การร่วมถกปัญหาแลกเปลี่ยนมุมมองทางธุรกิจ พร้อมกันกับตระหนักถึงปัญหาของ CLMVT ไม่เพียงจะช่วยและแรงขับเคลื่อนทางอ้อมให้ผู้เข้าร่วมเวิร์คช็อปเห็นปัญหาแล้วหาทางปลดล็อกในเวทีอื่นๆที่พวกเขาเข้าไปมีบทบาทแล้ว ความใกล้ชิดสนิทสนมระหว่างเวิร์คช็อป เป็นประตูเชื่อมความสัมพันธ์สนิทสนมแบบเพื่อนที่แท้จริงแบบเรียนรู้ทัศนคติ นิสัย และพื้นฐานทางวัฒนธรรมระหว่างกัน

แต่และโปรเจ็คที่แต่ละทีมทำขึ้นมาได้พูดถึงอุปสรรค ความท้าทาย รวมถึงสิ่งที่ต้องทำต่อเพื่อปลดล็อกปัญหาของแต่ละประเทศใน CLMVT เป็นการเชื่อมต่อ รวมพลังเราใช้จุดแข็งของแต่ละประเทศร่วมกันพัฒนาสินค้า เช่น สินค้าไทยค่าแรงแพงก็ผลิตสินค้าในกลุ่มเพื่อนบ้าน และสร้างมูลค่าแบรนด์ร่วมกันไปตีตลาดโลก หรือแม้กระทั่งยานยนต์ ร่วมมือกันแบ่งการผลิตชิ้นส่วนได้ แล้วมาร่วมกันประกอบได้

เมื่อผู้บริหารได้เข้ามารับฟังปัญหาที่แตกต่างกันของแต่ละประเทศแล้ว เมื่อขึ้นไปเป็นผู้มีอำนาจในการตัดสินใจ มีบทบาทในการพัฒนาประเทศ ย่อมมีส่วนในการผลักดันประเทศดังกล่าวต่อไป

ขณะที่คนไทยที่เข้าไปเวิร์คช็อปกับประเทศเพื่อนบ้าน จะทำให้เกิดการปรับทัศนคติที่มองCLMVT เป็นเพื่อน เป็นคู่ค้า ที่ต้องมองหาโมเดลธุรกิจที่ทำธุรกิจแบบสร้างประโยชน์ร่วมกัน (Win Win) รู้จักประเทศเพื่อนบ้าน ในเชิงลึกทั้งข้อดี ข้อด้อย ที่คนในแต่ละประเทศบอกเล่าให้ฟัง

“ไม่ใช่เราอยากคบเขาโดยมองแค่เพียงผลประโยชน์เป็นหลัก แต่เป็นการสร้างโมเดลบนพื้นฐานประโยชน์ร่วมกัน มองอาเซียนเป็นซัพพลายเชน คู่ค้าร่วมสร้างแบรนด์ผนึกกำลังกัน หลังจากเป็นเพื่อนแล้วเพื่อนแต่ละคนจะไปเยือนประเทศในกลุ่มก็นัดเจอกัน และอำนวยความสะดวกให้กับได้ เช่น มีเพื่อนในกลุ่มคนหนึ่งที่ต้องการพบปลัดกระทรวงในกัมพูชา ซึ่งเป็นพี่ชายกับเพื่อนในรุ่น ก็ยกหูต่อสายถึงกันได้ ”

นี่เพียงเล็ก ๆน้อยๆ ของการเริ่มต้นเข้าไปประเทศ ในอนาคตแต่ละฝ่ายต้องการไปลงทุนในต่างประเทศ เพื่อนก็จะแนะนำสิ่งดีๆให้กับเพื่อนในแต่ละประเทศ

อมรพันธ์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานอาวุโส บริษัท ซีแวลู จำกัด (มหาชน) ทายาทธุรกิจ ที่เข้าเวิร์คช็อปโปรแกรม CLMVT-EXP มองหลักสูตรนี้เป็นการกระตุ้นให้เกิดความคิด แตกต่างจากห้องเรียนอื่นที่เรียนจากกรณีศึกษา แต่ละคนที่เข้ามาฝึกอบรม เพื่อมาร่วมเป็นทีมเวิร์ค ช่วยกันพัฒนาโมเดลธุรกิจใหม่ ให้สอดคล้องกันกับยุคเทคโนโลยีและเทรนด์ใหม่ และเรียนรู้ที่จะใช้ไอเดียบนความเชื่อมโยงภูมิภาค

คลาสทั่วไปเป็นการบอกเล่าเคสในอดีต แต่โปรแกรมนี้กระตุ้นให้มองเทรนด์อนาคต ไม่ต้องกลัวว่าเราเป็นประเทศเล็กหรือใหญ่ หรือไม่คิดเพียงแค่ตามโลกตะวันตก แต่เราต้องคิดนำเทรนด์

ผลงานที่กลุ่มของเขาได้ร่วมกันสร้างออกมาคือการคิดบริษัทโลจิสติกส์ เพื่อเข้ามาช่วยปลดล็อกแก้ไขปัญหาของการ รถติดค้างบริเวณด่านชายแดนข้ามประเทศ บางครั้งหนักสุดรถต้องจอดค้างยาวนาน 3-4 วัน กลุ่มธุรกิจโลจิสติกส์ จึงเป็นโมเดลที่คิดขึ้นมาเพื่อสานฝัน อาเซียนเป็นประเทศเดียวกัน (ASEAN Single Window) ทั้งรถทุกชนิดผ่านเข้าออกด่านชายแดนโดยไม่ต้องเปลี่ยนคัน หรือขนย้ายสินค้า นี่คือความหวังจากปัญหาที่ยังแก้ไม่ตก (pain point) ของเพื่อนบ้านในCLMVT

เขาเล่าว่าบางกลุ่มที่คิดแก้ไขปัญหาอัตราแลกเปลี่ยนเงินสกุลที่ค้าขายกันในCLMVT ซึ่งตลาดไม่ใหญ่เพียงพอที่จะทำให้ราคาเงินมีเสถียรภาพ จึงต้องการจัดการปัญหาด้วยการหาวิธีชำระเงินระหว่างกลุ่มในประเทศ CLMVT โดยคำนวณเป็นเงินสกุลเดียวกันทันที โดยไม่ต้องผ่านการแลกเป็นหน่วยเงินดอลลาร์

นี่เป็นหลายกรณีศึกษาที่มาจากแนวคิด นักธุรกิจและผู้บริหารระดับสูงในกลุ่มประเทศอาเซียน

การร่วมแบ่งปันประสบการณ์กับเพื่อนอาเซียนเปลี่ยนมุมมองที่เคยมีต่อเพื่อนบ้านอาเซียนใหม่เลย เพราะแต่ละคนเก่งและกล้านำเสนอแนวคิด บางคนเก่งกว่าคนไทย ทำให้เราได้ย้อนกลับมามองดูเราเอง หาทางเชื่อมความเก่งของเพื่อนบ้านให้เป็นแวลูเชน

เขายังเห็นว่า ตลาดอาเซียนเติบโตขึ้นเรื่อยๆ และเป็นคู่ค้าอันดับหนึ่งของไทย ที่ไม่ควรมองข้ามและเชื่อมต่อเป็นประเทศเดียว โดยไม่ต้องกังวลเรื่องกฎระเบียบและข้อกีดกันทางการค้ากับประเทศใหญ่อย่างสหรัฐ และยุโรป การค้าขาย ผ่านเข้าออกระหว่างกันไม่เข้มงวด ภาษา วัฒนธรรมและศาสนาก็ใกล้เคียงกัน จึงผูกพันกันง่าย

อดุลย์ โชตินิสากรณ์ รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ มองว่า การสร้างเครือข่ายผ่านการรู้จัก และเป็นเพื่อน สร้างความไว้วางใจ น่าเชื่อถือ (Trust) นำไปสู่การสานต่อความสัมพันธ์ในหลากหลายมิติ ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญมากสำหรับการทำการค้าในกลุ่มประเทศ CLMVT

ตอบโจทย์สิ่งที่เราสงสัย เรื่องกลยุทธ์ความไว้เนื้อเชื่อใจ การสร้างเพื่อน นำไปสู่การร่วมกันพัฒนาความเจริญในมิติต่างๆ ร่วมกัน สำคัญที่สุดในการทำการค้าในเอเชีย

“การสร้างความเชื่อใจจะต้องมาจากการรู้จักกันในแบบเพื่อน เป็นสิ่งสำคัญที่สุด เพราะในอาเซียนสำคัญที่สุดในการทำการค้าคือรู้ว่าใครเป็นใครสำคัญมากกว่าองค์ความรู้ที่ติดตัว (Know Who มากกว่า Knowhow)”

----------------------------

6 ผลงานจาก 6 ทีม CLMVT EXP

1.กลุ่ม Phoenix นำเสนอโครงการ “CLMVT integrated logistics platform”

จากปัญหาความแออัดและไม่รื่นไหลของการเคลื่อนย้ายสินค้าข้ามด่านพรมแดนประเทศ นักธุรกิจจึงยอมใช้เส้นทางอ้อมส่งสินค่าทางเรือผ่านด่านสิงคโปร์ แม้ค่าใช้จ่ายสูงแต่ แต่ก็ยังสะดวกกว่าต้องมาเจอกับความซับซ้อนช่วงตรวจสอบระหว่างขนผ่านแดนระหว่างประเทศ ทางกลุ่มนำเสนอวิธีปลดล็อกปัญหาด้วยการวางระบบโลจิสติกส์ (CLMVT) ความฝันที่จะเป็นประเทศเดียวกันระบบเดียวกัน(Single Window) เชื่อมโยงระบบการทำงานของผู้ให้บริการโลจิสติกส์กับศุลกากร ให้มองเห็นข้อมูลชุดเดียวกัน เมื่อข้อมูลผ่านจากต้นทางก็ไม่ต้องตรวจซ้ำในด่านถัดไป ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะทำงานประสาน โปร่งใส ช่วยลดความยุ่งยากและขจัดปัญหาคอรัปชั่น

2.กลุ่ม Eagle นำเสนอโครงการ “GO CLMVT”

เป็นโครงการที่ปลูกฝังให้รู้สึกว่า CLMVT คือชนชาติเดียวกัน มีความรักและกลมเกลียวกัน เนื่องจากวัฒนธรรมใกล้เคียงกัน แตกต่างกันเพียงภาษา จึงต้องการทำให้ 5 ประเทศใกล้ชิดกันยิ่งขึ้นจึงต้องแชร์ข้อมูลของทุกประเทศให้รับรู้ร่วมกัน เพื่อให้ประชาชน นักธุรกิจมองเห็นตลาดในมุมที่เข้าใจซึ่งกันและกัน

3.กลุ่ม Lion นำเสนอโครงการเพิ่มมูลค่าให้กับธุรกิจขายเมล็ดกาแฟ

เป็นแนวคิดที่ยกระดับเพิ่มมูลค่าให้กาแฟในภูมิภาคทั้ง CLMVT ร่วมกันพัฒนาซัพพลายเชนกาแฟ ห่วงโซ่สร้างคุณค่าจากอัตลักษณ์เกาแฟป็นตัวแทนของ 5 ประเทศ ตั้งแต่การทำงานร่วมกันกับผู้ปลูกกาแฟ ร้านกาแฟ บรรจุภัณฑ์ รวมถึงการตลาด

4.กลุ่ม Tiger นำเสนอโครงการ CLMVT Travelling Buddy

พัฒนาคู่มือการเดินทางรูปแบบChatbot เป็นโปรแกรมที่สามารถตอบคำถามต่าง ๆ โดยที่นักเดินทางไม่ต้องเสียเวลาในการเปิดสมุดคู่มือนักเดินทางเพื่อหาข้อมูลหรือไม่ต้องค้นข้อมูลทางอินเตอร์เน็ต แค่พิมพ์คำถามเข้าไปก็สามารถตอบคำถามข้อมูล ปัญหาในทุกด้านที่จะช่วยอำนวยความสะดวกให้นักท่องเที่ยว นักธุรกิจได้เข้าใจในความเป็นตัวตนของอาเซียนได้สะดวกขึ้น

5.กลุ่ม Cobra นำเสนอโครงการ Digitizing Payments in CLMVT

“CLMVT Pay” เป็นการใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนมารองรับการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ใน CLMVT เพื่อเป็นพัฒนาช่องทางการชำระเงิน โดยโครงการเริ่มต้นจากการระดมทุนผ่าน Crowdfunding 1หมื่นคนคนละ 100 เหรียญสหรัฐ แก้ไขปัญหาชำระเงินผ่านสกุลนอกกลุ่ม และพกเงินสดติดตัวไม่สูงมาก รองรับสังคมดิจิทัลในอนาคตที่จะมีการใช้เงินสดลดลง (Cashless)

6.กลุ่ม Dragon นำเสนอโครงการร่วมกันทำการตลาดผลิตภัณฑ์ประเภทงานฝีมือที่ทำขึ้นจากผ้าไหมในตลาด CLMVT และตลาดโลก เพื่อขายให้แก่นักท่องเที่ยวที่เดินทางมาเที่ยวในภูมิภาคอาเซียน

เป็นการพัฒนาท่องเที่ยวเชื่อมโยงกับการกระจายรายได้สู่ท้องถิ่น ผ้าไหม ถือเป็นงานฝีมือที่มีอัตลักษณ์ประจำท้องถิ่นในแต่ละชุมชนในประเทศ CLMVT มีเหมือนกัน ดังนั้น การยกระดับผ้าไหม ตอบโจทย์ของการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน และชูอัตลักษณ์ วัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ ประเพณีอันดับงามของกลุ่มได้