'สมาร์ท เวิร์คเพลส' เทรนด์ร้อนรับคนพันธุ์ดิจิทัล

'สมาร์ท เวิร์คเพลส' เทรนด์ร้อนรับคนพันธุ์ดิจิทัล

ผลวิจัยโดยบริษัทวิจัย “ไอดีซี” ร่วมกับ “เลอโนโว” เผยว่า เมื่อถึงปี 2563 จำนวนแรงงานในสถานที่ทำงานที่เป็นคนกลุ่มมิลเลนเนียลในภูมิภาคเอเชียยกเว้นประเทศญี่ปุ่นจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นกว่า 50%

ส่งผลทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสถานที่ทำงาน ขณะเดียวกันทักษะในการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ และความต้องการขององค์กรในการสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันจะช่วยผลักดันให้มีการใช้นวัตกรรมที่มีศักยภาพสูงต่างๆ ทั้ง เออาร์ วีอาร์ ปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) และหุ่นยนต์ 

ไอดีซีคาดว่าภายในปี 2563 ภูมิภาคนี้จะเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดในการเร่งให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ โดยมีมูลค่าสูงถึง 6 แสนล้านดอลลาร์ ทั้งการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจะสร้างบรรทัดฐานใหม่ในการเลือกซื้ออุปกรณ์และการประยุกต์ใช้ ตลอดจนการเสาะหาและเชื่อมโยงกับข้อมูลต่างๆ

สำหรับเทรนด์เทคโนโลยีที่สำคัญ ภายในปี 2562 จะมีองค์กร 20% จาก 1,000 บริษัทใช้บริการไอทีรูปแบบดีไวซ์แอสอะเซอร์วิส(DaaS) และ 1% จะมีการประยุกต์ใช้บริการดีเอเอเอสแบบครบวงจร ซึ่งถือเป็นบริการใหม่สำหรับนำเสนอโซลูชั่นตั้งแต่การให้บริการเช่าฮาร์ดแวร์ การบำรุงรักษาอุปกรณ์ การเปลี่ยนแปลงระบบ รวมทั้งเสริมคุณภาพการใช้อุปกรณ์ให้เหมาะสมกับค่าบริการรายเดือน

ปีเดียวกันดังกล่าว อุปกรณ์ 2 ใน 3 ที่ใช้ระบบปฏิบัติการวินโดว์ส 10 จะถูกควบคุมด้วยแนวทางการรักษาความปลอดภัยและควบคุมหลากหลายอุปกรณ์ผ่านการเชื่อมต่อจากอุปกรณ์ควบคุมตัวเดียว (UEM) ทุกๆ 1 ใน 3 องค์กรจะมีการจัดการไอทีทั้ง เดสก์ท็อป และอุปกรณ์เคลื่อนที่ ด้วยระบบปฏิบัติการเดียวกัน

นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงระบบดิจิทัล 40% จะเกิดขึ้นจากเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ ที่เพิ่มขีดความสามารถวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึก ทำให้เกิดโมเดลการดำเนินงานและการสร้างรายได้แบบใหม่ๆ ภายในปี 2563 มีการคาดการณ์ว่าบริษัท 1,000 แห่ง ในภูมิภาคเอเชียจะใช้นวัตกรรมแบบเปิดพัฒนาโครงการใหม่ๆ สัดส่วนงาน 15% เพื่อเพิ่มอัตราความสำเร็จเกินกว่า 50% ในการสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่

ที่น่าสนใจ มากกว่า 20% ของแรงงานจะใช้ประโยชน์เทคโนโลยีเออาร์ผ่านเดสก์ท็อป หรือ สมาร์ทโฟน เพื่อจัดการข้อมูลดิจิทัล ตอบโต้กับโลกภายนอก รวมทั้งสื่อสารกับเพื่อนร่วมงาน

ไทยไม่ตกเทรนด์

“จาริตร์ สิทธุ” ผู้จัดการประจำประเทศไทย ไอดีซี ประเมินว่า เทรนด์ในประเทศไทยสอดคล้องไปกับระดับเอเชีย ด้วยปัจจัยแวดล้อมที่ไม่ต่าง คนทำงานเป็นเจนวาย มิลเลนเนียล จากนั้นอีก 4-5 ปี เป็นเจนแซด ฉะนั้นหากสถานที่ทำงานไม่เปลี่ยนคนเหล่านี้ก็จะไม่อยากทำงาน อีกทางหนึ่งองค์กรต้องปรับตัวเพื่อให้ธุรกิจดำเนินต่อไปได้

ปัจจุบัน จำนวนคนกลุ่มมิลเลนเนียลในไทยมีอยู่เกิน 15 ล้านคน ทุกวันนี้เห็นว่าเร่ิมมีการนำเทคโนโลยีแมชีนเลิร์นนิ่ง เอไอ รวมถึงระบบอัติโนมัติมาปรับใช้ ส่วนโมเดลการใช้งานรูปแบบดีไวซ์แอสอะเซอร์วิสเริ่มเห็นบางส่วน กลุ่มที่มีความเคลื่อนไหวแรกๆ มักเป็นองค์กรขนาดใหญ่

"ระยะสั้น 2-3 ปี คาดว่าการลงทุนสมาร์ทเวิร์คเพลสต้องมากขึ้น มีส่วนส่งเสริมการลงทุนไอทีในภาพรวม ไม่ใช่แค่พีซี ยังมีดีไวซ์อื่นๆ ซึ่งต่อคนอาจใช้ได้ถึง 5 ดีไวซ์ โดยรวมความเป็นไปได้จะเกิดขึ้นหากผู้บริหารให้ความร่วมมือ หรือ เป็นผู้นำ"

ไอดีซีแนะว่า เพื่อคงขีดความสามารถในการแข่งขัน ในปี 2561 และในอนาคต ผู้ประกอบการจำเป็นต้องใช้แนวคิดแบบองค์รวมเพื่อสร้างสำนักงานที่มีความชาญฉลาดในทุกแง่มุม ทั้งด้านทางกายภาพวัฒนธรรมองค์กร และเทคโนโลยี นอกจากนี้องค์กรจำเป็นต้องตระหนักถึงความท้าทายในการบริหาร การเปลี่ยนแปลงซึ่งต้องอาศัยการร่วมมือของผู้คนหลากหลายระดับ เพื่อนำพาองค์กรไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัล ภายใต้การเปลี่ยนแปลงสำคัญ 5 ประการ ประกอบด้วย 1.การเปลี่ยนแปลงระบบปฏิบัติการ 2.การเปลี่ยนแปลงข้อมูล 3.การเปลี่ยนแปลงระบบผู้นำ 4.การเปลี่ยนแปลงการเชื่อมโยงประสบการณ์ 5.การเปลี่ยนแปลงวิธีการเข้าถึงข้อมูล

ไอดีซีคาดการณ์ว่า ยอดขายโน้ตบุ๊คองค์กรในไทยเติบโตเฉลี่ย 2-3% ต่อปี ปี 2560 จะมียอดขาย 2.3 แสนเครื่อง เติบโตจากปีก่อนหน้า 12% ส่วนปี 2561 ประมาณ 2.1 แสนเครื่อง ลดลง 9% สาเหตุเนื่องจากมีการซื้อล่วงหน้า อานิสงส์โครงการประชารัฐของรัฐบาล

หนุนองค์กรลงทุนไอที

“ธเนศ อังคศิริสรรพ” ผู้จัดการทั่วไป ประจำภูมิภาคอินโดจีน เลอโนโว กล่าวว่า สำนักงานยุคใหม่อุปกรณ์ทำงานต้องยืดหยุ่น เอื้อการใช้เชิงโมบิลิตี้ เร็วขึ้น บางเบาขึ้น แรงขึ้น ขณะเดียวกันมีความปลอดภัย เป็นไปได้ที่ต่อไปพื้นที่สำนักงานจะลดลง 30% และเปลี่ยนไปทำงานแบบโมบายออฟฟิศ หรือนอกสถานที่มากขึ้น

ปัจจุบัน ทิศทางการลงทุนไอทีของลูกค้า เปลี่ยนไปสู่รูปแบบแอสอะเซอร์วิสมากขึ้น การลงทุนไอทีในไทยมีแนวโน้มขยายตัวไม่หยุด ปัจจัยบวกจากเทรนด์ดังกล่าว รวมถึงนโยบายการลดหย่อนภาษีสำหรับการลงทุนสินทรัพย์ซึ่งรวมไปถึงผลิตภัณฑ์ด้านไอที โดยกลุ่มที่มีการลงทุนมาต่อเนื่อง เช่น บริษัทข้ามชาติ 

ผู้บริหารเลอโนโวชี้ว่า สิ่งสำคัญคือ ผู้ประกอบการต้องมองข้ามระบบการทำงานพีซีแบบเดิมๆ เพื่อสร้างประสบการณ์การทำงานอย่างชาญฉลาดตรงตามความต้องการของพนักงานพร้อมกันนี้ ตอบสนองความต้องการในการทำงานสมัยใหม่ ด้วยอุปกรณ์เจเนอร์เรชั่นใหม่ๆ เพื่อสร้างความมั่นใจถึงประสิทธิภาพและมาตรฐาน

ดังนั้น ไอทีจึงไม่ใช่เพียง “เทคโนโลยีสารสนเทศ” แต่เป็น “การเปลี่ยนแปลงอย่างชาญฉลาด” ขับเคลื่อนด้วยบิ๊กดาต้า คลาวด์ ระบบเทคโนโลยี โดยสภาวะการทำงานที่ชาญฉลาดเกิดขึ้นจากการใช้อุปกรณ์ทุกส่วนอย่างมีประสิทธิภาพ ระบบคลาวด์สามารถเชื่อมต่ออุปกรณ์ต่างๆ เข้าไว้ด้วยกัน ทั้ง พีซี แทบเล็ต สมาร์ทโฟน ลำโพงอัจฉริยะ สมาร์ททีวี และ เออาร์ วีอาร์เพื่อส่งมอบข้อมูล บริการ และประสบการณ์ที่ดีที่สุด เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ทำให้การทำงานมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

“เป็นช่วงเวลาที่น่าตื่นเต้น ยุคของการเปลี่ยนทางด้านประชากรศาสตร์ โดยมีเทคโนโลยีเป็นตัวขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงโลกธุรกิจ ตลอดจนวิถีการทำงานในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า"

ส่วนกลยุทธ์ของเลอโนโว มุ่งรักษาผู้นำในตลาดพีซี บุกหนักผลิตภัณฑ์เซิร์ฟเวอร์สำหรับองค์กรธุรกิจ พร้อมบุกเบิกตลาดใหม่ๆ กลุ่มสมาร์ทดีไวซ์ ขณะนี้เริ่มนำผลิตภัณฑ์เออาร์และวีอาร์เข้ามาทำตลาด ทั้งมีการเสริมทัพทีมงานเพื่อดูแลลูกค้าองค์กร จัดกลุ่มลูกค้าอย่างชัดเจน ทำงานร่วมกับพันธมิตรซอฟต์แวร์ ด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์ต้องสอดคล้องไปตามเทรนด์การใช้งาน รูปแบบมีความหลากหลายมากขึ้น