สวทช.ทะลุเป้าโกยรายได้จากวิจัยเกือบ 2 พันล้าน

สวทช.ทะลุเป้าโกยรายได้จากวิจัยเกือบ 2 พันล้าน

รายได้จากการวิจัย 1,961 ล้านบาทในปี 60 จากเป้าหมาย 1,830 ล้านบาทเป็นผลจากการทำงานของ สวทช. ที่เดินหน้าเต็มกำลังวิจัยพัฒนาตอบโจทย์ทุกภาคส่วน

รายได้จากการวิจัย 1,961 ล้านบาทในปี 60 เป็นผลจากการทำงานของ สวทช. ที่เดินหน้าเต็มกำลังวิจัยพัฒนาตอบโจทย์ทุกภาคส่วน และเตรียมพร้อมที่จะก้าวสู่ปี 61 มุ่ง 5 ด้าน ทั้งอาหารเพื่ออนาคต, ระบบขนส่งสมัยใหม่, การสร้างสุขภาพและคุณภาพชีวิตคนไทย, เคมีชีวภาพและเชื้อเพลิงชีวภาพ และนวัตกรรมเพื่อการเกษตรยั่งยืน เสริมแกร่งภาคอุตฯ เคลื่อนประเทศสู่ไทยแลนด์ 4.0 

"ตลอด 1 ปีที่บริหารงานเป็นช่วงที่ สวทช. ได้รับโอกาสในการทำงานหลายๆ เรื่องจากรัฐบาล โดยเฉพาะการมีส่วนร่วมผลักดันระบบวิจัยของประเทศอย่างเข้มข้น จนเกิดแผนยุทธศาสตร์วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ 20 ปี และเป็นที่น่ายินดีว่าในรอบปีที่ผ่านมา ผลงานที่ สวทช. ทำมาอย่างต่อเนื่องมีผลงานและตอบสนองความต้องการของภาคเกษตร บริการ และภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ได้เป็นที่น่าพอใจ เกิดเป็นผลงานที่จับต้องได้ และพร้อมใช้" ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวภายในการแถลงผลงาน สวทช. 

ในปี 2560 สวทช. มีเป้าหมายการสร้างรายได้จากการวิจัยที่ 1,830 ล้านบาท เป็นที่น่ายินดีว่าผลการทำงานอย่างหนัก ทำให้ สวทช. สามารถสร้างรายได้จากการวิจัย ได้ถึง 1,961 ล้านบาท โดยมีที่มาที่ไปของรายได้จากการวิจัยหลายประเด็น ได้แก่ ด้านการสนับสนุนการวิจัยและพัฒนา ในปีงบประมาณ 2560 สวทช. มีการยื่นขอจดสิทธิบัตร 301 รายการ และมีผลงานตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติ จำนวน 578 ฉบับ ซึ่งในจำนวนนี้มีผลงานตีพิมพ์ที่มี Impact Factor ระดับ 34 ที่ถือว่าสูงมาก จำนวน 1 ฉบับ  หากนับรวม 4 ปี ที่ผ่านมา สวทช. มีบทความตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติแล้ว 2,035 ฉบับ โดยผลงาน 1 ใน 3 ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการนานาชาติชั้นนำของโลก รวมถึงได้รับการนำไปใช้อ้างอิงในทางวิชาการสูงกว่าค่าเฉลี่ยภาพรวมของประเทศ 

สำหรับการถ่ายทอดเทคโนโลยี สวทช. มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีไปสู่การใช้ประโยชน์จำนวน 255 โครงการ ให้กับ 311 หน่วยงาน สร้างผลกระทบด้านเศรษฐกิจและสังคม 27,546 ล้านบาท เกิดการลงทุนด้าน วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมของภาคการผลิตและบริการ จำนวน 9,456 ล้านบาท ซึ่งมีทั้งการรับจ้างวิจัย การร่วมวิจัย การขาย IP รวมทั้งการให้คำปรึกษาต่างๆ ด้วย

ด้านการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย โดย สวทช. ใช้ศักยภาพของโปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม หรือ ITAP ส่งผู้เชี่ยวชาญทำงานร่วมกับผู้ประกอบการ จำนวน 1,551 โครงการ มูลค่าผลกระทบ 2,573 ล้านบาท ซึ่งหากมองถึงผลกระทบจากการลงทุน มีการประมาณการตัวเลขผลกระทบด้านการลงทุน โดย มหาวิทยาลัยหอการค้า เมื่อปี 2559 ระบุว่าทุก 1 บาท ที่ภาคเอกชนลงทุนก่อให้เกิดผลกระทบประมาณ 7.64 บาท หรือ 7 เท่า ในระยะเวลา 1 ปี

โครงการหิ้งสู่ห้าง 30,000 บาท ทุก IP ในปี 2560 มีผู้ขอรับถ่ายทอดเทคโนโลยีกว่า 306 รายการ ในขณะที่โครงการสร้างผู้ประกอบการธุรกิจเทคโนโลยีนวัตกรรมใหม่ หรือ Start-up Voucher ซึ่ง สวทช. ให้เวาเชอร์ประมาณ 800,000 บาทต่อโครงการ ได้สนับสนุนเงินด้านการตลาด 82 ราย มูลค่า 60 ล้านบาท สร้างรายได้ 80 ล้านบาท  โครงการภาษี 300% นี้ ในปี 2560 รับรอง 400 โครงการ ซึ่งได้การตอบรับอย่างดีจากภาคเอกชน ในส่วนของบัญชีนวัตกรรมนั้น มีผู้ยื่นขอขึ้นบัญชีนวัตกรรมรวมทั้งสิ้น จำนวน 326 รายการ รับรองโดยคณะกรรมการฯ 136 รายการ โดยสำนักงบประมาณ ได้ประกาศขึ้นบัญชีนวัตกรรม แล้วจำนวนทั้งสิ้น 105 โครงการ โดยสินค้าที่ได้รับการขึ้นบัญชีนวัตกรรมไทยได้รับการยอมรับจาก regulators ทั้งประเทศ มียอดการจัดซื้อจัดจ้างทั้งสิ้น 487 ล้านบาท (สำรวจ ณ เดือนมกราคม 2559 - พฤษภาคม 2560)

นอกจากนี้อีกพันธกิจหนึ่ง ในปีงบประมาณ 2560 สวทช. มีหน่วยงานน้องใหม่ คือ สถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร (สท.) ซึ่งปีที่ผ่านมาได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับเกษตรกร 220 ชุมชน ใน 45 จังหวัด โดยครอบคลุมเทคโนโลยีหลัก 36 เรื่อง 

"จากรายได้ที่เราขยายเป้าเพิ่มระหว่างปี 2560 เราเชื่อว่า ในปี 2561 ที่จะถึงนี้ สวทช. จะเกิดรายได้ที่มากกว่า 2 พันล้านบาท ทั้งจากการรับจ้างวิจัย การร่วมวิจัยกับภาคเอกชน รวมถึงบริการทางเทคนิคต่างๆ ที่สำคัญ คือ การเพิ่มส่วนของการฝึกอบรมสำหรับภาคอุตสาหกรรมที่ต้องขยับสู่เทคโนโลยีใหม่ (Retrain) รวมถึงภาคเกษตรกรรมที่ต้องเปลี่ยนสู่เกษตรสมัยใหม่" ผู้อำนวยการสวทช. กล่าว