สมาร์ทแล็บออโตเมชั่น จุดสตาร์ทอุตสาหกรรม 4.0

สมาร์ทแล็บออโตเมชั่น  จุดสตาร์ทอุตสาหกรรม 4.0

หุ่นยนต์สีขาวตัวป้อมสร้างสีสันในห้องแล็บอัจฉริยะ หุ่นยนต์ที่ใช้ในการทดลองปฏิกิริยากับมนุษย์ เพื่อพัฒนาเป็นหุ่นยนต์บริการหรือรักษาความปลอดภัยในอนาคต ที่จำเป็นต่อวิถีชีวิตและอุตสาหกรรมยุค 4.0 ขณะที่ความต้องการบุคลากรด้านหุ่นยนต์และออโตเมชั่นก็เพิ่มขึ้น

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยผนึกกำลังภาคเอกชนลงนามความร่วมมือ กับ บมจ.เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) เปิด “สมาร์ทแล็บอัจฉริยะ” (Delta Industrial Automation Smart Laboratory) สนับสนุนการสร้างบุคลากรและงานวิจัยนวัตกรรมด้านออโตเมชั่น-หุ่นยนต์ ตลอดจนสตาร์ทอัพในรั้วมหาวิทยาลัย

เสริมศักยภาพคนรุ่นใหม่

ความร่วมมือระหว่างเดลต้ากับจุฬาฯ มีกรอบดำเนินงานคือ เดลต้าสนับสนุนทุนวิจัยและให้ใช้วัสดุอุปกรณ์หรือสิ่งก่อสร้างต่างๆ ในงานวิจัย รวมทั้งจัดส่งพนักงานผู้เชี่ยวชาญมาเป็นที่ปรึกษา ขณะที่จุฬาฯ จะดูแลด้านการวิจัยพัฒนาและถ่ายทอดองค์ความรู้ หากมีทรัพย์สินทางปัญญาที่เกิดจากความร่วมมือของทั้ง 2 ฝ่าย ก็จะร่วมหารือตกลงทำสัญญากันต่อไป

“มหาวิทยาลัยที่เป็นแหล่งผลิตบุคลากรป้อนภาคอุตสาหกรรมอาจตามไม่ทันเทคโนโลยีที่มาเร็วไปเร็ว จึงต้องการภาคเอกชนเข้ามาสนับสนุนอุปกรณ์เครื่องมือทันสมัยและให้การฝึกอบรม เพื่อช่วยเพิ่มศักยภาพปูพื้นฐานให้กับผู้เรียน” รศ.สุพจน์ เตชวรสินสกุล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ กล่าว

อุปกรณ์เครื่องมือทันสมัยและการฝึกอบรมจากเดลต้าภายในห้องแล็บอัจฉริยะ จะทำให้เกิดบูรณาการความรู้และการทำงานในระบบอุตสาหกรรมเข้าด้วยกัน โดยจะเป็นทั้งส่วนหนึ่งของวิชาที่นิสิตต้องเรียน และอาจเป็นห้องแล็บนอกเวลาที่สามารถเข้าใช้ได้ตามต้องการ ผ่านเนื้อหาความรู้ในรูปแบบอี-เลิร์นนิ่งที่จะจัดทำขึ้นด้วย

ด้วยจุดแข็งด้านหุ่นยนต์และออโตเมชั่น รศ.สุพจน์ กล่าวว่า หนีไม่พ้นหุ่นยนต์เพื่อสุขภาพ เช่น หุ่นยนต์ฟื้นฟูกล้ามเนื้อที่ช่วยผู้ป่วยอัมพฤกษ์อัมพาต ทำให้ความร่วมมือครั้งนี้จะขยายเครือข่ายไปยังมหาวิทยาลัยแห่งชาติไต้หวัน เพื่อสร้างศูนย์วิจัยและพัฒนาด้านปัญญาประดิษฐ์และหุ่นยนต์ขึ้นในจุฬาฯ

ข้อมูลจากสมาพันธ์หุ่นยนต์นานาชาติ (ไอเอฟอาร์) ประเมินว่า หุ่นยนต์ที่สามารถทำงานร่วมกับมนุษย์จะเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในอุตสาหกรรมกลุ่มยานยนต์ พลาสติก ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องจักรกล ล้วนเป็นภาคอุตสาหกรรมที่สำคัญของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

“หากจะก้าวสู่ยุค 4.0 ต้องมีเรื่องของปัญญาประดิษฐ์และแมชชีนเลิร์นนิ่ง ซึ่งทั้งเครื่องมือทันสมัยและบุคลากรที่เชี่ยวชาญจากเดลต้า จะช่วยให้นิสิตของเรามีพื้นฐานที่พร้อมพัฒนาต่อยอด เริ่มจากระบบออโตเมชั่นสู่หุ่นยนต์ และปัญญาประดิษฐ์ในอนาคต”

นอกจากนี้ จุฬาฯ และเดลต้า ยังร่วมมือกันเพื่อเปิด “เมกเกอร์สเปซ” พื้นที่สำหรับนักประดิษฐ์ นักวิจัยและสตาร์ทอัพ มาพบปะทำงานและสร้างสรรค์ผลงานร่วมกัน คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2561

“สำหรับอุปกรณ์ออโตเมชั่น 12 ตัวในแล็บอัจฉริยะนั้น อาจจะยังไม่พอ เราต้องการเครื่องมือที่มีความซับซ้อนมากขึ้น เช่น เครื่องมือควบคุมระบบวาล์วอัตโนมัติที่สามารถระบุปริมาณ เชื่อว่า ในอนาคตจะมีเครื่องมือใหม่ๆ ที่มีความซับซ้อนเพิ่มเข้ามาในแล็บ” รศ.สุพจน์ กล่าว

เอกชนเติมเต็มประสบการณ์จริง

อนุสรณ์ มุทราอิศ กรรมการบริหารของเดลต้า กล่าวว่า ขณะนี้ภาคอุตสาหกรรมต้องการวิศวกรด้านออโตเมชั่นฯ จำนวนมาก รวมถึงบุคลากรด้านการซ่อมบำรุง อย่างไรก็ตาม หากมองภาพรวมแล้ว บุคลากรด้านระบบออโตเมชั่นไม่ได้ขาดแคลนโดยเฉพาะในระดับปฏิบัติการ แต่สิ่งที่ขาดคือ บุคลากรที่จะพัฒนาต่อยอดระบบออโตเมชั่นให้มีประสิทธิภาพและทำประโยชน์ได้มากขึ้น

โครงการ Delta IA Smart Lab ที่เดลต้าร่วมมือกับหลายมหาวิทยาลัยโดย คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ เป็นแห่งที่ 5 วัตถุประสงค์เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้และทักษะด้านเทคโนโลยีออโตเมชั่น อีกทั้งเปิดโลกทัศน์ผู้เรียนซึ่งไม่เพียงเข้ามาเรียนรู้เท่านั้น แต่ส่งเสริมให้คิดวิเคราะห์และดัดแปลง ต่อยอดองค์ความรู้และพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

การพัฒนาเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่จะเป็นกำลังสำคัญในอุตสาหกรรม 4.0 ไม่เพียงแค่เป็นหน้าที่ของภาคการศึกษา แต่หากเดลต้าที่เป็นภาคเอกชนสามารถนำองค์ความรู้ ประสบการณ์ และบุคลากรผู้เชี่ยวชาญมาเสริมทัพ ก็จะช่วยให้บุคลากรไทยมีศักยภาพ พร้อมที่จะเพิ่มขีดความสามารถให้ประเทศต่อไป