เปิด 'จักรีนฤบดินทร์' สถาบันการแพทย์เพื่อภาคตะวันออก

เปิด 'จักรีนฤบดินทร์' สถาบันการแพทย์เพื่อภาคตะวันออก

โรงพยาบาลรามาธิบดีจักรีนฤบดินทร์ รองรับผู้ป่วยนอกได้ 1 ล้านรายต่อปี ผู้ป่วยใน 17,000 รายต่อปี ถือเป็นโรงพยาบาลรัฐขนาดใหญ่

คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี เปิดสถาบันการแพทย์แห่งใหม่ “สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์” อันเป็นโครงการตามแนวพระราชดำริด้านการสาธารณสุขของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ที่ทรงห่วงใยประชาชนทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ

สถาบันแห่งนี้ มีวัตถุประสงค์หลักในการผลิตแพทย์ พยาบาล นักกายภาพบำบัด และบุคลากรด้านสาธารณสุขที่มีความชำนาญเฉพาะทาง พร้อมกับการให้บริการด้านการรักษาพยาบาลแก่ประชาชนในพื้นที่

นพ.พงษ์ศักดิ์ โค้วสถิตย์ ผู้อำนวยการบริหารสถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ กล่าวว่า สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ เป็นการลงทุนที่ใช้เวลา และเงินจำนวนมาก ประกอบไปด้วย 3 ส่วนหลักคือ โรงพยาบาลรามาธิบดีจักรีนฤบดินทร์ โรงเรียนแพทย์ และอาคารที่พักอาศัยของบุคลากร เริ่มก่อสร้างขึ้นในปี 2555 ด้วยงบประมาณทั้งสิ้น 15,000 ล้านบาท

สถาบันแห่งนี้จะสร้างประโยชน์ให้กับประชาชนอย่างน้อยใน 3 เรื่อง คือ 1.ด้านการศึกษา 2.ในพื้นที่สมุทรปราการและใกล้เคียง ที่มีโรงงานจำนวนมาก จึงใช้โอกาสนี้ในการรักษาด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟู อาชีวอนามัย และ 3. เป็นแหล่งพัฒนาระบบการดูแลสุขภาพอย่างครบวงจร เช่น การเปิดคลินิก ที่ทำให้แพทย์หลายสาขาที่เกี่ยวข้องในกลุ่มโรค ได้ออกตรวจในเวลาเดียวกันเช่น ผู้ป่วยโรคเบาหวาน ที่มักมีโรคแทรกซ้อนอื่นๆ อยู่ด้วย

สถาบันการแพทย์แห่งนี้ ตั้งอยู่บนพื้นที่ 319 ไร่ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ ซึ่งนอกจากจะรองรับประชาชนในพื้นที่ภาคตะวันออก ซึ่งเป็นที่ตั้งของอุตสาหกรรมหนักแล้ว ยังต้องการสร้างบัณฑิตทางการแพทย์ เพราะในปัจจุบัน โรงพยาบาลรามาธิบดีมีผู้ป่วยเป็นจำนวนมาก และส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยที่มีโรคซับซ้อน จึงไม่เหมาะแก่การศึกษาของแพทย์ในระดับปริญญาตรี

“ลักษณะของผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลรามาธิบดี มีความซับซ้อนกว่า เนื่องจากเปิดให้บริการมานานกว่า จึงมีเครื่องมือรักษาโรคที่ซับซ้อนและหลากหลายกว่า และยังมีแพทย์ที่เชี่ยวชาญในทุกสาขา แต่ไม่ตอบโจทย์การศึกษา เพราะงานบริหารองค์กรเน้นในเรื่องการรักษาพยาบาล ขณะที่สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ มีการรักษาที่ยังซับซ้อนน้อยกว่า แต่เมื่อเทียบเคียงกับโรงพยาบาลในพื้นที่โดยรอบก็นับได้ว่า สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์มีความพร้อมไม่น้อยหน้าสถานพยาบาลอื่นๆ”

นพ.พงษ์ศักดิ์ ระบุด้วยว่า สถาบันการแพทย์ เน้นการศึกษามากกว่าการรักษา แต่เนื่องจากการศึกษาที่ต้องผลิตบัณฑิต จึงต้องมีโรงพยาบาลดำเนินงานควบคู่ เพื่อใช้เป็นสถานที่ฝึกกับนักศึกษา

นอกจากนี้ เพื่อให้การรักษาตอบโจทย์มากที่สุด จึงมีสำรวจความต้องการของคนในพื้นที่ว่า การรักษาส่วนใดที่ยังขาดหายไปแล้วจึงนำมาประกอบกับการตัดสินใจในการกำหนดหลักสูตรการสอน

การสำรวจพบว่าในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม โรงงาน ที่ต้องทำงานกับเครื่องจักรที่มีเสียงดังจนส่งผลกระทบต่อความสามารถในการได้ยิน จึงมีการรักษาพร้อมกับจัดให้มีการเรียนการสอนแก่นักศึกษาหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาความผิดปกติของการสื่อความหมาย เพื่อให้การรักษาผู้ป่วยที่เกี่ยวข้องกับความผิดปกติทางการได้ยิน และการออกเสียงพูด พร้อมกับเน้นการรักษาด้านเวชศาสตร์ครอบครัว เวชศาสตร์ฟื้นฟู อาชีวอนามัยอีกด้วย ซึ่งเรื่องนี้ ถือเป็นจุดเด่นอีกอย่างหนึ่งของสถาบันแห่งนี้

ทั้งนี้ การดำเนินงานของสถาบันการแพทย์ จะอยู่ทั้งในรูปแบบของโรงพยาบาล โรงเรียนแพทย์ และ สถานที่วิจัย มีเป้าหมายผลิตบัณฑิตแพทย์ปีละ 212 คน บัณฑิตพยาบาลปีละ 250 คน บัณฑิตวิทยาศาสตร์สาขาวิชาความผิดปกติของการสื่อความหมายปีละ 50 คน ให้มีความเป็นเลิศด้านการศึกษา ด้วยการออกแบบหลักสูตร และออกแบบโรงพยาบาล สภาพแวดล้อมและทรัพยากรให้เอื้อต่อการเรียนรู้

คณาจารย์ได้ร่วมออกแบบแผนการเรียนการสอนแบบ 3C ประกอบด้วย 1.Competencybased Curriculum คือ การผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพ มีความเป็นผู้นำ เข้าใจระบบสาธารณสุขของประเทศ และมีศักยภาพสูงทางการวิจัย

2. Continuity of Care and Close Supervision คือ การพัฒนาหลักสูตร กระบวนการเรียนรู้ให้นักศึกษามีโอกาสได้ดูแลผู้ป่วยอย่างต่อเนื่องเหมือนในชีวิตจริง และ 3.Community Engagement การบริหารหลักสูตร ให้นักศึกษามีโอกาสเรียนรู้ชีวิตความเป็นอยู่ของคนในชุมชน มองเห็นปัญหาทางการแพทย์-สาธารณสุขของชุมชน และตระหนักถึงหน้าที่ในการร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลงของสังคมให้มีสุขภาวะอันดี

ในส่วนของการรักษาพยาบาลนั้น โรงพยาบาลรามาธิบดีจักรีนฤบดินทร์ เป็นอาคารสูง 7 ชั้น รองรับผู้ป่วยนอกได้ 1 ล้านรายต่อปี ผู้ป่วยใน 17,000 รายต่อปี ถือเป็นโรงพยาบาลรัฐขนาดใหญ่ มีการตรวจรักษาตั้งแต่โรคทั่วไปจนถึงโรคเฉพาะทาง เช่น การสวนหัวใจเพื่อขยายหลอดเลือดหัวใจในผู้ป่วยหัวใจขาดเลือด การผ่าตัดหลอดเลือดหัวใจ มีศูนย์อุบัติเหตุที่มีศักยภาพในการส่งตัวไปยังโรงพยาบาลรามาธิบดี พญาไท สำหรับผู้ป่วยที่ต้องการรักษาที่ซับซ้อนมากขึ้น

ขณะที่ พรรณสิรี คุณากรไพบูลย์ศิริ ผู้จัดการมูลนิธิรามาธิบดี ในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตน์ราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เปิดเผยว่า ทางมูลนิธิฯ เป็นศูนย์กลางการระดมทุนเพื่อก่อสร้างโครงการนี้ และโครงการอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งได้รับความช่วยเหลือ และสนับสนุนจากทุกฝ่ายเป็นอย่างดี จนสามารถดำเนินโครงการมาถึงช่วงสุดท้าย

ในขณะนี้ ยังมีรายการจัดซื้อเครื่องมือทางการแพทย์ที่จำเป็นและสำคัญต่อการรักษาที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งยังขาดงบประมาณอยู่อีก 2,000 ล้านบาท ที่จะมาเพิ่มเติมให้การดำเนินโครงการนี้สามารถเดินไปสู่เป้าหมายได้อย่างสมบูรณ์ โดยสามารถบริจาคสมทบทุนเข้ามูลนิธิรามาธิบดีฯ ได้ที่ ธ.ไทยพาณิชย์ บัญชีกระแสรายวัน สาขารามาธิบดี เลขที่ 026-3-05216-3 ธ.กรุงเทพ บัญชีกระแสรายวัน สาขาศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตน์ (รพ.รามาธิบดี) เลขที่ 090-3-50015-5 หรือเข้าชมรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.ramafoundation.or.th หรือ ติดต่อหมายเลข 02 201 1111