เปิด3สมมติฐาน 'พล.อ.ประวิตร' แจงปมฉาวแหวน-นาฬิกา?

เปิด3สมมติฐาน 'พล.อ.ประวิตร' แจงปมฉาวแหวน-นาฬิกา?

จับประเด็นร้อน..เปิด3สมมติฐาน "พล.อ.ประวิตร" แจงปมฉาวแหวน-นาฬิกา?


แม้จะเล่นบท “เตมีย์ใบ้” สำหรับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ “พี่ใหญ่บูรพาพยัคฆ์” ด้วยการงดจ้อสื่อชั่วคราว หลังงานเข้าจากกรณีฉาว “แหวนเพชรแทงตา-นาฬิกาสุดหรู”

แต่เรื่องนี้ดูท่าจะไม่จบง่ายๆ แม้คณะกรรมการ ป.ป.ช.ยุคนี้ จะมีสภาพไม่ต่างอะไรจาก “ลูกไก่ในกำมือ” ของรัฐบาล คสช. ตรวจสอบทุจริตที่เกี่ยวข้องกับผู้มีอำนาจในปัจจุบันไม่เคยสำเร็จเลยสักเรื่องก็ตาม

เพราะความยากของการหลุดพ้นจากพงหนาม ก็คือขั้นตอนที่ “ป๋าป้อม” จะชี้แจงเป็นเอกสารต่อ ป.ป.ช.ว่าอย่างไรนี่แหละ

“ล่าความจริง” สรุปสมมติฐานที่เป็นไปได้สำหรับคำชี้แจงของ พล.อ.ประวิตร ซึ่งคาดการณ์ได้เช่นกันว่า ไม่ว่าจะชี้แจงอย่างไร...เรื่องฉาวนี้ก็ไม่มีวันจบ

สมมติฐานแรก หาก พล.อ.ประวิตร ชี้แจงว่าทั้งแหวนเพชรและนาฬิกาเป็นของตนเอง แต่ที่ยังไม่ได้แจ้งบัญชีทรัพย์สินต่อ ป.ป.ช. เพราะได้มาหลังปี 2557 คือหลังรับตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมในรัฐบาล “นายกฯลุงตู่” สังคมก็จะขุดคุ้ยหาความจริงต่อว่า ราคาทรัพย์สินทั้งสองชิ้นนี้รวมกันเป็นเท่าไร และนำเงินจากที่ไหนมาซื้อ เพราะหากทรัพย์สินทั้งสองชิ้นราคาร่วมๆ 10 ล้านบาทหรือสูงกว่านั้น จะมีความสมเหตุสมผลแค่ไหนที่บุคคลผู้มีทรัพย์สินรวมทั้งหมดเพียง 87 ล้านบาทอย่างที่ พล.อ.ประวิตร เคยแจ้งไว้ต่อ ป.ป.ช.เอาไว้ จะกล้าซื้อหามาสวมใส่

สมมติฐานที่สอง หาก พล.อ.ประวิตร ชี้แจงว่า “แหวนเป็นของมารดา นาฬิกาเป็นของเพื่อน” ตามที่เป็นข่าว แบบนี้ในทางกฎหมายอาจมองได้ว่าพ้นผิด แต่สังคมอาจตั้งคำถามในแง่ที่ว่า เป็นการชี้แจงแบบ “ศรีธนญชัย” หรือเปล่า ที่สำคัญสังคมเชื่อหรือไม่ โดยเฉพาะนาฬิกาสุดหรูที่คาดว่าสนนราคาเรือนละเป็นล้าน หรือหลักสิบล้านบาท จะมีคนใจดีหยิบยื่นให้ยืมใส่จริงหรือ

ส่วนแหวนเพชรเม็ดงาม หากชี้แจงไม่ดีจะกลายเป็น “ลิ้นพันคอ” เพราะเจ้าตัวเคยให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนมาก่อนแล้วว่าเป็นของตนเองที่มีมาแต่เดิม จนเกิดคำถามว่า “แต่เดิม” นั้นคือเมื่อไร ก่อนปี 57 หรือไม่ ถ้าก่อนปี 57 ทำไมไม่แจ้งบัญชีทรัพย์สิน แล้วถ้าได้มาหลังปี 57 และเป็นของตนเอง ก็จะถูกถามต่ออีกว่าเอาเงินที่ไหนมาซื้อ

จะว่าไปคำตอบที่ปลอดภัยที่สุดในขณะนี้ ซึ่งอาจอนุมานได้ว่าเป็น “สมมติฐานที่สาม” คือเป็นทรัพย์สินที่ได้มาหลังปี 57 แหวนเพชรเป็นแหวนของตระกูล แต่ยังไม่เป็นมรดก เลยยังไม่ได้แจ้ง ซึ่งก็น่าจะพอฟังได้ แต่นาฬิกาหรูนี่สิหนักกว่า หากเพิ่งซื้อมาใส่ ก็จะถูกขุดคุ้ยว่าราคาเท่าไร ซื้อจากใคร ซื้อเองจริงหรือไม่ เพราะนาฬิกายี่ห้อนี่มีตัวแทนจำหน่ายเพียงรายเดียวในประเทศไทย เช็คหาต้นตอได้ไม่ยาก

สืบไปสืบมา หากเข้าข่ายเป็นของกำนัลหรือของขวัญ ก็เสี่ยงเป็นความผิดตามกฎหมาย ป.ป.ช. มาตรา 103 ว่าด้วยการรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดในราคาเกิน 3,000 บาทอีกด้วย

ยิ่งไปกว่านั้น คำถามที่แหลมคมกว่าการเชื่อหรือไม่เชื่อของสังคม ก็คือ ป.ป.ช.มีสิทธิ์เชื่อคำชี้แจงแบบที่ตั้งสมมติฐานมานี้หรือไม่ เพราะล่าสุด วิลาศ จันทร์พิทักษ์ มือปราบทุจริตจากค่ายประชาธิปัตย์ ก็ออกมาบอกว่า ถ้า ป.ป.ช.เชื่อคำชี้แจงแบบนี้ คงต้องยุบ ป.ป.ช.ก่อนเลย

และที่สำคัญจะกลายเป็นประเด็นสองมาตรฐานต่อไปว่า เหตุใดบัญชีทรัพย์สินของคนอื่นถึงถูกตรวจแบบถี่ยิบ ซุกเก่งอย่างไรก็ไม่รอดมือ ป.ป.ช. ไม่ว่าจะกรณีซุกเงินกู้ของ “เสธ.หนั่น” พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ อดีตเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ หรือกรณีซุกหุ้นข้ามโลกของอดีตนายกฯทักษิณ ชินวัตร ก็ตาม

ที่ประมาทไม่ได้คือกระแสสังคม ซึ่งเป็นจุดอ่อนของรัฐบาลทหารที่ยังคิดว่าสังคมไม่มีพลังมากพอ ทั้งๆ ที่การแสดงตนว่า “ร่ำรวย” ของผู้มีอำนาจทางการเมือง ย่อมเสี่ยงที่จะถูกตีตราว่า “ร่ำรวยผิดปกติ” หนำซ้ำยังร่ำรวย ฟุ้งเฟ้อ ฟู่ฟ่า ในห้วงเวลาที่บ้านเมืองกำลังข้าวยากหมากแพง เศรษฐกิจฝืดเคือง แม้ตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจจะดีขึ้น แต่ก็ได้ประโยชน์แค่คนบางกลุ่มบางเซคเตอร์ ที่แย่คือ เอสเอ็มอี กับชาวบ้านตาดำๆ...

แล้วจะยังให้พวกเขาทนเห็นเสนาบดีรวยเอาๆ สวมเครื่องประดับราคาแพงเป็นสิบล้านตำตาได้จริงๆ หรือ?