ประชาคมวิจัยสกว.ภาคอีสาน ร่วมสารพลังพัฒนาประเทศไทย4.0

ประชาคมวิจัยสกว.ภาคอีสาน ร่วมสารพลังพัฒนาประเทศไทย4.0

"ศ.นพ.สุทธิพันธ์" นำทีมผู้บริหาร สกว. พบประชาคมวิจัยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รับฟังความคิดเห็นก่อนประกาศใช้ยุทธศาสตร์บริหารจัดการทุนวิจัยและบริหารองค์กร ให้ตอบสนองต่อทิศทางการพัฒนาประเทศไทย 4.0

เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2560 ที่ผ่านมา ศ.นพ.สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) นำทีมผู้บริหาร ร่วมประชุม "สกว.สัญจรพบประชาคมวิจัย : ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ" เพื่อรับพังความคิดเห็นต่อร่างยุทธศาสตร์ฉบับใหม่ พ.ศ.2560-2564 ที่โรงแรมอวานี จ.ขอนแก่น ซึ่งเป็นเวทีที่ 3 ถัดจากเวทีรับฟังความคิดเห็นประชาคมวิจัยภาคกลาง จ.กรุงเทพฯ และ ประชาคมวิจัยภาคเหนือ จ.เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 15 และ 29 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา 

โดยมีคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัย และ สถาบันการศึกษา ตลอดจนภาครัฐ ภาคเอกชน นักวิจัยอิสระ นักวิจัยเพื่อท้องถิ่น เข้าร่วมการประชุมอย่างพร้อมเพียง โอกาสนี้ ผู้อำนวยการ สกว. กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการจัดการประชุมในครั้งนี้ว่า สกว. ได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์ขึ้น เพื่อเป็นกรอบแนวทางในการบริหารจัดการทุนวิจัย และบริหารองค์กรตอบสนองต่อทิศทางการพัฒนาประเทศ โดยมีเป้าหมายสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี, แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12, ยุทธศาสตร์การวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ 20 ปี และนโยบายประเทศไทย 4.0          

โดยขับเคลื่อนผ่าน 5 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ 1) สนับสนุนและบริหารจัดการงานวิจัยและพัฒนาในประเทศ พร้อมมุ่งสร้างองค์ความรู้ใหม่และนวัตกรรมที่ก้าวนำการเปลี่ยนแปลงของโลก สร้างนโยบายและต้นแบบการพัฒนาชุมชนท้องถิ่น และประเทศ เพื่อเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน 2) สร้างนักวิจัยใหม่และพัฒนาศักยภาพนักวิจัย บุคลากร เครือข่ายและองค์กรวิจัยในทุกระดับให้เข้มแข็ง 3) สนับสนุนการพัฒนาระบบวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ โดยร่วมปฏิรูประบบวิจัย และบูรณาการ กับหน่วยงานบริหารงานวิจัย และหน่วยงานสนับสนุนทุนวิจัยในทุกภาคส่วน ตลอดจนพัฒนาความร่วมมือกับหน่วยบริหารงานวิจัยนานาชาติ 4) บริหารจัดการผลงานวิจัยให้นำไปใช้ประโยชน์ และสื่อสารสังคมจนเกิดผลกระทบในการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม รวมถึงพัฒนาระบบการติดตามและประเมินผลลัพธ์ ผลกระทบของงานวิจัย 5) พัฒนาและออกแบบสถาปัตยกรรมองค์กรเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลง          

"การดำเนินงานเพื่อจัดทำแผนยุทธศาสตร์ครั้งนี้ เป็นเวทีนำเสนอร่างยุทธศาสตร์ฉบับใหม่ของสกว.ซึ่งทุกความเห็นของคณะผู้บริหาร นักวิจัย และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากทุกภาคส่วนคณะกรรมการนโยบายฯ และคณะกรรมการประเมินผลฯ ผู้บริหาร และพนักงาน สกว.จะถูกนำไปวิเคราะห์ พิจารณาให้แผนมีความสมบูรณ์ และตอบสนองต่อการทำงานร่วมกันของภาคี เครือข่ายอย่างมีประสิทธิภาพ และกว้างขวางต่อไป"

งานเดียวกันนี้ อาจารย์ ดร.วีระ ภาคอุทัย คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า เพื่อเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการผลิตบุคลากรทางการวิจัยของประเทศจึงขอเสนอแนะให้มีการแบ่งกลุ่มนักวิจัยไว้ 3 ระดับ คือ นักวิจัยรุ่นใหม่ นักวิจัยรุ่นกลาง และนักวิจัยอาวุโส อย่างไรก็ดีสำหรับการแบ่งกลุ่มดังกล่าวจะช่วยให้เกิดการแลกเปลี่ยนความเห็นต่อประเด็นการวิจัยระหว่างกัน ซึ่งเป็นผลดีทั้งนักวิจัย และ ตัวงานวิจัย เพราะ สกว. จะได้งานวิจัยเชิงลึก และเครื่องมือที่จะช่วยหนุนเสริมกระบวนการทำงานของนักวิจัยรุ่นใหม่อีกทางหนึ่ง 

เช่นเดียวกับ ศ.ดร.โสพิศ วงศ์คำคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า การสร้างนักวิจัยและการพัฒนาศักยภาพนักวิจัย โดยหลักจะตรงกับฝ่ายวิชาการ ในปัจจุบัน โดยเฉพาะเรื่องการสนับสนุนและการรับทุน ซึ่งถือว่าเป็นกลุ่มสาขาของคนเก่ง และมีผู้ประสงค์ต่อทุนวิจัยด้านดังกล่าวเป็นจำนวนมากทำอย่างไรทุนวิจัยด้านนี้จะเพียงพอ และตรงกับความต้องการของประเทศจริงๆ อีกประการการพัฒนานักวิจัยเป็นเรื่องสำคัญ ตนคิดว่าควรเริ่มพัฒนานักวิจัยตั้งแต่นักเรียนชั้นมัธยม สายวิทยาศาสตร์ เพราะตามที่สังเกต พบว่านักวิจัยสายวิทยาศาสตร์มีจำนวนน้อยลงและคุณภาพแย่ลงไปด้วย นอกจากเรื่องของการสร้างนักวิจัย ในส่วนนี้อยากจะฝากถึงระบบการจัดการโครงการวิจัย ทั้งเรื่องการจัดทำเอกสารทางการเงิน หรือ การทำธุรกรรม เนื่องจากเรื่องเหล่านี้ นักวิจัยไม่มีความชำนาญ