‘อีริคสัน’ ชี้ใน 6 ปี 5จีจ่อคิวฮิตตลาดไทย

‘อีริคสัน’ ชี้ใน 6 ปี 5จีจ่อคิวฮิตตลาดไทย

รายงาน “อีริคสัน โมบิลิตี้ รีพอร์ท” ฉบับล่าสุด โดย “อีริคสัน” ระบุว่า ภายในปี 2566 หรือ 6 ปีนับจากนี้ จะมีการใช้งานเทคโนโลยี 5จี อย่างแพร่หลายครอบคลุมถึงกว่า 20% ของประชากรโลก หรือ จำนวนกว่า 1 พันล้านราย

ทั้งนี้ เพื่อยกระดับการใช้งานอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงบนเครือข่ายโมบายบรอดแบนด์ที่มีประสิทธิภาพสูงมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม จุดเริ่มต้นจะมาจากพื้นที่เมืองที่มีประชากรหนาแน่น โดยเครือข่ายแรกที่เปิดให้ใช้งานเชิงพาณิชย์จะเริ่มในปี 2562 และแพร่หลายมากขึ้นตามลำดับในปี 2563 ประเทศที่จะมีการใช้งานในกลุ่มแรกๆ ได้แก่สหรัฐ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และจีน

เบื้องต้น ภายในปี 2560 แอลทีอี จะกลายเป็นเสาหลักเทคโนโลยีการเชื่อมต่อเครือข่ายเคลื่อนที่ โดยคาดว่าการสมัครใช้บริการจะมีกว่า 5.5 พันล้านราย ครอบคลุมกว่า 85% ของประชากรโลกภายในสิ้นปี 2566

ขณะที่ หลังจากที่มีการนำเทคโนโลยีสัญญาณเสียงโทรศัพท์ผ่านอินเตอร์เน็ต หรือ วอยซ์ โอเวอร์ แอลทีอี (Voice over LTE ; VoLTE) ไปใช้แล้วบนกว่า 125 เครือข่ายในกว่า 60 ประเทศทั่วโลก คาดว่าจะมีผู้สมัครใช้บริการถึง 5.5 พันล้านรายภายในสิ้นปี 2566 ซึ่งจะครอบคลุมกว่า 80% ของปริมาณผู้สมัครใช้งานแอลทีอีและ 5จี รวมกัน

จับตาความเคลื่อนไหวไทย

“นาดีน อัลเลน” ประธานบริษัท อีริคสัน (ประเทศไทย) จำกัด ให้ข้อมูลว่า สำหรับประเทศไทย ระหว่างปี 2560 ถึงปี 2566 ปริมาณผู้สมัครใช้บริการ แอลทีอี/5จี จะเติบโตเพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่า จำนวน 69 ล้านราย หรือ คิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 60% ของผู้สมัครใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ทั้งหมด 115 ล้านราย จากปัจจุบันปี 2560 อยู่ที่ประมาณ 95 ล้านราย

ส่วนจำนวนผู้ใช้งานสมาร์ทโฟน ภายในปี 2566 จะเพิ่มไปถึง 100 ล้านราย หรือคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 87% ของผู้สมัครใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ทั้งหมด จากปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 65 ล้านราย หรือคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 68% ของผู้สมัครใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ทั้งหมด

ผลการวิจัยข้อมูลจากแอพแอนนี่ (App Annie) ของอีริคสัน พบด้วยว่าปริมาณผู้สมัครใช้บริการแพ็คเกจข้อมูล(ดาต้า)ในประเทศไทย 12 เดือนที่ผ่านมามีการเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยมีผู้สมัครใช้บริการมากกว่า 5 กิกะไบต์ต่อเดือนเพิ่มขึ้นจาก 49% เป็น 66%

หนุนรายได้โอเปอร์เรเตอร์

ประธานอีริคสันเปิดมุมมองว่า ด้านโอกาสทางธุรกิจในปีเดียวกันดังกล่าว เทคโนโลยี 5จี จะมีส่วนสำคัญช่วยให้รายได้ของผู้ให้บริการเครือข่ายในไทยเติบโตเพิ่มขึ้นได้ถึง 22% หรือมูลค่า 2.6 พันล้านดอลลาร์ ดังนั้นผู้ให้บริการเครือข่ายรวมถึงภาครัฐ ควรเตรียมความพร้อมที่จะนำศักยภาพของเทคโนโลยี 5จี มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ผู้บริโภคและผู้ประกอบการ

ส่วนในระดับโลกช่วยสร้างการเติบโตของรายได้เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 36% จากการนำไปใช้เพื่อสนับสนุนบริการด้านดิจิทัลแบบไร้สาย ในหลากหลายอุตสาหกรรมทั้งการเงินการธนาคาร การเกษตร การผลิต พลังงาน ภาครัฐ การขนส่ง เฮลธ์แคร์ ค้าปลีก สื่อและบันเทิง และยานยนต์

อีริคสันบอกว่า การพัฒนาไปสู่ 5 จี ไม่จำเป็นต้องลงทุนด้านฮาร์ดแวร์ใหม่ทั้งหมด ส่วนสำคัญคือการอัพเดทซอฟต์แวร์ มีการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ ไปปรับใช้ เช่นคลาวด์ เน็ตเวิร์ค เวอร์ชวลไลเซชั่น รวมถึงซอฟต์แวร์ ดีไฟน์ เน็ตเวิร์ค

อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่า ความพร้อมด้านคลื่นความถี่ของไทยยังไม่เพียงพอ ทางคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และ กิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จำต้องจัดสรรเพิ่ม อีกทางหนึ่งตลาดจะเกิดไม่ได้หากขาดการพัฒนาความพร้อมอีโคซิสเต็มส์ควบคู่กันไป

วีดิโอตัวจักรขับเคลื่อน

ข้อมูลระบุว่า ในปี 2566 ปริมาณการรับส่งข้อมูลผ่านเครือข่ายเคลื่อนที่ทั่วโลกจะมีจำนวนเกิน 100 เอกซะไบต์ต่อเดือน ในช่วงเวลาเดียวกันนี้ มีการคาดการณ์ว่าปริมาณการใช้บริการข้อมูลผ่านเครือข่ายเคลื่อนที่จะเพิ่มขึ้นถึง 8 เท่า เทียบเท่ากับการชมวีดิโอสตรีมมิ่งความละเอียดสูงเป็นระยะเวลารวมถึง 5.5 ล้านปี

ปัจจุบัน ปริมาณการใช้งานข้อมูลบนเครือข่ายเคลื่อนที่นั้นเติบโตอย่างต่อเนื่องในทุกภูมิภาค โดยในอเมริกาเหนือมีการใช้งานรับส่งข้อมูลต่อสมาร์ทโฟนหนึ่งเครื่องเฉลี่ยสูงสุดอยู่ที่กว่า 7 กิกะไบต์ ต่อเดือนในสิ้นปี 2560

คอนเทนท์ประเภทวีดิโอยังคงเป็นปัจจัยหลักในการผลักดันปริมาณการใช้งานโมบายบรอดแบนด์ให้เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่ม “Young Millennials” ซึ่งอยู่ในช่วงอายุ 15-24 ปี โดยเฉลี่ยแล้วมีการรับชมคอนเทนท์ประเภทนี้มากกว่ากลุ่มคนช่วงอายุ 45 ปีขึ้นไปถึง 2.5 เท่า

นอกจากนี้ พบว่า การชมวีดิโอสตรีมมิ่งที่มีความละเอียดสูง และเทรนด์การบริโภคสื่อวีดิโอในรูปแบบที่ซับซ้อนมากขึ้น อาทิ วิดีโอแบบ 360 องศา มีผลโดยตรงต่อปริมาณการใช้งานรับส่งข้อมูล ที่ผ่านมาบนยูทูปใช้แบนด์วิธมากกว่าวีดิโอแบบปกติถึง 4-5 เท่า