ถอดรหัสคิด พิชิตใจนักลงทุน

ถอดรหัสคิด พิชิตใจนักลงทุน

สำหรับผมแล้วชอบฟังอยู่สองคำ คือสเกล และสปีด ที่สุดแล้วเงินทุนจะต้องช่วยเพิ่มสเกลและสปีด

อยากทำธุรกิจ แต่ไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไร? อยากทำธุรกิจ แต่ไม่มีเงินทุน? อยากทำธุรกิจ แต่ไม่รู้จะทำอะไร?

นี่คือคำค้นยอดนิยมบนกูเกิล หนึ่งในนั้นเป็นเรื่องเงินทุนปัญหาคลาสสิคที่ผู้ประกอบการทั้งหน้าใหม่ หน้าเก่า เป็นธุรกิจรายเล็กหรือรายใหญ่ต่างก็ต้องพบเจอ

เมื่อเร็ว ๆนี้บนเวทีสัมมนา “SEM-SME Synergy…ผนึกพลังของ SME วัยรุ่นกับ SME รุ่นเก๋า” ภายใต้ความร่วมมือของคณะการสร้างเจ้าของกิจการและบริหารจัดการ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ (BUSEM) กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทยและสมาคมศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยกรุงเทพ และ “คลัสเตอร์” ในหัวข้อ “SME..หาเงินทุนไม่ยากอย่างที่คิด” มีเนื้อหาที่น่าจะมีประโยชน์..ไม่มากก็น้อย

วิทยากรที่มาแชร์มุมมองในหัวข้อดังกล่าว ก็คือ “ดร.โกศล ทรัพย์ประเสริฐ” ที่โบกมือลาตำแหน่งผู้บริหารแบงก์ใหญ่ ก้าวออกมาเป็นผู้ประกอบการและเพิ่งเปิดตัว “เฮ็ดบอท” (Hbot) แพลตฟอร์มผลิตแชทบอทให้ทุกคนได้ใช้กันฟรี ๆ ซึ่งอีกหมวกหนึ่งเขาเป็นนักลงทุน เมื่อต้นปีที่ผ่านมาก็เพิ่งจัดตั้งกองทุนชื่อว่า “ยูนิคอร์น ออน เซ็น” และเริ่มลงทุนไปในหลาย ๆบริษัทแล้ว

"ความน่าสนใจของยูนิคอร์น ออน เซ็น จะมีมากกว่าการให้เงิน เนื่องจากมีผู้ประกอบการจำนวนไม่น้อยที่ต้องไปใช้พื้นที่ของโคเวิร์คกิ้งสเปซ เพราะไม่มีเงินจ่ายค่าเช่าออฟฟิศ แต่เราจะช่วยอำนวยความสะดวกในเรื่องต่าง ๆให้พวกเขาด้วย ไม่ว่าจะเป็นสเปซ หรือเทคโนโลยี  เราเข้าใจว่าธุรกิจเดี๋ยวนี้ต้องใช้สื่อทางไลน์ เฟสบุ๊คเพื่อเข้าถึงฐานลูกค้า ดังนั้นเราจะเอาความเก่งที่มีอยู่มาบวกเข้ากับเรื่องของเงินทุนเพื่อสร้างความสามารถให้กับผู้ประกอบการ"

เขาเปรียบว่า เงินทุนสำหรับสตาร์ทอัพเป็นเหมือน “รันเวย์” หรือทางที่ให้เครื่องบินวิ่งได้ระยะหนึ่งก่อนจะเทคออฟทะยานขึ้นสู่ท้องฟ้า

สำหรับเอสเอ็มอี เขาเปรียบเงินทุนเป็นเหมือน “ถนน” จะเป็นถนนในซอย หรือเป็นถนนซูเปอร์ไฮเวย์ก็ตามที แต่ที่สุดความเป็นถนนก็มีความเสี่ยงที่ต่ำกว่า เกิดความเสียหายที่น้อยกว่า ไม่ว่าอย่างไรรถก็วิ่งอยู่บนพื้นดิน และวิ่งต่อไปได้เรื่อยๆ ไม่เหมือนเครื่องบินที่ขึ้นไปอยู่บนท้องฟ้ากว้างเวิ้งว้าง

"นักลงทุนจะเป็นคนช่วยสร้างรันเวย์ และถนน ซึ่งการลงทุนในเอสเอ็มอีเหมือนจะมีความชัวร์ในระดับหนึ่ง เมคชัวร์ว่าเขาจะมีรายได้เข้ากระเป๋าอย่างแน่นอน ส่วนสตาร์ทอัพนั้นต่างไปเพราะวิธีการเติบโตตอนแรก ๆมักตกลงไปข้างล่างอยู่ต่ำ ๆก่อน พอถึงจังหวะก็ค่อยเทคออฟ"

สถานการณ์ในเวลานี้ นักลงทุนจึงแบ่งออกเป็น 2 ขั้ว คือขั้วที่ต้องการลงทุนในสตาร์ทอัพ และ ขั้วที่สนใจลงทุนในเอสเอ็มอี

สำหรับสตาร์ทอัพที่อยู่ในความสนใจของนักลงทุน จะเป็นพวก “Deep Tech” ทำเทคโนโลยียาก ๆ เช่น โรโบติกส์ ,โดรน , เอไอ หรือทำสายไบโอเทค หรือทำบล็อกเชน เป็นต้น

"ถ้าคิดเป็นสตาร์ทอัพธรรมดา ๆ ก็แนะนำว่าอย่าไปทำเลย คงไปถึงระดับยูนิคอร์นได้ยาก ถ้าจะทำก็ตั้งเป้าหมายให้สูง เพราะที่เป็นเรื่องจริงมาแต่ไหนแต่ไร ก็คือ เงินทุนมีอยู่เยอะมาก ตรงกันข้ามไอเดียดี ๆ สตาร์ทอัพดี ๆมีอยู่น้อย" 

จากประสบการณ์ของเขาที่เคยไปทำงานที่ซิลิคอนวัลเลย์มาพักใหญ่ ๆ ทำให้ได้เห็นว่า สตาร์ทอัพที่สามารถก้าวขึ้นสูงสู่ระดับยูนิคอร์นได้สำเร็จ ตัวอย่างเช่น อูเบอร์ สตาร์ทอัพอันดับหนึ่งของโลกและคนไทยก็รู้จักเป็นอย่างดีนั้น เกิดขึ้นจากทัศนคติของสตาร์ทอัพที่ตระหนักถึงการทำงานร่วมกัน แตกต่างไปจากคนไทยที่ต้องการเป็น “ซูเปอร์แมน” ชอบบินเดี่ยว ทำงานเป็นทีมไม่เป็น นอกจากนี้ยังต้องมีการเมิร์ซธุรกิจกันอีกด้วย

"ผมมีโอกาสไปเป็นคณะกรรมการในโครงการแข่งขันใหญ่ ๆของสตาร์ทอัพก็จะเห็นสตาร์ทอัพหน้าเดิม ๆ ไอเดียคล้าย ๆเดิม ที่เข้ามาแข่งในโครงการก็มักทำเรื่องที่ไม่สร้างความแตกต่างมากเท่าไหร่  ผมเองนั่งคุยกับเวนเจอร์แคป นักลงทุนทั้งหลายต่างก็บอกว่าเริ่มเบื่อไม่อยากลงทุนเพราะไม่เห็นมีอะไรแตกต่าง ผมจึงอยากบอกว่าถือเป็นโอกาสที่ดีของเอสเอ็มอี"

เอสเอ็มอีที่น่าสนใจ นักลงทุนอยากลงทุนต้องเป็นแบบไหน? แน่นอนต้องมี Cash flow ที่จับต้องได้ และควรทำธุรกิจที่อยู่ใกล้ตัวอยู่ในชีวิตประจำวัน นั่นคือ กิน เที่ยว ช้อป ในมุมมองของเขาการทำธุรกิจเหล่านี้ถ้าไม่เลวร้ายจนเกินไปถือว่ายากที่จะเจ๊ง

"หลักในการพิจารณาของผมก็ใช้เหมือนที่ใช้ประเมินสตาร์ทอัพ นักลงทุนมักมีสมการง่าย ๆอยู่หนึ่งสมการ ฝั่งขวาว่าด้วย sources of funds แหล่งเงินทุนมาได้จากหลายแหล่ง จากนักลงทุน จากพ่อแม่ หรือจากแบงก์ ส่วนฝั่งซ้ายเป็น uses of funds ไม่ว่าจะเอสเอ็มอี หรือสตาร์ทอัพหรือธุรกิจใหญ่ ๆก็ตาม เราก็ดูว่าเขาวางแผนเอาเงินไปทำอะไรบ้าง ในการทำธุรกิจส่วนใหญ่ก็มักเป็นเรื่องคน เรื่องออฟฟิศและระบบต่างๆ ซึ่งถ้าเป็นเอสเอ็มอีก็จะดูเพิ่มในเรื่องมาร์เก็ตติ้งว่าเอาเงินไปใช้แบบเมคเซนส์หรือเปล่า"

อย่างไรก็ตาม โดยทั่วไปการได้มาซึ่งเงินทุนต้องมีการยื่นหมูยื่นแมว ผู้ประกอบการต้องเอา “หุ้น” มาแลก “เงิน”"แต่ต้องเน้นเรื่องสเตทของการทำธุรกิจ ถ้าเพิ่งเริ่มต้น หุ้นก็ต้องถูกหน่อย แต่ถ้ามีอะไรที่เริ่มจับต้องได้ ความเสี่ยงเริ่มลดลงเรื่อย ๆ หุ้นจะมีราคาแพงขึ้นถือเป็นหลักการปกติ

หมายถึงถ้าวันนี้ใครเกิดมีไอเดียอยากทำธุรกิจ แต่อยู่ดี ๆจะเดินเข้าไปขอเงินนักลงทุนสิบล้านเพื่อแลกกับหุ้น 10% ก็เป็นเรื่องที่ฟังดูยากไป

ในหมายเหตุว่า ผู้ประกอบการยุคนี้ยังมีทางเลือกอื่น ๆโดยเฉพาะอย่างยิ่งเงินสนับสนุนจากภาครัฐที่จัดโครงการส่งเสริมผู้ประกอบการอยู่มากมาย ซึ่งเขาบอกว่าเป็นอะไรที่ดีที่สุด มีประโยชน์มากที่สุด เพราะผู้ประกอบการจะได้มาแบบฟรี ๆโดยไม่ต้องเสียหุ้น

"สำหรับผมแล้วชอบฟังอยู่สองคำ คือสเกล และสปีด ซึ่งสำคัญมาก สเกลก็คือฐานที่มันจะกว้างมากขึ้น อาจขยายไปในระดับจังหวัด ประเทศ หรือต่างประเทศ หรือถ้ามองเรื่องออนไลน์ก็ต้องดูว่ามีฐานกี่คนแล้ว มียอดไลค์เท่าไหร่แล้ว ส่วนเรื่องของสปีด หมายถึง ผู้ประกอบการที่ต้องการเงินลงทุนก็เพื่อจะทำให้สปีดเพิ่มขึ้น ธุรกิจจะวิ่งได้เร็วขึ้น ซึ่งก็คือรันเวย์หรือถนนที่พูดถึง คือที่สุดแล้วเงินทุนจะต้องช่วยเพิ่มสเกลและสปีด"

มีวิธีเพิ่มสเกลและสปีดอย่างไร? เขาบอกว่า มีสูตรสำเร็จและจำได้ง่าย ๆอยู่ 4 คำ ได้แก่ Acquisition- Activation- Retention- Referral ประการสำคัญสามารถนำเอาไปใช้ได้ไม่ว่าจะเป็นสตาร์ทอัพหรือเอสเอ็มอี

โดยได้ยกตัวอย่างสตาร์ทอัพซึ่งส่วนใหญ่มักจะทำแอพพลิเคชั่น ดังนั้น Acquisition จะหมายถึงเมื่อทำแอพขึ้นมาก็ต้องคิดว่าทำอย่างไรให้คนมาดาวน์โหลด Activation หมายถึงหลังจากที่คนมาดาวน์โหลดแล้วต้องคิดหาวิธีให้คนได้ใช้งานจริง ส่วน Retention ก็คือทำอย่างไรให้คนใช้งานอย่างต่อเนื่อง และ Referral ก็คือทำอย่างไรให้คนบอกต่อ

ดร.โกศล บอกว่ามีบางมุมของนักลงทุนที่ผู้ประกอบการอาจไม่เคยรู้ ซึ่งเป็นเรื่องของ “อุดมการณ์” เขายืนยันว่ามีนักลงทุนจำนวนไม่น้อยอยากมีส่วนร่วมทำให้โลกดีขึ้น น่าอยู่ขึ้น

"แม้ธุรกิจที่ผู้ประกอบการทำอยู่อาจมีกำไรก็ตาม แต่ถ้ามันสามารถเสริมอุดมการณ์ของนักลงทุน มันตอบโจทย์ความรู้สึกเขาได้ก็จะดี นักลงทุนส่วนใหญ่เวลานี้อายุ 40 ปีขึ้นแล้ว ซึ่งก่อนตายก็อยากจะบรรลุหลายสิ่ง ถ้าได้ลงทุนในธุรกิจที่ตอบโจทย์ในใจทำให้รู้สึกบรรลุ คือได้ช่วยเหลือคน ช่วยเหลือสังคม ช่วยเหลือประเทศชาติ ทำให้ความยากจนมันหายไป ยิ่งถ้าทำให้คอรัปชั่นไม่เกิดขึ้นก็น่าจะมีนักลงทุนสนใจอยู่เยอะ ตัวผมเองก็สนใจเพราะประเทศชาติจะได้เจริญเสียที"