'สยาม เอาท์เลต' เซอร์วิสคือจุดโฟกัส

'สยาม เอาท์เลต' เซอร์วิสคือจุดโฟกัส

เริ่มต้นที่ความอยากทดลองทำอีคอมเมิร์ซเพราะมองว่าน่าจะเป็นกระแสที่กำลังมา แต่สุดท้ายก็กลายเป็นธุุรกิจบริการเก็บ แพ็ค ส่งของ สำหรับร้านค้าออนไลน์

“พิมพ์ฐดา สหัชอติเรกลาภ” (ฝน) ผู้ก่อตั้ง “สยาม เอาท์เลต” (Siam Outlet) เล่าว่าเมื่อเธอได้กระโจนลงสนามอีคอมเมิร์ซจริง ๆก็กลับพบกับความล้มเหลว เนื่องจากไม่มีความเข้าใจในกลไกของตลาดออนไลน์ จนทำให้เสียทั้งแรง เสียทั้งเงิน และเสียทั้งเวลา


" พอไปค้นหาข้อมูลก็พบว่าคนที่ทำมีอยู่เป็นจำนวนมาก คิดจะแข่งคงไม่ไหว สู้ให้มาเป็นลูกค้าเราน่าจะดีกว่า แต่ต้องคิดหาเซอร์วิสดีๆให้กับพวกเขา แต่ทำอย่างไรก็คิดไม่ออก เลยโทรไปชวนรุ่นน้องซึ่งขายของบนลาซาด้าให้มาเจอมาช่วยเล่าชีวิตแม่ค้าออนไลน์ให้ฟัง แต่เขาบอกว่ามาไม่ได้เพราะมีออร์เดอร์เป็นพันๆกล่องที่ต้องแพ็คส่งลูกค้า ก็บอกว่าถ้าอย่างนั้นเราจะไปช่วยแพ็ค เขาก็บอกว่าไม่ได้อีกเพราะอยู่คอนโดค่อนข้างแคบต้องใช้วางสินค้าที่นอนยังแทบจะไม่มีเลย ที่สำคัญเขาไม่ได้ทำสต็อกสินค้าไว้ ถ้าคนอื่นช่วยแพ็คเดี๋ยวมันจะผิดหรือหายได้"


สรุปแล้วปัญหาทุกอย่างก็พรั่งพรูออกมาโดยไม่ต้องเสียเวลามาพบเจอกัน และเป็นที่มาของสยาม เอาท์เลต ที่ให้บริการเก็บ แพ็ค ส่งของ สำหรับร้านค้าออนไลน์


บริการเก็บของ ด้วยโกดังสินค้าที่ออกแบบมาสำหรับร้านค้าออนไลน์ ภายในติดตั้งเครื่องปรับอากาศเพื่อรักษาคุณภาพของสินค้าไว้เป็นอย่างดี
บริการแพ็คของ ด้วยคอนเซ็ปต์ของการเป็นผู้คนส่งมอบความสุขผ่านกล่องสินค้าที่จะจัดส่งให้กับลูกค้าทุกคน


บริการส่งของ มีทั้งแบบภายในวันเดียวกันหรือวันถัดไป ในกรุงเทพและปริมณฑล และจัดส่งสินค้าตามช่องทางที่ลูกค้า อาทิ ดีเอชแอล, ไปรษณีย์ไทย,อีเอ็มเอส,แกร็บไบร์ค,ไทเกอร์,โลจิสติกส์,บีทีเอส ฯลฯ


นอกจากนี้ยังมีบริการ “ดิลิเวอรี่ บาย สยาม เอาท์เลต” ที่จัดส่งด่วนภายในวันเดียวกันหรือวันถัดไปด้วยมอเตอร์ไซค์ ในกรุงเทพและปริมณฑล เร็วกว่า ในราคาที่ถูกอีกด้วย


"ที่ผ่านมาเพราะเคยทำธุรกิจและเจ๊งมา จึงเป็นแนวคิดว่า ก่อนที่จะลงมือทำอะไร ต้องเพลย์เซพคือถามกลุ่มลูกค้าเป้าหมายก่อนว่าเขาคิดอย่างไร เราต้องหาลูกค้า หาตลาดให้เจอก่อน ต้องมั่นใจว่าสิ่งที่เราทำจะตอบโจทย์เขาจริงๆ"


และแน่นอนธุรกิจก็ค่อยๆพัฒนาขึ้นมาไม่ได้เป๊ะหรือปังตั้งแต่แรก เธอยอมรับว่าช่วงแรก ๆก็ทำแบบมือใหม่ ลองโฆษณาบนเฟซบุ๊คแบบบ้านๆ ว่ารับเก็บของ แพ็คของ และถ่ายรูปพนักงานที่ทำท่าแพ็คของ รวมถึงเชลฟ์วางของที่ยังโล่งๆ


"ก็โปรโมทไปแค่นั้น พอมีลูกค้ารายแรกติดต่อเข้ามาและเอาของมาวางจริงๆ ตอนนั้นเรากับทีมก็มองหน้ากันว่าจะแพ็คอย่างไร ซอฟท์แวร์ตอนนั้นก็ไม่มี แต่ก็คิดว่าทุกอย่างเราต้องทำได้ ก็ใช้โปรแกรมง่ายๆพวกเอ็กเซล ,พีดีเอฟ และก็แพ็คของไปต่อแถวส่งไปรษณีย์ ต้องทำทุกอย่าง จึงเลยได้ไอเดียว่าต้องพัฒนาซอฟท์แวร์ขึ้นมา และก็เอาไอเดียนี้ไปเข้าโครงการคูปองนวัตกรรมของสนช. และได้เงินสนับสนุนมาก้อนหนึ่ง ระหว่างทางเราก็ไปคุยกับซอฟต์แวร์พาร์คซึ่งมีโครงการ Startup Voucherรุ่นที่หนึ่งและก็ได้มาอีก เราโชคดีมีหน่วยงานรัฐมาช่วยสนับสนุน"


สำหรับลูกค้าเป้าหมายของสยาม เอาท์เลต ก็คือเอสเอ็มอีที่มีออเดอร์สินค้าวันละ 20 ออเดอร์ขึ้นไป พิมพ์ฐดาบอกว่าถ้าน้อยกว่านั้นการใช้บริการจะไม่คุ้ม


"ลูกค้าเวลากิจการยิ่งขยายมากก็มักจะคิดว่าถ้าทำขั้นตอนพวกนี้เองจะคุ้มกว่า แต่จริงๆมันไม่คุ้ม เพราะที่ต้องเจอก็คือ คุณต้องไปดูหลังบ้าน ดูลูกน้องเอง ซึ่งควรเอาเวลาไปดูเรื่องของมาร์เก็ตติ้ง เอาไปดูแลลูกค้าให้มากขึ้น เรื่องของหลังบ้านควรเอาท์ซอร์สจะทำให้ธุรกิจประสบความสำเร็จมากขึ้น ทุกวันนี้พวกแบรนด์ใหญ่ ๆ เขาก็เอาท์ซอร์สไม่ได้ทำเอง"


ส่วนสินค้าที่ให้บริการนั้นมีข้อจำกัดว่า ต้องไม่ผิดกฏหมาย ไม่มีชีวิต ไม่ใช่สารเคมีหรือสิ่งของที่มีพิษ ถ้าเป็นอาหารก็ต้องเชลฟ์ไลฟ์ 2-3 สัปดาห์ขึ้นไป


"คู่แข่งเรารายอื่นอาจเป็นสินค้าพวกเครื่องสำอาง เสื้อผ้า เครื่องแต่งกายของผู้หญิง แต่โกดังของเราส่วนใหญ่เป็นสินค้าของผู้ชาย มองว่าเป็นเพราะเราทำการตลาดแบบบ้านๆ ใช้รูป ใช้คำพูดง่ายๆ ไม่ซับซ้อน ลูกค้าที่ติดต่อเข้ามาส่วนใหญ่ก็เป็นผู้ชาย ซึ่งพอได้เจอและได้คุยกัน เขาบอกว่าเราบริการดี พูดจาเข้าใจง่าย"


เมื่อพูดถึงคู่แข่ง ถามว่าเคยศึกษาถึงการแข่งขันหรือไม่อย่างไร พิมพ์ฐดาบอกว่าเมื่อสามปีที่ผ่านมาเมื่อเหลียวหน้าแลหลังก็ยังไม่เห็นมีใครทำธุรกิจนี้ ที่มีอยู่แล้วเป็นบริษัทรายใหญ่ ในหมายเหตุที่ว่าธุรกิจนี้เกิดขึ้นแล้วที่ต่างประเทศ แต่ในเวลานี้ธุรกิจบริการเก็บ แพ็ค ส่งของ สำหรับร้านค้าออนไลน์ในเมืองไทยมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง


เธอฟันธงว่า การทำธุรกิจยุคนี้ต้องมีพาร์ทเนอร์ ซึ่งสยาม เอาท์เลตมีนักลงทุน (แองเจิ้ล)มาร่วมลงทุนแล้วสองรายก็คือ ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ และ e-LogiT บริษัทลอจิสติกส์ด้านอีคอมเมิร์ซอันดับ 1 ของญี่ปุ่น


เมื่อถามถึงแผนการเติบโต คำตอบก็คือมีความต้องการจะโตเร็วเป็นร้อยเท่าพันเท่าแบบวิถีของสตาร์ทอัพ แต่ยอมรับว่าเป็นไปได้ยาก


"ต้องมองกลับไปที่ลูกค้าของเรา ซึ่งการที่เขาจะเอาสต็อกสินค้าราคาเป็นล้าน ๆมาเก็บไว้ที่คลังของเรา มันคงไม่สามารถเร่งการตัดสินใจของเขาทันทีไม่ได้ และเราก็ไม่ได้ให้บริการแค่ 200 ร้านค้า แต่ลูกค้าของ 200 ร้านค้าเราก็ยังต้องดู ตัวฝนเองก็ยังไม่ปล่อยให้น้องไปตอบลูกค้าทั้งหมดเรายังคุยอยู่ เพราะอยากรู้ลูกค้าเขาคิดอะไร อยากได้อะไร มันทำให้รู้ว่าอะไรที่ตอบโจทย์เขาได้ ในเวลาเดียวกันเราก็มีข้อมูลมาต่อยอดทางธุรกิจได้อีก"


เธอบอกว่าจะให้ความสำคัญสูงสุดกับเรื่องของเซอร์วิส คือการคิดหาทางว่าจะทำอย่างไรให้ลูกค้ามีความรู้สึกที่ดีตลอดระยะทางที่ค้าขายกัน และเมื่อวันใดที่จากก็ยังแฮบปี้ และพร้อมจะให้ความช่วยเหลือกันได้เสมอ ซึ่งเป็นสิ่งที่ยากแต่ก็ต้องทำให้เกิดขึ้นได้จริง


ด้วยการบริการแบบนี้ ทำให้ครึ่งปีที่ผ่านมามาสยาม เอาท์เลตเติบโตสูงถึง 400% เลยทีเดียว พิมพ์ฐดาจึงมีแผนจะระดมทุนเพิ่มในปีนี้ (ที่หวังไว้ก็คือระดับซีรีส์เอ)


“ เราจะขยายบริการให้มากขึ้น แต่ไม่ได้หมายถึงการไปแย่งงานพาร์ทเนอร์ เราจะเลือกในสิ่งที่พาร์ทเนอร์ไม่ทำ และทำในสิ่งที่ทำให้ลูกค้าของเราแฮบปี้ ล่าสุดกำลังคิดทำบริการที่เฉพาะทาง”


ถามต่อถึงแผนเอ็กซิท คำตอบก็คือไม่มีความคิด เพราะตั้งใจจะนำธุรกิจนี้้เดินบนเส้นทางของความยั่งยืน ทำเพื่อช่วยเหลือคนไทย


"ถ้าเราคิดจะเอ็กซิทมันจะหมายถึงการหวังผลระยะสั้น แต่สุดท้ายเราคิดจะนำบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ให้ได้ ถึงตอนนั้นหุ้นของเราจะเหลือเท่าไหร่ไม่รู้ แต่ธุรกิจเราจะเติบโต และมีคนที่เก่งมาทำหน้าที่บริหารในวัตถุประสงค์เดิมคือเพื่อช่วยคนไทยอย่างที่เราต้องการก็โอเค"

เชื่อในสิ่งที่ทำ


เป็นอีกคนที่เดินออกจากคอมฟอทโซนแล้วมาเริ่มต้นจากศูนย์ พิมพ์ฐดาเล่าว่าเธอทิ้งงานประจำที่มีเงินเดือนสูงถึง 6 หลักออกมาทำในสิ่งที่ไม่เคยทำมาก่อน แต่ก็ประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง


"คงเป็นเพราะความมุมานะ ไม่ตีกรอบให้ตัวเอง เพราะเรื่องขนส่ง โลจิสติกส์เป็นอะไรไม่เคยรู้เรื่องเลย แต่ถ้าเรามีกรอบก็คงไม่มีเราวันนี้ ไม่มีสยาม เอาท์เลตในวันนี้ ฝนเริ่มจากสิ่งที่เราไม่รู้และคิดว่าตัวเองต้องทำให้ได้ไม่ว่าจะวิธีการอะไรก็ได้ ทำให้ดีที่สุด ผลลัพท์อาจจะดี หรือไม่ดีก็ได้ แต่ทุกอย่างคือประสบการณ์ชีวิตที่ไม่มีใครบอกได้เลยนอกจากตัวเราเอง แต่ถ้าเราเชื่อสิ่งที่ทำ มันจะเกิดพลัง จะผิดหรือถูก อย่างไรขอให้ได้ลอง"


และก็มองเอสเอ็มอีไทยในวงการอีคอมเมิร์ซอนาคตจะต้องเหนื่อยอย่างแน่นอน เพราะต้องแข่งกับทุกประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งทุนจีนที่กำลังจะไหลบ่าเข้ามา


"ถ้าคิดว่ามีของดีของเจ๋งมาขายคงไม่พอ เพราะคนอื่นก็มีเหมือนกัน แต่ต้องทำให้ลูกค้าสัมผัสได้ว่าของคุณดีกว่าคนอื่นอย่างไร ไม่ได้แปลว่าของถูกลูกค้าจะซื้อเสมอ การทำให้ลูกค้ายอมซื้อและอยู่กับเรานานๆ ต้องสร้างแบรนด์ ต้องทำให้ลูกค้ารู้สึกแฮบปี้ที่จะแนะนำต่อและกลับมาซื้อกับเราเสมอ"