ภารกิจสร้าง ‘บิ๊กเพลย์เยอร์’ อินเว้นท์ + ดิจิโอ

ภารกิจสร้าง ‘บิ๊กเพลย์เยอร์’ อินเว้นท์ + ดิจิโอ

เพียงแต่วันนี้ถือเป็นครั้งแรกในรอบ 5 ปีที่ดำเนินการมาที่ดิจิโอต้องการเงินลงทุน เพื่อที่สุดจะพาบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์

"มีวีซีเข้ามาคุยกับเราทุกปีตั้งแต่ปีแรกที่ทำธุรกิจ เป็นวีซี ซีวีซีทั้งในไทยและต่างประเทศ เรียกว่ามาคุยเดือนเว้นเดือน แต่เราก็ไม่เคยสนใจ จนเมื่อปีที่แล้วมีเหตุการณ์ที่เราอาจต้องใช้เงินทุนค่อนข้างเยอะ ก็เลยเลือกปรึกษากับอินเว้นท์ เพราะคิดว่าเคมีเราต้องกัน คุยด้วยแล้วสบายใจ จนเป็นที่มาของการร่วมลงทุนในวันนี้"


“นพพร ด่านชัยนาม” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ก่อตั้งบริษัท ดิจิโอ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวในงานแถลงข่าวที่บริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) โดยโครงการอินเว้นท์ (InVent) ได้ร่วมลงทุนในสตาร์ทอัพ รายที่ 11 (ก็คือบริษัทดิจิโอ ระดับซีรีส์เอ) เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 29 มิถุนายนที่ผ่านมา

ทั้งนี้ในแวดวงสตาร์ทอัพต่างมองว่าดิจิโอเป็นตัวจริงและมีโอกาสก้าวขึ้นสู่ระดับยูนิคอร์นเลยทีเดียว ขณะที่นพพรมองว่า เวลานี้ไม่ได้บอกตัวเองหรือมีเป้าหมายอยากจะเป็นสัตว์ในตำนานที่มีเขาอยู่หนึ่งเขา


"เราอยากทำอะไรที่มีประโยชน์ ไม่ได้หวังจะกำไรเยอะแยะมากมาย เพราะธุรกิจที่เราทำทุกวันนี้เติบโตจริงแต่กำไรน้อยมาก เพราะเรามองว่าได้ช่วยประเทศ ได้ช่วยสังคมด้วย"


ที่ผ่านมาดิจิโอค่อยๆทำมาแบบเล็กๆ จนค่อยๆเติบโตขึ้นมา และไม่ได้คิดจะลงทุนเพิ่ม ซึ่งดูแล้วโน้มเอียงไปทางจิตวิญญานของเอสเอ็มอีเสียมากกว่า


"เราไม่ได้ทำแบบสตาร์ทอัพเวย์แต่ทำแบบเอสเอ็มอีมากกว่า ที่จริงเราก็ไม่ชอบให้คนเรียกว่าเป็นสตาร์ทอัพ เพียงแต่วันนี้ถือเป็นครั้งแรกในรอบ 5 ปีที่ดำเนินการมาที่ดิจิโอต้องการเงินลงทุน เพื่อที่สุดเราจะพาบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ซึ่งกำลังศึกษาและเป็นไปได้ทั้งตลาดหลักทรัพย์ของไทยและต่างประเทศ"


นพพรมักพูดและให้สัมภาษณ์สื่อต่างๆ ว่าเขาแคร์พนักงานบริษัทที่ทำงานเคียงบ่าเคียงไหล่กันมาตั้งแต่วันแรกจนถึงปัจจุบัน แน่นอนว่าแผนขยายธุรกิจที่ในอนาคตไม่ได้แค่เพียงตลาดภายในประเทศไทยเท่านั้นแต่มีแผนโกอินเตอร์ด้วยนั้นไม่ใช่เพื่อเม็ดเงินมหาศาล แต่เพื่อให้พนักงานของเขาที่มีอยู่ร่วม 120 ชีวิตมีโอกาสเจริญเติบโต


" ถ้าคิดในมุมคนทำงาน ก็มักหวังจะเติบโตแบบก้าวกระโดด ทุกวันนี้พนักงานเราอาจโตได้จริงแต่มันโตแบบขั้นบันได จึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่เราเลือกจะเอาบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ เพราะอยากรักษาน้อง ๆในทีมที่อยู่ด้วยกันมาตั้งแต่ต้น"


ดิจิโอ ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2555 โดยนำเทคโนโลยีการรับชำระเงินผ่านโทรศัพท์มือถือ (mobile point of sale: mPOS) เข้ามาใช้เป็นครั้งแรกในประเทศไทย ซึ่งได้ไอเดียมาจากประเทศอเมริกา


“เพื่อแก้ปัญหาร้านค้าขนาดเล็กอยากรับบัตรเครดิต แต่ติดที่ราคาค่าใช้จ่ายของอุปกรณ์รับบัตรนั้นแพงมาก ตัว mPOS จะเข้ามาแก้ปัญหานี้ ”


แต่เมื่อ 5 ปีที่ผ่านมาถือว่ามันยังเป็นเรื่องใหม่ ต้องอาศัยเวลาในการสร้างความเข้าใจ กระทั่งในปีต่อมาดิจิโอได้จับมือเป็นพันธมิตรกับธนาคารพาณิชย์ของไทย ทำให้เทคโนโลยี mPOS เติบโตแพร่หลายเป็นอย่างมากในประเทศไทย


ต้องบอกว่าดิจิโอเวลานี้มีส่วนแบ่งการตลาดของเทคโนโลยี mPOS เป็นอันดับหนึ่งเรียกว่ากว่า 80% เลยทีเดียว


ปัจจุบันดิจิโอให้บริการ DigiPay ซึ่งเป็นการรวบรวมเทคโนโลยีการชำระเงินทำให้สามารถรับชำระเงินได้ทั้งจากเครือข่ายระบบการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศ (local card scheme) เช่น TPN และ นอกประเทศ (international card scheme) เช่น VISA, Mastercard และ UnionPay รวมถึงบริการกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-wallet)ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น อาลีเพย์ หรือวีแชทเพย์ ซึ่งมีความนิยมสูงขึ้นมากเนื่องจากนักท่องเที่ยวชาวจีนใช้บริการเพิ่มขึ้น และการรับชำระเงินทางออฟไลน์


ปัจจุบันลูกค้าหลักของดิจิโอประกอบด้วย ธนาคาร และสถาบันการเงิน ที่ต้องการใช้ระบบรับชำระเงิน หรือ e-wallet แบบพร้อมใช้งานทำให้ผู้ใช้บริการสามารถลดระยะเวลาและงบประมาณในการพัฒนาระบบลงไปได้อย่างมาก ผู้ใช้บริการสามารถนำเทคโนโลยีของดิจิโอไปปรับใช้งานด้วยแบรนด์ของตัวเอง (white-label)ได้ทันที


พร้อมโชว์ว่าดิจิโอมีฐานร้านค้าที่เป็นลูกค้ากว่า 1 แสนราย มีการใช้อุปกรณ์ของบริษัทมากกว่า 1.1 แสนอุปกรณ์และในปีที่ผ่านมามียอดเงินที่ผ่านเข้าระบบของดิจิโอมากกว่า 2 หมื่นล้านบาท


"ในช่วงปีแรกๆเราโต 100-200% แต่ปีที่แล้วเราโตแบบก้าวกระโดดถึง 4 เท่า มีรายได้อยู่ 190 ล้านบาทโดยประมาณ ต้องขอบคุณนโยบาย National e-Payment ของรัฐบาล ที่พยายามผลักดันให้คนไทยมาใช้เงินแบบดิจิทัลมากขึ้น ให้เลิกใช้เงินสด ซึ่งจะเห็นข่าวพร้อมเพย์กันตั้งแต่ปีที่แล้ว และในปีนี้ก็จะได้เห็นข่าวการใช้คิวอาร์โค้ด"


ในปีนี้นพพรมองว่าดิจิโอน่าจะเติบโตได้ไม่น้อยกว่าสองเท่าเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา และมองว่าประเทศไทยมีมาร์เก็ตไซส์ใหญ่มากในภูมิภาคเซาท์อีสต์เอเชีย ยังคงเป็นตลาดที่สำคัญ แต่ที่สุดก็อยากจะบินไปได้ไกลกว่านั้น


“เพราะเราคิดจะเป็นบิ๊กเพลย์เยอร์แล้ว ไม่ใช่สมอลเพลย์เยอร์ทำแค่ในประเทศเท่านั้น”


ดิจิโอตั้งเป้าหมายว่าเร็วๆนี้จะขยายบริการออกไปยังประเทศเพื่อนบ้าน เช่น พม่า ลาว กัมพูชา และเวียดนาม


"ปีนี้โฟกัสว่าจะไปพม่ากับลาว ที่จริงเราไปพม่ามาสักพักแล้วแต่อยู่ในช่วงการเจรจา เพราะมีความยากมันต้องใช้เวลา ไม่ใช่ไปคุยกับแบงก์แล้วจบ แต่เราต้องไปคุยกับแบงก์ชาติของประเทศนั้นๆ รวมถึงต้องดูเรื่องกฏระเบียบต่างๆ มีรายละเอียดค่อนข้างเยอะ แต่ก็หวังว่าจะได้รับช่วยเหลือจากอินเว้นท์ให้ดิจิโอขึ้นได้ประเทศละแบงก์เป็นอย่างน้อย "


มั่นใจสปิริตผู้ประกอบการ


ถามว่าทำไมอินเว้นท์เลือกลงทุนกับดิจิโอ “คิมห์ สิริทวีชัย” รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานบริหารการลงทุน และหัวหน้าโครงการบริษัทร่วมทุน อินเว้นท์ บริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) บอกถึงเหตุผลว่าเพราะดิจิโอสอบผ่านทุกข้อกำหนดที่ตั้งเอาไว้


ไม่ว่าจะเป็นบิสิเนสโมเดลที่ชัดเจน การเติบโตของธุรกิจ รายได้และฐานลูกค้าก็มีเกินความคาดหมาย แต่เหนือสิ่งใดก็คือความประทับใจในตัวของนพพร ที่เป็นผู้ก่อตั้งหรือฟาวเดอร์ มองว่าเป็นคนมีศักยภาพ มีความสามารถที่จะขับเคลื่อนดิจิโอให้เจริญเติบโตก้าวไปสู่อนาคตได้อย่างแน่นอน
อย่างไรก็ตาม ก็ไม่สามารถเปิดเผยจำนวนเงินลงทุน แต่ถือว่าอินเว้นท์เข้าไปถือหุ้นในปริมาณที่น้อย และจะไม่เข้าไปยุ่งกับการบริหารงาน เพราะชอบในสไตล์การทำงานของนพพรที่เป็นอยู่และสิ่งที่ดิจิโอกำลังทำอยู่


เมื่อถามถึงนโยบายและทิศทางของอินเว้นท์ซึ่งเปลี่ยนแม่ทัพ ก็ได้รับคำตอบว่า ทุกอย่างยังคงเดิมไม่เปลี่ยนแปลง อินทัช ยังมุ่งเน้นการลงทุนในธุรกิจโทรคมนาคม สื่อ และเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อเชื่อมโยงความต้องการของคนไทยเข้ากับเทคโนโลยีที่ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยโครงการ อินเว้นท์ จะเป็นตัวขับเคลื่อนที่จะช่วยสร้างการเติบโตให้กับธุรกิจของอินทัช ตามกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจ ภายใต้แนวคิด Connecting Thais for Sustainable Growth หวังสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนให้กับผู้ถือหุ้น ผู้บริโภค ชุมชน และสังคม


การลงทุนในดิจิโอซึ่งเป็นฟินเทคถือว่ามีบทบาทกับชีวิตคนไทย ช่วยยกระดับการทำธุรกรรมทางการเงินให้มีความสะดวกสบาย กลุ่มอินทัชสามารถนำนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีมาเสริมศักยภาพ และพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ๆ ให้กับลูกค้าได้ในอนาคต ขณะเดียวกันสตาร์ทอัพที่ได้ร่วมทุนนอกจากจะได้รับเงินทุนแล้ว ก็ยังได้รับความรู้ คำแนะนำทุกเรื่อง รวมถึงเข้าถึงคอนเน็คชั่นที่มีของกลุ่มอินทัชด้วย