หุ่นยนต์หาดสะอาด จุดเชื่อมภาคอุตฯ-ท้องถิ่น

หุ่นยนต์หาดสะอาด   จุดเชื่อมภาคอุตฯ-ท้องถิ่น

ปตท.สผ.สนับสนุน 2 ล้านบาทให้มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์พัฒนา “หุ่นยนต์เก็บขยะชายหาด” นำร่องใช้ประโยชน์จริงที่ชายหาดสมิหลา 9 กิโลเมตร ลดใช้แรงงานคนเดินเก็บเหลือเพียง 1 ใน 4

ปตท.สผ.สนับสนุน 2 ล้านบาทให้มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์พัฒนา “หุ่นยนต์เก็บขยะชายหาด” นำร่องใช้ประโยชน์จริงที่ชายหาดสมิหลา 9 กิโลเมตร ลดใช้แรงงานคนเดินเก็บเหลือเพียง 1 ใน 4 แถมยังเก็บขยะที่มีขนาดเล็กฝังตัวในทรายอย่างก้นบุหรี่ได้ด้วย
นอกจากจะตอบโจทย์ด้านความสะอาดและการเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมด้วยแบตเตอรี่ไฟฟ้าแล้ว ยังเป็นต้นแบบโมเดลความร่วมมือระหว่างภาคการศึกษา หน่วยงานท้องถิ่นและภาคธุรกิจเอกชน ควบคู่กับการพัฒนาทักษะนักศึกษาให้เรียนรู้จากการลงมือปฏิบัติจริง


แก้ปัญหาขยะเกลื่อนหาด


หาดสมิหลาเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญใน จ.สงขลา สัญลักษณ์ที่โดดเด่นคือหาดทราย โขดหินยื่นลงทะเลและรูปปั้นนางเงือกทอง กำลังเผชิญปัญหาเศษขยะไม่ต่างจากชายหาดอื่นๆ จึงเป็นที่มาของแนวคิดการพัฒนา “หุ่นยนต์ทำความสะอาดชายหาด” ทำหน้าที่เก็บขยะเพื่อนำไปแยกรีไซเคิลหรือทำลายอย่างถูกวิธี


นายพฤทธิกร สมิตไมตรี อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า หุ่นยนต์หน้าตาคล้ายรถถังไซส์มินิ ควบคุมด้วยรีโมท สามารถจัดการขยะที่อยู่บนทรายหรือฝังตัวอยู่ในทราย โดยใช้ระบบตักผิวทรายที่มีเศษขยะและใช้ตะแกรงร่อนแยกเม็ดทรายออกจากเศษขยะได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ใช้พลังงานไฟฟ้าซึ่งเป็นพลังงานสะอาด และติดตั้งแผงกักเก็บเสียง เหมาะรนำมาใช้ในแหล่งท่องเที่ยว ที่สำคัญสามารถผลิตได้ในประเทศ


สำหรับเวอร์ชันถัดไปจะพัฒนาแบตเตอรี่ให้ทำงานได้มากกว่า 2 ชั่วโมง เก็บขยะชิ้นใหญ่ขึ้น การสั่นเพื่อร่อนเศษขยะเร็วขึ้น สามารถแยกขยะทั้งแยกชิ้นที่มีขนาดเท่ากันไปอยู่ที่เดียวกัน หรือแยกของที่เป็นโลหะกับไม่เป็นโลหะ หรือว่าเปลือกหอยกับเศษขยะ สามารถเคลื่อนที่ได้เร็วขึ้น ลงไปเนื้อทรายได้ลึกขึ้น จากปัจจุบันลงลึกได้ 5 เซนติเมตร เป็นต้น


ด้านนายสมศักดิ์ ตันติเศรณี นายกเทศมนตรีนครสงขลา กล่าวว่า ที่ผ่านมาปัญหาขยะจากนักท่องเที่ยวสามารถบริหารจัดการได้ แต่ขยะที่พัดมาจากทะเลดูแลลำบากเพราะมีปริมาณมาก ไม่ว่าจะเป็น ขอนไม้ เศษพลาสติก ผักตบชวา ต้องใช้พนักงาน 200 คนทำความสะอาด หากมีหุ่นยนต์มาช่วยจะทุ่นแรงงาน ประหยัดเวลาและเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานได้ เช่น ใช้พนักงานเก็บขยะชายหาดแค่ 50 คนพร้อมมีหุ่นยนต์เป็นผู้ช่วย
ก่อนหน้านี้ได้ซื้อรถเก็บกวาดขยะชายหาดมูลค่า 7 ล้านบาทจากต่างประเทศเข้ามาช่วยเก็บขยะชิ้นใหญ่ แต่ข้อเสียคือต้องใช้เชื้อเพลิงน้ำมัน มีเสียงและกลิ่นควันรบกวน ไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ดังนั้น หุ่นยนต์ตัวนี้จึงเป็นตัวช่วยทำความสะอาดหาด ที่ตอบโจทย์การเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและเก็บขยะที่มีขนาดเล็ก เช่น ก้นบุหรี่ เหมาะเข้ามาช่วยในการทำความสะอาดแทนคน แต่ในอนาคตอยากให้หุ่นยนต์มีขนาดใหญ่ขึ้น และสามารถเกลี่ยปรับหน้าดินและทรายให้เรียบขึ้นด้วย


โมเดลการเรียนรู้ร่วม 3 ภาคี


นายวินิตย์ หาญสมุทร ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานบริหารเทคโนโลยีและองค์ความรู้ ปตท.สผ. กล่าวว่า แนวคิดของบริษัทในการนำเทคโนโลยีเข้ามาพัฒนาพื้นที่ในชุมชนนั้น เพื่อเปิดโอกาสให้บุคลากรในพื้นที่เรียนรู้การทำงานไปพร้อมกัน โดยให้มหาวิทยาลัยหรือหน่วยงานของรัฐเข้ามามีส่วนร่วม นอกจากจะได้นวัตกรรมและความร่วมมือแล้ว ยังเกิดการเรียนรู้ร่วมกัน ถือเป็นโมเดลที่เป็นประโยชน์กับสังคมมากกว่าการนำเข้าเทคโนโลยีสำเร็จรูป ขณะเดียวกัน ปตท.สผ.ยังจัดส่งบุคลากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญหุ่นยนต์ เข้ามาช่วยเป็นพี่เลี้ยง แลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกับนักวิจัยเพื่อพัฒนาและปรับปรุงจนได้หุ่นยนต์ต้นแบบที่พร้อมใช้งานจริง


“จากเดิมที่มีแนวคิดว่าจะทำหุ่นยนต์เก็บขยะขนาดใหญ่ แต่ก็มองว่า เทอะทะ เปลืองพลังงาน จึงแนะนำให้ใช้แบตเตอรี่ไฟฟ้า เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยอาศัยมุมมองด้านธุรกิจเข้ามาให้คำปรึกษาถึงความเป็นไปได้ในการใช้งานและเทรนด์ของเทคโนโลยีที่เข้ามาทดแทนการใช้พลังงานแบบเดิม เป็นต้น”


หุ่นยนต์นี้เป็นหนึ่งในตัวอย่างเทคโนโลยีสีเขียวและเป็นต้นแบบที่น่าพอใจถือว่าประสบความสำเร็จและคุ้มค่า เพราะนอกจากจะได้ชิ้นงานที่ใช้ประโยชน์ได้จริงแล้ว ก็ยังเกิดต้นแบบความร่วมมือระหว่างเอกชน ราชการ และเทศบาลในพื้นที่ ตลอดจนทำให้สถาบันการศึกษาได้มาคลุกคลีกับชาวบ้านในพื้นที่อีกด้วย