ส่อง‘ฟู้ดแพลตฟอร์ม’กลยุทธ์เทสโก้โลตัสฉีกคู่แข่ง

ส่อง‘ฟู้ดแพลตฟอร์ม’กลยุทธ์เทสโก้โลตัสฉีกคู่แข่ง

การแข่งขันที่รุนแรงของบรรดาร้านค้าปลีกเพื่อช่วงชิงลูกค้าและกำลังซื้อที่มีอยู่อย่างจำกัด ท่ามกลางจุดขาย “ลดแลกแจกแถม” และสินค้าจากผู้ผลิตรายเดียวกัน

คือเหตุผลที่ทำให้ค้าปลีกยักษ์ใหญ่สัญชาติอังกฤษปฎิวัติ “อาหารสด” ใช้เป็นจุดขายที่เชื่อว่าจะสร้างความแตกต่างจากคู่แข่งได้อย่างชัดเจน  

สลิลลา สีหพันธุ์ รองประธานกรรมการฝ่ายกิจการบรรษัท เทสโก้ โลตัส กล่าวว่า กลุ่มสินค้า อาหารสด คือ กิมมิค และกลยุทธ์สำคัญของเทสโก้ โลตัส ในการทำตลาดรองรับลูกค้ายุคใหม่ที่พฤติกรรมการจับจ่ายเปลี่ยนไปจากเดิม มีความรู้มากขึ้น ต้องการความแปลกใหม่ และทางเลือกที่หลากหลายมากขึ้น

ทั้งนี้ เทสโก้ โลตัส ได้มีการพัฒาและยกระดับแผนกอาหารสดในรูปลักษณ์ใหม่ มีสาขาสุขุมวิท 50 เป็นโปรเจคนำร่องและตกผลึกจากการบริหารจัดการซัพพลายเชนควบคุมตั้งแต่ “ต้นน้ำ” 

“ที่ผ่านมาเราใช้ราคาเป็นตัวนำ ดึงลูกค้าเข้ามาเห็นว่า เทสโก้ โลตัส มีอะไรดี นอกเหนือจากการขายสินค้าอุปโภคบริโภคที่ไม่ต่างจากร้านอื่น” 

ประสิทธิภาพของกลุ่มอาหารสดสะท้อนจากการใช้บริการของลูกค้า 6 ใน 10 คน ที่เข้าร้านเทสโก้ โลตัส มีการซื้ออาหารสด เพิ่มขึ้นจากเดิมอยู่ที่ 4-5 คน โดยตั้งเป้าหมายปี 2561 ลูกค้า 100% หรือ 10 คนที่เข้ามาใช้บริการทุกคนจะซื้ออาหารสดของเทสโก้ โลตัส กลับไป 

 แม้ว่าพอร์ตสินค้าอาหารสดจะไม่สูงนัก แต่จะเพิ่มสัดส่วนมากขึ้นอย่างต่อเนื่องด้วยการมุ่ง “ตัดตัวกลาง” แน่นอนว่จะทำให้การบริหารจัดการประสิทธิภาพของธุรกิจดีขึ้น

สลิลลา กล่าวอีกว่า หลังบ้านของเทสโก้ โลตัส หรือ เส้นทางซัพพลายเชนทางด้านอาหารนับว่ามีความสำคัญไม่น้อยที่จะเอื้อต่อการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของ “หน้าร้าน” รวมทั้งตอบโจทย์การมีส่วนร่วมในเชิงสังคมและสร้างความยั่งยืนให้ธุรกิจ ซึ่งเป็นแนวทางที่ผู้ประกอบการยุคใหม่ตระหนักมากขึ้น 

“ในไทยหลายองค์กรหันกลับมามองแนวทางที่ทำให้ธุรกิจเกิดความยั่งยืนมากขึ้น คือการมีส่วนร่วมกับสังคม ทั้งภาครัฐ  ประชาชน และพันธมิตรธุรกิจ เช่นเดียวกันในเชิงการตลาด ธุรกิจไม่สามารถอยู่คนเดียวได้อีกต่อไป ต้องเชื่อมโยงบูรณาการทุกภาคส่วนเข้าด้วยกัน”  

  ส่วนหนึ่งบนเส้นทางซัพพลายเชนทางด้านอาหารสดของ “เทสโก้ โลตัส" ได้ประกาศเจตนารมณ์เป็นผู้นำ “ลดขยะจากอาหาร” ภายใต้เป้าหมายจะไม่มีการทิ้งอาหารที่ยังรับประทานได้ประเดิมไฮเปอร์มาร์เก็ตทั้ง 24 สาขาในกรุงเทพฯ โดยจะบริจาคอาหารที่จำหน่ายไม่หมดในแต่ละวันให้กับมูลนิธิและองค์กรการกุศลเพื่อนำไปแจกจ่ายให้กับผู้ยากไร้ในชุมชนต่างๆ พร้อมผนึกความร่วมมือชุมชน องค์กรพันธมิตรต่างๆ บริหารจัดการขยะอาหารอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อช่วยลดปริมาณขยะจากอาหารในประเทศไทย 

เทสโก้ โลตัส ดำเนินโครงการลดขยะอาหารภายใต้กลยุทธ์ Farm to Fork เป็นการลดปริมาณขยะจากอาหารภายในธุรกิจตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ กล่าวคือ เกษตรกร มีการวางแผนการเพาะปลูกตามความต้องการของตลาด ทำให้ไม่มีสินค้าเกษตรล้นตลาดเหลือทิ้ง ช่วยลดปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ลูกค้าได้รับสินค้าที่มีคุณภาพสูงในราคาประหยัด

ปัญหาขยะจากอาหารเป็นปัญหาใหญ่ นอกจากสร้างมลภาวะด้านกลิ่นและความสกปรก ยังมีผลกระทบทำให้เกิดโลกร้อนจากก๊าซเรือนกระจกที่กองขยะปล่อยขึ้นไปสู่ชั้นบรรยากาศ โดยขยะอาหารถูกทิ้งมากที่สุดของไทยอยู่ที่กระบวนการเพาะปลูก ขณะที่ต่างประเทศอยู่ที่ผู้บริโภค 

“การบริหารจัดการตลอดซัพพลายเชนที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นช่วยให้อาหารคงความสดได้นานขึ้น ต้นทุนต่ำลง ทำให้ราคาสินค้าที่ลูกค้าจ่ายมีราคาประหยัดธุรกิจ การลดปริมาณขยะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของธุรกิจ และสิ่งแวดล้อม”

 สำหรับอาหารที่เทสโก้ โลตัส นำไปบริจาค ได้แก่ ผัก ผลไม้ ที่จำหน่ายไม่หมดในแต่ละวัน ส่วนที่ยังรับประทานได้จะถูกนำไปบริจาคให้ผู้ยากไร้ รวมทั้งสินค้าที่มีชำรุดหรือมีตำหนิแต่ไม่กระทบต่อคุณภาพสินค้าด้านใน เช่น ข้าวสารแตกแพ็คสินค้าที่ยกเลิกการขายแล้วสินค้าที่มีอายุเหลือไม่ถึง 2 สัปดาห์ก่อนวันหมดอายุ แต่ยังรับประทานได้ ส่วนที่รับประทานไม่ได้จะถูกนำไปทำปุ๋ยอินทรีย์ ภายใต้การร่วมงานกับองค์กรระดับท้องถิ่นและระดับประเทศ โดยผักและผลไม้ที่บริจาคจากสาขาไฮเปอร์มาร์เก็ต เฉลี่ย 20-50 กิโลกรัมต่อสาขาต่อวัน

ปี 2561 เทสโก้ โลตัส จะขยายโครงการ “กินได้...ไม่ทิ้งกัน” สู่สาขาต่างจังหวัด รวมทั้งจัดเก็บข้อมูลสร้าง “บิ๊กดาต้า” เพื่อต่อยอดพัฒนานวัตกรรมใหม่ในอนาคต พร้อมขยายความร่วมมือกับพันธมิตรธุรกิจ  รวมทั้งนำนวัตกรรมจากบริษัทแม่เทสโก้ กรุ๊ป ที่ได้ดำเนินการในเรื่องนี้อย่างจริงจังมาใช้ในไทยด้วย เช่น บรรจุภัณฑ์สำหรับแบ่งอาหารทำเฉพาะมื้อ