สมาคมผู้ค้าปลีกแนะรัฐลดภาษีดึงทัวริสต์

สมาคมผู้ค้าปลีกแนะรัฐลดภาษีดึงทัวริสต์

สมาคมผู้ค้าปลีกไทย แนะรัฐเร่งลงทุนดันเศรษฐกิจกระเตื้อง พิจารณาลดภาษีนำเข้าแบรนด์หรู-แวตรีฟันด์นักท่องเที่ยว ย้ำไทย “จุดหมายชอปปิง” แห่งภูมิภาค ปูทางปี 62 เศรษฐกิจ-กำลังซื้อฟื้นชัดหนุนค้าปลีกโต 4.5% ปีนี้มั่นใจมาตรการรัฐปลุกจับจ่ายดันโอกาสโตแตะ 3.4%

อุตสาหกรรมค้าปลีกไทยเติบโตในอัตราถดถอยตั้งแต่ปี 2556 เป็นต้นมา เนื่องจากภาพรวมประเทศไทยอยู่ระหว่างปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ ขณะที่กำลังซื้อผู้บริโภคระดับฐานรากไม่ดีขึ้น จะเห็นว่ามูลค่ายอดขายสินค้าอุปโภคบริโภค (FMCG หรือ Fast Moving Consumer Goods) ยังลดลง ขณะที่ผู้บริโภคระดับกลางติดกับดักหนี้บัตรเครดิต การลงทุนภาคเอกชนไม่ฟื้นตัว ราคาสินค้าเกษตรไม่ดีเท่าที่ควร

นางสาวจริยา จิราธิวัฒน์ ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย กล่าวว่า ภาวะเศรษฐกิจโดยรวมที่ชะลอตัวมายาวนานผ่านจุดต่ำสุดของช่วงขาลง เริ่มปรับสู่แนวโน้มขาขึ้นอย่างช้าๆ หากตัวแปรด้านเศรษฐกิจ การเมือง การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ราคาสินค้าเกษตร อยู่ในภาวะขาขึ้นต่อเนื่อง เชื่อว่าการกระจายตัวของเศรษฐกิจจะลงสู่ฐานราก ส่งผลให้กำลังซื้อรากหญ้าฟื้นตัวอย่างชัดเจนช่วงไตรมาส 2 ต่อเนื่องไตรมาส 3 ของปี 2562

สมาคมฯ คาดการณ์ว่าการเติบโตของดัชนีค้าปลีกจะไต่ระดับขาขึ้นเช่นกัน โดยปี 2561 เติบโต 3.8-4.0% ปี 2562 คาดเติบโตถึง 4.5 %

เสนอรัฐเร่งลงทุนทุกมิติ 

อย่างไรก็ดี ต้องการให้รัฐบาลสนับสนุนการขยายตัวของภาคค้าปลีก เนื่องจากภาคค้าปลีกเป็นกลไกหลักขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ แม้ภาคเอกชนจะเข้มแข็ง แต่หากได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลเพิ่มเติมจะทำให้ขยายตัวทั้งในและต่างประเทศได้มากขึ้น

“ไทยมีศักยภาพดึงดูดนักท่องเที่ยว ทั้งแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ ศิลปวัฒนธรรม รวมถึงโรงแรมและภาคบริการในระดับโลก เพื่อพัฒนาให้ไทยเป็นจุดหมายการท่องเที่ยวครบวงจร รัฐบาลควรศึกษาและพิจารณาการลดภาษีนำเข้าสินค้าแบรนด์หรูอย่างจริงจัง” นางสาวจริยา ย้ำ

โดยเฉพาะในกลุ่มแฟชั่น เครื่องสำอาง เครื่องหนัง และนาฬิกาชั้นนำ หรือ ลักชัวรีแบรนด์ เพื่อกระตุ้นยอดจับจ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติให้เพิ่มขึ้น 

เปิดทางรุก“ค้าปลีกสนามบิน”

ประการสำคัญ ภาครัฐต้องไม่ปิดกั้นผู้ประกอบการรายอื่นให้เข้ามาดำเนินธุรกิจร้านค้าปลอดภาษีในสนามบิน และพื้นที่ค้าปลีกนอกสนามบิน เพื่อเปิดแข่งขันเสรีในทุกภาคส่วนเพื่อรัฐสามารถสร้างรายได้มากขึ้น

นอกจากนี้ ต้องมีมาตรการส่งเสริมการค้าชายแดนอย่างชัดเจน พิจารณาผ่อนผันการเปิดด่านต่างๆ เพิ่มจำนวนด่าน และอำนวยความสะดวก รวมทั้งพิจารณาให้มี VAT Refund for Tourist ในกรณีนักท่องเที่ยวเพื่อนบ้านเดินทางเข้ามาในประเทศทางบก

รวมไปถึงการสนับสนุนมิติการศึกษาและจ้างงาน ซึ่งไทยประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ ภาครัฐควรสนับสนุนการศึกษาหลักสูตรทวิภาคีในทุกระดับการศึกษาอย่างบูรณาการ เพื่อให้เกิดความสอดคล้องกันระหว่างความต้องการกำลังคน การผลิตกำลังคน และความต้องการของตลาดแรงงาน

คาดปีนี้โอกาสโตแตะ 3.4%

สำหรับสถานการณ์ค้าปลีกไตรมาสสุดท้ายนี้ พบว่ากำลังซื้อปรับตัวดีขึ้น เป็นผลจากอารมณ์การจับจ่ายเริ่มฟื้นตัวและมาตรการภาครัฐผลักดันงบประมาณลงสู่เศรษฐกิจฐานรากเริ่มสัมฤทธิผล ทั้งสวัสดิการประชารัฐ ช้อปช่วยชาติ โครงการ “รวมใจ เพิ่มสุข ช้อปสนุก ลดรับปีใหม่” วันที่ 14 ธ.ค.2560-4 ม.ค.2561 ทำให้เงินหมุนเวียนเข้าระบบมากขึ้น ส่งผลดัชนีค้าปลีกปี 2560 น่าจะเติบโต 3.2-3.4% ดีกว่าคาดการณ์เมื่อต้นปีเล็กน้อย 

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยหลัก ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจยังคงมาจากปัจจัยเดิม คือ การขยายตัวของภาคส่งออก ขณะที่เครื่องยนต์เศรษฐกิจอื่นๆ เพิ่งเริ่มฟื้นตัว ทั้งนี้ เศรษฐกิจปีหน้ามีโอกาสขยายตัวต่อเนื่องซึ่งอยู่บนสมมติฐานที่ไทยยังมีโมเมนตัมของการส่งออกที่ดีต่อเนื่อง  

การเติบโตของภาคการส่งออกไม่มีผลโดยตรงกับการบริโภคภาคค้าปลีก แต่จะมีผลโดยตรงต่อการลงทุนภาคเอกชน ซึ่งส่งผลมายังภาคค้าปลีกทางอ้อมจากการจ้างงานเพิ่มขึ้นและการขยายการลงทุน 

“ผลทางอ้อมจะส่งมายังภาคค้าปลีกใช้เวลา 6-8 เดือน โดยผลจากการขยายตัวของภาคส่งออกต่อการเติบโตของภาคค้าปลีกมีเพียงเล็กน้อย ซึ่งการจ้างงานจากภาคการส่งออกมีราว 1 ล้านคน เทียบแรงงานทั้งระบบ 38 ล้านคน ถือว่ายังน้อยมาก”

ขณะที่ตัวแปรสำคัญในภาคการลงทุน เป็นการลงทุนของภาครัฐในโครงสร้างพื้นฐานซึ่งน่าจะเห็นการ “ตอกเสาเข็ม” ในหลายโครงการ เป็นตัวแปรสำคัญกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศให้ฟื้นตัว โดยเฉพาะเงินหมุนเวียนผ่านการจ้างงานและการจัดซื้อจัดจ้างจะลงสู่ระบบเศรษฐกิจฐานรากที่ชัดเจนกว่า ซึ่งจากเริ่มต้นโครงการเงินที่หมุนเวียนเข้าสู่อุตสาหกรรมค้าปลีกต้องใช้เวลา 6-8 เดือนเช่นกัน  ดังนั้น ธุรกิจค้าปลีกจึงหวังให้ภาครัฐเร่งกดปุ่มเริ่มโครงการให้เร็วและให้เป็นไปตามกำหนดการ

สำหรับ ตัวแปรจากสถานการณ์ราคาสินค้าเกษตรซึ่งเป็นกลุ่มคนฐานล่างกลุ่มใหญ่ของประเทศ โดยราคาสินค้าเกษตรของไทยต้องอิงไปกับราคาตลาดโลก ซึ่งคาดการณ์ราคาสินค้าเกษตรโภคภัณฑ์คงไม่เพิ่มมากไปกว่านี้ แม้ผลผลิตข้าวปีนี้เพิ่มมากขึ้นทำให้ไทยเป็นผู้ส่งออกข้าวอันดับหนึ่งของโลก แต่ราคาซื้อขายไม่ได้เพิ่มขึ้น ราคายาง ยังไม่สามารถขยับตัวได้สูงขึ้น อ้อยและน้ำตาลตลาดโลกก็ยังอยู่ภาวะโอเวอร์ซัพพลาย

อีกตัวแปรสำคัญและต้องติดตามอย่างใกล้ชิด คือสถานการณ์ทางการเมือง ซึ่งจะเข้าโหมดการเลือกตั้ง ตามกำหนดการที่รัฐบาลได้ประกาศไว้ราวเดือนพ.ย.2561 

9 เดือนทรงตัวโต 2.8-3%

สำหรับสถานการณ์ค้าปลีก 9 เดือนปีนี้ เติบโต 2.8-3.0% อยู่ในระดับทรงตัว อย่างไรก็ตาม การเติบโตที่เด่นชัดในเกือบทุกหมวดสินค้ามีลักษณะ “กระจุกตัว” เฉพาะในกรุงเทพฯ และหัวเมืองหลัก การเติบโตสูงยังเป็นหมวดสินค้าซูเปอร์มาร์เก็ต  ซึ่งมีเป้าหมายกลุ่มผู้บริโภคคือระดับกลางขึ้นไป รวมทั้งหมวดสินค้าสุขภาพและความงาม ได้แก่ ร้านบิ้วตี้สโตร์ และ  ร้านยา อีกหมวดที่เติบโตสูง คือ สินค้าสุขภาพและสินค้าเฉพาะบุคคล 

สำหรับหมวดสินค้าในห้างสรรพสินค้า ยังคงได้รับผลกระทบจากบรรยากาศการจับจ่ายที่ยังไม่ปกติ และราคาสินค้าที่ไม่เอื้ออำนวยในการจับจ่ายของนักท่องที่ยวเนื่องจากภาระภาษีนำเข้าสินค้าแบรนด์หรู (Luxury Brand) ยังสูงเมื่อเทียบประเทศอื่นที่มีนโยบายเกี่ยวกับการลดภาษีแบรนด์หรู สร้าง ชอปปิง เดสทิเนชั่น เพื่อจูงใจนักท่องเที่ยว

ส่วนหมวดการแต่งบ้าน และหมวดเครื่องใช้ภายในบ้านและไฟฟ้า ไม่เติบโตเท่าที่ควร เป็นผลจากความซบเซาของอุตสาหกรรมก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ ด้านหมวดอาหาร (ร้านไฮเปอร์มาร์ท,ร้านสะดวกซื้อ) ที่จับกลุ่มลูกค้าระดับกลางลงล่างยังคงประสบปัญหาการเติบโต เนื่องจากกำลังซื้อในกลุ่มกลางลงล่างยังอ่อนแอ