ผ่าระบบการฝึก 'โรงเรียนเตรียมทหาร'

ผ่าระบบการฝึก 'โรงเรียนเตรียมทหาร'

จับประเด็นร้อน! ผ่าระบบการฝึก 'โรงเรียนเตรียมทหาร'

พิธีฌาปนกิจศพ “น้องเมย” หรือ นักเรียนเตรียมทหาร (นตท.) ภคพงศ์ ตัญกาญจน์ ท่ามกลางความเศร้าเสียใจของคนในครอบครัว ไม่ได้ทำให้ปริศนาการเสียชีวิตกลายเป็นเถ้าถ่านตามร่างของน้องเมยไปด้วย เพราะครอบครัวของน้องเมยยังยืนยันที่จะต่อสู้คดีต่อไป เพราะเชื่อว่าลูกชายไม่ได้เสียชีวิตจากการ “ถูกซ่อม” หรือ “ธำรงวินัย” ตามระเบียบปกติ

แรงกดดันจากสังคมในเรื่องนี้ ทำให้กระทรวงกลาโหมต้องขยับปรับแก้เกี่ยวกับการ “ธำรงวินัย” ถึงขั้นมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณา และเตรียมสรุปเป็นข้อเสนอกลับไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมในเร็ววันนี้

“ล่าความจริง” ตรวจสอบข้อมูลจากอดีตนักเรียนเตรียมทหาร ซึ่งปัจจุบันเป็นนายทหารในกองทัพ พบว่า “ระบบการฝึก” ที่ใช้ในโรงเรียนเตรียมทหารมีวัตถุประสงค์เพื่อเตรียมคนให้มีมาตรฐานเดียวกัน ก่อนเข้าไปเป็นทหารจริงเมื่อ “ขึ้นเหล่า” หรือ “แยกเหล่า” เป็นทหารบก ทหารเรือ ทหารอากาศ และตำรวจ โดยมี 3 ระบบใหญ่ๆ ที่ใช้กันมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

1.ระบบการปรับลักษณะทหาร เพื่อเตรียมความพร้อมในเรื่องลักษณท่าทาง การยืน เดิน นั่ง และอื่นๆ เพื่อให้มีลักษณะพร้อมสำหรับการเป็นทหาร

2.ระบบการปรับปรุงวินัย เพื่อเตรียมความพร้อมในเรื่องระเบียบวินัยต่างๆ เพื่อให้พร้อมรับคำสั่งทุกคำสั่งเมื่อต้องไปเป็นทหาร หรือออกรบจริงๆ

3.ระบบเกียรติศักดิ์ เพื่อเตรียมความพร้อมในเรื่องของจิตใจ ความคิด ความเสียสละ และสำนึกรับผิดชอบ ให้มีความเป็นทหารที่สมบูรณ์ โดยอุดมคติสูงสุดก็คือการพร้อมสละชีพเพื่อชาติ

สองระบบแรก คือ การปรับลักษณะทหาร และการปรับปรุงวินัย นำมาสู่การฝึก การลงโทษ และการซ่อม ซึ่งปฏิบัติสืบต่อกันมาตั้งแต่เตรียมทหารรุ่น 1 และแทบไม่เคยมีปัญหา เนื่องจากมีการวางระบบควบคุมดูแล ประกอบด้วย นายทหารบังคับบัญชา หรือ “ครูฝึก” ที่เป็นทหารจริงๆ กับ “นักเรียนบังคับบัญชา” หรือ “คอมแมนด์” ซึ่งมีทั้งนักเรียนรุ่นเดียวกัน และนักเรียนรุ่นพี่ เพื่อให้เกิดการยอมรับซึ่งกันและกัน และพร้อมปฏิบัติตามคำสั่งเมื่อขึ้นเหล่า หรือออกสนามรบ

นายทหารในกองทัพทุกคนที่ให้ข้อมูลกับ “ล่าความจริง” ยืนยันตรงกันว่า ระบบที่วางเอาไว้ ถือว่าดีมากอยู่แล้ว และแทบไม่เคยมีปัญหา ส่วนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเหมือนกรณี “น้องเมย” เป็นเรื่องของตัวบุคคล ฉะนั้นต้องแก้ที่ “บุคคล” ไม่ใช่ “ระบบ”

คำถามก็คือ “ระบบ” และ “ตัวบุคคล” ที่วางเอาไว้ ถูกควบคุมด้วยอะไร?

คำตอบที่ “ล่าความจริง” ได้มา ก็คือ การฝึกและการปรับปรุงวินัย ต้องอยู่ภายใต้กรอบใหญ่ของพระราชบัญญัติวินัยทหาร พ.ศ.2476 ซึ่งยังคงบังคับใช้อยู่จนถึงปัจจุบัน โดยมี “กฎเหล็ก” ก็คือต้องไม่ถูกเนื้อต้องตัวผู้ที่ถูกลงทัณฑ์หรือปรับปรุงวินัย

ฉะนั้นหากกำลังพล หรือแม้แต่นักเรียนทหารคนใดกระทำผิดกฎหมาย ขัดกับระบบ และกฎเหล็กที่วางเอาไว้ ก็ต้องรับโทษทั้งทางวินัยและอาญาอย่างไม่มีข้อยกเว้น ซึ่งต้องถือว่าเป็นการกระทำในฐานะส่วนตัว ไม่ใช่นโยบายของกองทัพหรือโรงเรียนเตรียมทหาร

คำถามทิ้งท้ายของเรื่องนี้ก็คือ แล้วคณะกรรมการที่กระทรวงกลาโหมตั้งขึ้นเพื่อไปพิจารณาระบบการ “ปรับปรุงวินัย” หรือ “การซ่อม” ตลอดจน “การฝึก” จะเข้าไปปรับแก้ในส่วนไหน เพราะทุกคนที่เคยผ่านโรงเรียนเตรียมทหารประสานเสียงยืนกรานว่า “ระบบ” นั้นดีงามอยู่แล้ว ปัญหาอยู่ที่ตัวบุคคลต่างหาก

คำตอบจากนายทหารยศพลเอกรายหนึ่ง บอกกับ “ล่าความจริง” ว่า สิ่งที่ต้องปรับปรุง คือ ปรับระบบให้เท่าทันกับยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป เพราะนักเรียนเตรียมทหารทุกวันนี้เป็นเด็กเจนเนอเรชั่นใหม่ ที่เรียกว่า Gen Z เด็กเหล่านี้คิดเป็น, ใช้โซเชียลมีเดีย และต้องการเหตุผลในการกระทำ

ฉะนั้นเรื่องสำคัญที่ต้องเพิ่มเข้าไป ก็คือการให้เหตุผลประกอบการลงโทษหรือปรับปรุงวินัย ไม่ใช่มุ่งใช้คำสั่งและอำนาจแต่เพียงอย่างเดียว

ยิ่งไปกว่านั้น ทั้งนายทหารบังคับบัญชา และนักเรียนบังคับบัญชา ต้องมีความเข้มงวด ตรวจตรา ตรวจสอบ ไม่ให้มีใครหรือบุคคลใด อาศัยช่องว่างในความเป็น “รุ่นพี่” หรือ “นายทหารปกครอง” สั่งลงโทษเกินขอบเขตตามอำเภอใจ

หากทำได้เช่นนี้ ระบบเกียรติศักดิ์ที่วางเอาไว้ของโรงเรียนเตรียมทหาร ก็จะมีความศักดิ์สิทธิ์ และกรณีอย่าง “น้องเมย” ก็จะไม่เกิดขึ้นอีกซ้ำรอยอีกเลย