'ปรีดียาธร'หนุนเหมืองโปแตซอีสาน 'จักรมณฑ์'ชี้ค่า200ล้านล้าน

'ปรีดียาธร'หนุนเหมืองโปแตซอีสาน 'จักรมณฑ์'ชี้ค่า200ล้านล้าน

4อดีตรมต.เสวนามข. "ปรีดียาธร" หนุนเหมืองโปแตซอีสาน "จักรมณฑ์" ชี้ใต้ดินในอีสานมูลค่ามากถึง 200 ล้านล้านบาท จะทำให้รัฐบาลจะมีงบประมาณให้ใช้จ่ายมากถึง 100 ปี

มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยฝ่ายวิจัยและถ่ายทอดเทคโนโลยี ร่วมกับ 8 องค์กรธุรกิจเมืองขอนแก่น จัดงานเสวนา “54 ปี มข.กับทิศทางเศรษฐกิจอีสานในทศวรรษหน้า” โดยมีวิทยากรประกอบด้วย ม.ร.ว.ปรีดียาธร เทวกุล กรรมการสภามหาวิทยาลัยและอดีตรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ , ดร.ณรงค์ชัย อัครเศรณี นายกสภามหาวิทยาลัยขอนแก่น และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน , นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช อดีต รมว.อุตสาหกรม พร้อมด้วย นายอำนวย ปะติเส อดีต รมว.เกษตรและสหกรณ์ โดยมีพ่อค้า ประชาชน ภาครัฐ ภาคเอกชน นักศึกษา คณาจารย์เข้าร่วมรับฟังกว่า 500 คน โดยมี ม.ร.ว.ปรีดียาธร เทวกุล เป็นผู้ดำเนินการเสวนา

ดร.ณรงค์ชัย กล่าวว่า อีสานเป็นพื้นที่ใหญ่ มีพื้นที่ 1 ใน 3 ของประเทศแต่มีคนจนมากที่สุด แม้ปีหน้า รัฐบาลประกาศจะไม่มีคนจนแล้วก็ตาม การจะพัฒนาอีสานนั้นจะต้องดูปัจจัยหลายอย่าง ก่อนหน้านี้อาจจะติดปัญหาหลายอย่าง แต่พอมีการรวมกลุ่มประเทศ จีเอ็มเอส หรือประเทศอนุภาคลุ่มน้ำโขง และ เออีซี หรือประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ทำให้โอกาสของคนอีสานมีมากขึ้น เพราะมีตลาดใหญ่เพิ่มมากอีก 3 แห่งคือ ลาว กัมพูชา และเวียดนาม อนาคตของอีสานอยู่ที่เราต้องบริหารจัดการตนเอง เพราะเพื่อนบ้านขยายตัวและพัฒนาไปมาก ทำอย่างไรการพัฒนาอีสานจะไม่ต้องพึ่งกรุงเทพฯ และจะพึ่งพากลุ่มประเทศอินโดจีนได้อย่างไร เพื่อให้การพัฒนาขยายออกไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ไม่ใช่เข้าไปที่ส่วนกลางคือกรุงเทพฯอย่างเดียว


ด้านนายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช อดีต รมว.อุตสาหกรม กล่าวถึงการพัฒนาด้านอุตสาหกรรมว่า อีสานมีการเปลี่ยนแปลงไปมากในห้วง 50 ปีที่ผ่านมา และคาดว่าในอีก 10 ปีข้างหน้าทุกอย่างจะเปลี่ยนแปลงไปมากกว่านี้อีก เพราะโอกาสความเจริญมีมาก อีสานพื้นฐานการพัฒนาคือภาคเกษตร โดยทรัพยากรของภาคอีสานอยู่ที่ภาคเกษตร แต่ดินไม่อุดมสมบูรณ์เหมือนภาคอื่น และต้องพึ่งฝนฟ้าอากาศ การทำเกษตรค่อนข้างลำบากแต่ก็มีการพัฒนามาเรื่อยๆ โดยเฉพาะการสร้างเขื่อนเพื่อพัฒนาระบบน้ำ และทำให้การเกษตรดีขึ้น แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อการพัฒนาด้านทรัพยากร

นอกจากนั้นสาเหตุคือทำเล อีสานเป็นเศรษฐกิจก้นถุง สมัยก่อนออกไม่ได้เพราะเพื่อนบ้านเรารบกันตลอดทำให้แย่ ต้องอาศัยปากถุงคือกรุงเทพฯ การดูดเงินหรือการเงินจะเข้าไปต้องอาศัยกรุงเทพฯ แต่ก็จะเปลี่ยนไปอีกในไม่นานนี้และปัจจัยที่สามคือเรื่องของคน และคนอีสานไปทำงานหลายที่พร้อมกับส่งเงินกลับมาเป็นจำนวนมาก มีทั้งเงินโอน เงินค่าจ้างแต่ไม่ได้นับรวมในจีดีพี ทำให้เกิดปัญหาเรื่องการพัฒนา ท้ายสุดคือระบบโครงสร้างพื้นฐานหรืออินฟาสตรัคเจอร์ ถนนหนทาง ไฟฟ้า ชลประทาน พื้นที่อีสานถือว่ามีคุณภาพมากในประเทศ

“แต่หากจะพัฒนาดีสาน ต้องเอาทรัพยากรที่มีอยู่ โดยเฉพาะทรัพยากรใต้ดินออกมาใช้ประโยชน์โดยเฉพาะสินแร่ใต้ดินภาคอีสานยังมีสินแร่ใต้ดินอยู่อีกมาก โดยเฉพาะมีโปแตซใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลกลองจากแคนาดา และ เปรารุส ซึ่งจีนสนใจอยากจะมาลงทุนในประเทศไทยมาก เวลาขุดไปในดินจะเจอโปแตช 30 เปอร์เซ็นต์ เกลือ 70 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งโปแตชสามารถเอาไปทำอุตสาหกรรมต่อเนื่องได้ อีกทั้งอุตสาหกรรมเคมี กระดาษ ส่วนเกลือยังสามารถแยกไปทำอย่างอื่นได้เยอะ ทั้งแมกนีเซียม โซดาไฟ และอีกมากมาย โดยก่อนหน้านี้มีการลงทุนเหมืองแร่โปแตซอาเซียนไปแล้วที่ อ.บำเหน็จณรงค์ จ.ชัยภูมิ จำนวน 4 หมื่นล้าน เฉพาะโปแตซ และที่ จ.อุดรธานี มีโปแตซใต้ดินใหญ่มาก นอกจากนั้นยังมีแหล่งโปแตซที่จ.สกลนครอีก และหากที่ จ.สกลนคร มีการอนุมัติสัมปทานเมื่อไหร่อีสานจะมีเศรษฐกิจเฟื่องฟูอย่างมากเพราะจะมีโรงงาน และอุตสาหกรรมต่างๆ ตามมาอีกจำนวนมาก คาดว่าอีสานจะมีโปแตซใต้ดินในอีสานมูลค่ามากถึง 200 ล้านล้านบาท จะทำให้รัฐบาลจะมีงบประมาณให้ใช้จ่ายมากถึง 100 ปี แต่ขณะนี้ยังเกิดไม่ได้เพราะยังมีการคัดค้านอยู่ ซึ่งเสียโอกาสมาก” นายจักรมณฑ์ กล่าว

ในส่วนภาคอุตสาหกรรม นายจักรมณฑ์ กล่าวถึง ตัวเลขของ บีโอไอ ที่มีการส่งเสริมพบว่า ปีนี้การส่งออกดีมาก มียอดส่งออกในช่วง 9 เดือนมียอดส่งออกประมาณแสนล้านบาท เฉพาะยอดที่ได้รับการส่งเสริมจากบีโอไอ และยอดการส่งเสริมการลงทุนในช่วง 9 เดือนนี้ประมาณ 1.7 พันล้านบาท โดยเฉพาะเรื่องพลังงานทดแทน โรงไฟฟ้าพลังงานลม และอุตสาหกรรมการเกษตร ส่วนที่เหลือจะเป็นชิ้นส่วนเครื่องไฟฟ้า โลหะ ต่างๆ ซึ่งจะอยู่ที่จ.นครราชสีมาเป็นหลัก

ด้าน ม.ร.ว.ปรีดียาธร กล่าวเสริมเรื่องการส่งเสริมให้ทำเหมืองแร่โปแตซว่า เห็นด้วยกับการเอาโปแตซใต้ดินขึ้นมา เพราะจะทำให้ภาคอีสานพัฒนาไปเป็นอย่างมาก ไม่แพ้นิคมอุตสาหกรรมทางภาคตะวันออกอย่าง อิสเทริ์นซีบอร์ด หากมีการอนุมัติเหมืองแร่โปแตซจะทำให้มีโรงงานอุตสาหกรรมเต็มไปหมด และเม็ดเงินจะเข้ามาในภูมิภาคมากขึ้น คนอีสานจะมีรายได้มากขึ้นด้วยเช่นกัน