'นวทรรศน์'เปิดตัวทริปสเปซหนุนรายย่อยโตออนไลน์

'นวทรรศน์'เปิดตัวทริปสเปซหนุนรายย่อยโตออนไลน์

หลังจากเปิดตัวธุรกิจในฐานะสตาร์ทอัพดาวรุ่งด้านท่องเที่ยวมาตั้งแต่ปี 2554 ระยะเวลา 7 ปีที่ผ่านมา “นวทรรศน์ ฮอสพิทัลลิตี้” ซึ่งเป็นต้นตำรับในการพัฒนา “ทัวร์ร์เส้นทางอาหารด้วยรถตุ๊กตุ๊ก”

กำลังจะก้าวเข้าสู่บทบาทใหม่ นำเสนอตัวเองเป็น “เกตเวย์” สำหรับธุรกิจรายย่อยที่ต้องการทะลุขีดจำกัดเพื่อเข้าสู่ตลาดออนไลน์เต็มรูปแบบ

ชินาวุธ ชินะประยูร ผู้อำนวยการ บริษัท นวทรรศน์ ฮอสพิทัลลิตี้ จำกัด เปิดเผยว่าวางกลยุทธ์ในการขยายธุรกิจรูปแบบใหม่ภายใต้ชื่อ ทริปสเปซ (tripspace) พัฒนาเทคโนโลยีออนไลน์ขึ้นมาเป็น “ระบบบริหารจัดการทัวร์และระบบจอง” ให้กับธุรกิจนำเที่ยวที่เป็นเอสเอ็มอี หรือการท่องเที่ยวชุมชน ที่ยังอาจจะไม่มีเงินทุนพอที่จะลงทุนด้านเทคโนโลยีที่ใช้งบประมาณสูง และยังขาดบุคลากรที่จะแบ่งมาทำตลาดด้านนี้โดยเฉพาะ หรือยังไม่มีองค์ความรู้มากเพียงพอที่จะทำตลาดออนไลน์ด้วยตัวเอง

ทั้งนี้ ข้อมูลจากกรมการท่องเที่ยว พบว่าธุรกิจนำเที่ยวมักจะ “มาเร็วไปเร็ว” จากการจดทะเบียนที่มีอยู่กว่า 1.5 หมื่นรายนั้น มีกลุ่มที่ไม่สามารถยืนระยะได้นาน เนื่องจากความไม่พร้อมในการทำตลาดให้ทันกับความเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะการเข้าถึงเทคโนโลยี จนต้องปิดตัวไปกว่า 5,000 ราย ซึ่งแม้จะมีผู้เล่นรายใหม่เข้ามาเสริมตลอดเวลา แต่ตัวเลขการจดทะเบียนใหม่ราว 3,000 รายนั้นก็ยังต่ำกว่าบริษัทที่ต้องล้มหายไป

ดังนั้นจึงนำมาสู่ความคิดที่ว่า หากมีระบบที่ช่วยบริหารจัดการทั้งด้านออฟไลน์และออนไลน์ได้ เชื่อว่าจะทำให้ธุรกิจท่องเที่ยวทั้งระบบได้ประโยชน์ด้วยกัน โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายย่อย จะได้มีช่องทางเชื่อมต่อกับออนไลน์ ทราเวล เอเย่นต์ (โอทีเอ) ทั้งหมดที่มีอยู่ในระบบ และจากเส้นทางนั้นจะต่อตรงถึงลูกค้าได้ง่ายขึ้น ขณะเดียวกันจะเป็นการสร้างความแข็งแกร่งให้ผู้ประกอบการด้วยกันเอง ก่อนที่บริษัทต่างชาติจะเห็นโอกาสและเข้ามาเป็นตัวแทน “กินรวบ” ตลาดไทย เหมือนกับที่เคยเกิดขึ้นกับธุรกิจอื่นๆ มาแล้ว

ด้าน กิติชัย ศิรประภานุรัตน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท นวทรรศน์ ฮอสพิทัลลิตี้ จำกัด กล่าวว่า ทริปสเปซจะเป็นเกตเวย์ให้กับผู้ประกอบการรายย่อย หรือชุมชนเพื่อการท่องเที่ยว ให้เชื่อมต่อกับทุกแพลตฟอร์มที่เกี่ยวข้องกับการทำตลาดออนไลน์ เช่น โอทีเอ หรือ ทริปแอดไวเซอร์ เป็นต้น แต่ทั้งนี้ ชุมชนที่เข้าร่วมจะต้องมีความพร้อมรองรับนักท่องเที่ยวแล้วเท่านั้น และในอนาคตจะต่อยอดพัฒนาเป็น “มาร์เก็ตเพลส” หรือตลาดให้ผู้บริโภคเข้ามาเลือกโปรแกรมเดินทางด้วยตัวเอง

ทั้งนี้ วางเป้าหมายว่าในปีแรกจะนำผู้ประกอบการกลุ่มเอสเอ็มอีและท่องเที่ยวชุมชนมาเข้าร่วมให้ได้ราว 10-20% ก่อนที่ระยะยาวภายใน 5 ปีจะเพิ่มเป็น 30-40% จากที่มีในตลาดทั้งหมด โดยพร้อมจะทำงานร่วมกับสตาร์ทอัพกลุ่มอื่นๆ เพื่อให้บริการธุรกิจท่องเที่ยวครบวงจรมากขึ้น เช่น เชื่อมโยงธุรกิจนำเที่ยวให้ไปใช้สตาร์ทอัพบริการระบบบัญชี เป็นต้น ที่จะช่วยอำนวยความสะดวกในการบริหารจัดการให้ง่ายขึ้นอีก

ที่ผ่านมา Digital Transformation หรือปรับกลยุทธ์มาใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการดำเนินธุรกิจ ยังเป็นข้อจำกัดสำหรับองค์กรธุรกิจขนาดเล็ก ระบบออนไลน์ที่เข้ามาให้บริการแล้วยังเป็นแบบ Peer-to-Peer หรือการเชื่อมต่อระหว่างลูกค้ากับผู้ให้บริการรายบุคคลมากกว่า แต่การเข้ามาของทริปสเปซจะเป็นทั้ง บีทูบี และพร้อมต่อยอดสู่การเป็น บีทูบีทูซี ซึ่งมีลูกค้าเป็นปลายทางได้ด้วยในอนาคต”

ทั้งนี้ บริการที่นำเสนอ ได้แก่ การบริหารจัดการการจองทั้งจากช่องทางออนไลน์, การขายผ่านหน้าร้าน และการขายผ่านเอเย่นต์ และดีเอ็มซี (บริษัทรับออกแบบจัดการเดินทางในจุดหมาย) จุดเดียวเบ็ดเสร็จ ซึ่งจะช่วยลดความยุ่งยากและโอกาสที่จะเกิดความผิดพลาดในระบบสินค้าคงเหลือ (Inventory) ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

สำหรับการแตกไลน์ธุรกิจ ทริปสเปซ ขึ้นมานั้น เป็นส่วนหนึ่งในการเข้าร่วมโครงการ “สยาม อินโนเวชั่น ดิสทริค” โดยบริษัท อยู่ในกลุ่มสตาร์ทอัพที่กำลังขยายกิจการและจะได้รับเงินทุนสนับสนุนราว 5 ล้านบาท ซึ่งยอมรับว่าด้วยการใช้นวัตกรรมใหม่ๆ ทำให้ต้องมีการลงทุนด้านเทคโนโลยีสูงมาก และอาจใช้ระยะเวลานานในการคืนทุน 

แต่ระยะยาวจะเป็นการสร้างการเติบโตของบริษัทและช่วยยกระดับธุรกิจท่องเที่ยวในอุตสาหกรรมทั้งระบบ

รีแบรนด์บริการนำเที่ยว

สำหรับบริการนำเที่ยว “สไมล์ลิ่ง ตุ๊กตุ๊ก” ซึ่งเป็นธุรกิจที่ทำรายได้หลักให้บริษัท กิติชัย กล่าวว่ามีแผนรีแบรนด์การให้บริการนำเที่ยว ให้เป็นการเข้าถึงการท่องเที่ยวเชิงประสบการณ์ และมีตัวเลือกในการเดินทางที่หลากหลายใน 10 จังหวัดทั่วประเทศ

นอกจากตุ๊กตุ๊กที่มีบริการประจำราว 50 คันแล้ว ยังเพิ่มเส้นทางทัวร์ชิมอาหารในกรุงเทพฯ ผ่าน “มอเตอร์ไซค์รับจ้าง” เพื่อความคล่องตัวในการเดินทาง มีโอกาสท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น เพราะทำลายข้อจำกัดของการเที่ยวในเมืองหลวงที่มักเผชิญกับปัญหาการจราจรติดขัดซึ่งทำให้แวะสถานที่ๆ ไกลออกไปไม่ได้มากเท่าที่ควร

หลังจากเปิดตัวได้รับการตอบรับจากลูกค้าชาวต่างชาติที่ดี โดยเฉพาะกลุ่มคนอายุไม่เกิน 30 ปี ที่ยังสนุกและพร้อมกับการสัมผัสประสบการณ์ใหม่ๆ โดยการเดินทางใช้เวลา 4 ชั่วโมง ราคาเฉลี่ยที่ 2,400 บาท โดยเดินทางพร้อมกันครั้งละ 8 คัน นำเที่ยวโดยมัคคุเทศก์ที่มีใบอนุญาต และผู้ขับขี่ทุกคันต้องผ่านการอบรม มีการตรวจเช็คสภาพรถยนต์ และประกันการเดินทาง