ททท.เปิด 4 เส้นทางท่องเที่ยวเชื่อมอาเซียน

ททท.เปิด 4 เส้นทางท่องเที่ยวเชื่อมอาเซียน

แม้ว่าตลาดท่องเที่ยวทั่วโลกจะยังอยู่ในช่วงขาขึ้น แต่รูปแบบการเดินทางของคนเริ่มปรับเปลี่ยนสู่การแสวงหาความต้องการที่ “ลึกซึ้งกว่าเดิม” ประเทศใดที่ปรับตัวได้ก่อนจึงชิงความได้เปรียบในการเตรียมพร้อมล่วงหน้า

ยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า หลังจากที่เปิดตัวแคมเปญสื่อสารการตลาดใหม่ “Open to the New Shades” เพื่อแสดงจุดเด่นการท่องเที่ยวไทยที่ตอบสนองความต้องการได้อย่างหลากหลาย 

ขณะนี้เริ่มนำแนวคิดแปรรูปสู่การทำงานที่เป็นรูปธรรม ด้วยการจัดทำเส้นทางท่องเที่ยวที่ตอบสนองประสบการณ์เฉพาะที่ตรงกับความสนใจของแต่ละกลุ่ม ผ่านคู่มือ “Experience Thailand and More” นำเสนอ 4 เส้นทางในประเทศ ที่เน้นสร้างการรับรู้แนวใหม่ และสามารถพุ่งตรงไปที่กลุ่มเป้าหมายชัดเจนมากขึ้น

สำหรับ 4 เส้นทาง ประกอบด้วย ภาคเหนือ A Journey of ASEAN Ancient Kingdoms เจาะกลุ่มผู้ชื่นชอบวัฒนธรรมในเชิงลึก, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ Mekong Active Adventure Trail จะนำเสนอกลุ่มที่ชอบกิจกรรมแอคทีฟและการท่องเที่ยวกีฬาให้ชัดเจนมากขึ้น, ส่วนภาคใต้ ASEAN Peranakan and Nature Trail จะเปิดมุมมองใหม่ให้ภูเก็ตที่มีการรับรู้จุดแข็งแต่หาดทรายชายทะเล มาเป็นการนำเสนอวัฒนธรรมเปอรานากันมาผนวกสร้างจุดเด่นเพิ่มเติม และที่สุดท้าย คือ การเปิดตัวเส้นทางอาหาร ASEAN World-Class Culinary and Heritage Cities เพื่อยกระดับไทยเป็นจุดหมายระดับโลกในอาเซียน

จุดเด่นของทั้ง 4 เส้นทางคือ จะเชื่อมโยงการเดินทางกับเพื่อนบ้าน เพื่อใช้จุดแข็งของแต่ละประเทศมาเสริมเป็นจุดเด่น ภาคเหนือเชื่อมต่อกับ มัณฑะเลย์และบากัน ส่วนภาคอีสาน เชื่อมโยง สปป.ลาว และกัมพูชา ขณะที่ ภาคใต้ ผูกโยงต่อถึงลังกาวี และปีนัง ในมาเลเซีย 

ขณะที่ เส้นทางอาหารชูกรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลางก่อนโดยสารเครื่องบินต่อไปยังมาเลเซีย และสิงคโปร์ ที่มีความโดดเด่นเรื่องอาหารท้องถิ่นเช่นกัน

ชินาวุธ ชินะประยูร ผู้อำนวยการ บริษัท นวทรรศน์ ฮอสพิทัลลิตี้ จำกัด กล่าวว่าการพัฒนาเส้นทางครั้งนี้ มาจากการลงพื้นที่สำรวจราว 5 เดือน นอกจากจะโฟกัสไปที่กลุ่มความสนใจเฉพาะด้านแล้ว จะให้ความสำคัญกับการกระจายรายได้จากแหล่งท่องเที่ยวหลัก เช่น ภาคเหนือ เลือกให้ “เชียงราย” เป็นจุดศูนย์กลางการเชื่อมโยงไปยังลำพูน และ เชียงใหม่ ที่ยังมีแหล่งท่องเที่ยวโบราณสถานที่ยังต้องการการส่งเสริมให้ติดตลาด เช่น เวียงกุมกาม เป็นต้น ขณะที่เส้นทางภูเก็ต จะแนะนำการเดินทางต่อเนื่องไปยังกระบี่, ตรัง และสตูล เพิ่มเติม

ส่วนเส้นทางอีสานที่มี “บุรีรัมย์” เป็นศูนย์กลาง ใช้ประโยชน์จากความชัดเจนจากการพัฒนาจังหวัดให้เป็นศูนย์กลางด้านกีฬา เช่น มอเตอร์สปอร์ต และฟุตบอล ที่เป็นจุดแข็งอยู่แล้ว ดึงดูดกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่แสวงหากิจกรรม และนำสู่เส้นทางแบบเดียวกันรองรับ เช่น การใช้ชีวิตกับช้างที่สุรินทร์ และเทรกกิ้งที่ผามออีแดง ศรีษะเกษ หรือ สามพันโบก ในอุบลราชธานี ก่อนเข้าสู่เมืองปากเซ ของ สปป.ลาว ซึ่งเป็นจุดหมายยอดนิยมของการท่องเที่ยวผจญภัยอยู่แล้ว และต่อเนื่องไปยังอีก 2 เมืองใน กัมพูชา ที่มีกิจกรรมไฮไลท์ เช่น นั่งเรือชมโลมาอิรวดี เป็นต้น

ปัจจุบันนักท่องเที่ยวที่ชอบแนวผจญภัยมักจะเดินทางตรงไปยังแหล่งที่มีชื่อเสียงเลย เช่น ปากเซ ในแขวงจำปาศักดิ์ ของลาวที่มีชื่อเสียงมาก ดังนั้น หากไทยสามารถผนวกเส้นทางเข้าร่วมได้ จะเป็นการดึงจุดแข็งของแต่ละแห่งมารวมยิ่งเสริมความโดดเด่น และสามารถตอบสนองกลุ่มเป้าหมาย เช่น ยุโรป ที่สนใจการเที่ยวประเทศใหม่ๆ ในอาเซียน เช่น เมียนมา, ลาว, กัมพูชา มากขึ้นได้

การจัดทำคู่มือดังกล่าวมีโปรแกรมแนะนำสำหรับการเดินทางทั้งหมด รวมถึงวิธีการเดินทางผ่านแดนระหว่างประเทศ ซึ่งเหมาะทั้งการเดินทางท่องเที่ยวด้วยตัวเอง (FIT) และบริษัทนำเที่ยวสามารถนำไปบรรจุเป็นโปรแกรมผลิตขายได้เช่นกัน