'ลาว'เตรียมขายไฟ 3โครงการป้อนไทยปี62

'ลาว'เตรียมขายไฟ 3โครงการป้อนไทยปี62

แหล่งข่าว เผย "สปป.ลาว" เตรียมขายไฟ 3โครงการป้อนไทยปี62

ย้อนไปกว่า 20 ปีที่ผ่านมา หรือตั้งแต่ปี 2539 ที่รัฐบาลไทยและลาวได้ลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการพัฒนาพลังงานไฟฟ้าในลาว 2 ฉบับ ซึ่งมีสาระสำคัญสรุปว่า ทั้งสองฝ่ายจะส่งเสริมความร่วมมือในการพัฒนาไฟฟ้าในลาวเพื่อจำหน่ายให้กับไทยจำนวนประมาณ 3,000 เมกะวัตต์ โดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้ลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าโครงการแรกกับลาว คือ โรงไฟฟ้าน้ำเทิน-หินบุน เมื่อปี 2539 และจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบ 187 เมกะวัตต์ในปี 2541 นับเป็นจุดเริ่มต้นการซื้อขายไฟฟ้ากับต่างประเทศเป็นครั้งแรกของไทย

จากนั้น คณะรัฐมนตรี(ครม.) เมื่อวันที่ 30 ต.ค. 2550 มีมติขยายกรอบรับซื้อไฟฟ้าไทยและลาว เป็น 7,000 เมกะวัตต์ ภายในปี 2558 และเมื่อวันที่ 10 ส.ค.2559 คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) เห็นชอบขยายกรอบรับซื้อไฟฟ้าไทยและลาว เป็น 9,000 เมกะวัตต์ โดยปัจจุบัน โรงไฟฟ้าภายใต้กรอบลงนามดังกล่าวได้ผลิตไฟฟ้าเข้าสู่ระบบเชิงพาณิชย์(COD) แล้วประมาณ 3,600 เมกะวัตต์
โดยปัจจัยเอื้อหนุนทำให้การซื้อไฟฟ้าจากลาวประสบความสำเร็จด้วยดี เนื่องจากเป็นโรงไฟฟ้าพลังน้ำ ที่มีต้นทุนไม่แพง ระยะทางไม่ไกลจากไทย และความสัมพันธ์ที่ดีระหว่าง 2 ประเทศ รวมถึงยังส่วนสำคัญที่จะช่วยกระจายความเสี่ยงการพึ่งพาผลิตไฟฟ้าเชื้อเพลิงใดมากเกินไป ทำให้ลาวเป็นประเทศต้นๆ ที่ไทยจะพิจารณารับซื้อไฟฟ้า

แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงงาน เปิดเผยว่า การรับซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศยังเป็นไปตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ พ.ศ.2558-2579(พีดีพี 2015) ที่กำหนดให้จัดหาไฟฟ้าจากต่างประเทศไม่เกิน 20% ของกำลังผลิตไฟฟ้าในระบบ

โดยในปี 2562 จะมีโรงไฟฟ้า 3 แห่ง จากประเทศลาว ที่ลงนามสัญญาซื้อไฟฟ้า(PPA) กับกฟผ. จำนวน 3 โครงการ ส่งไฟฟ้าเข้ามาขายให้ไทย คือ โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนไซยะบุรี กำลังผลิต 1,220 เมกะวัตต์, โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อย กำลังผลิต 354 เมกะวัตต์ และโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำเงี๊ยบ 1 กำลังผลิต 269 เมกะวัตต์ รวมกำลังผลิต 1,843 เมกะวัตต์ หลังจากที่โรงไฟฟ้าหงสาลิกไนต์ เครื่องที่ 1-3 กำลังผลิตรวมประมาณ 1,473 เมกะวัตต์ ได้ส่งเข้ามาขายให้ไทยแล้วในช่วงปี 2558-2559

ขณะที่ในปี 2565 ยังมีโครงการโรงไฟฟ้าน้ำเทิน 1 กำลังผลิตราว 520 เมกะวัตต์ ที่เตรียมส่งมาขายให้ไทย ส่งผลให้ปริมาณรับซื้อไฟฟ้าจากลาว จะเพิ่มเป็น 5,965 เมกะวัตต์ ซึ่งยังต่ำกว่ากรอบบันทึกความร่วมมือ(MOU) ด้านพลังงานไฟฟ้าระหว่างไทยกับลาว กำหนดไว้ที่ 9,000 เมกะวัตต์ หรือ ยังเหลือสัดส่วนไฟฟ้าที่สามารถรับซื้อจากลาวได้อีกประมาณ 3,000 เมกะวัตต์

ส่วนจะขยายกรอบความร่วมมือรับซื้อไฟฟ้าเป็น 1 หมื่นเมกะวัตต์ตามข้อเสนอของลาวหรือไม่ ไทยยังต้องพิจารณาถึงอัตราการเติบโตของความต้องการใช้ไฟฟ้าของประเทศในอนาคตด้วย ซึ่งขณะนี้ กระทรวงพลังงาน อยู่ระหว่างจัดทำค่าพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าของไทย เพื่อให้เป็นฐานข้อมูลในการจัดทำแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ(พีดีพี) ฉบับใหม่

แหล่งข่าว กล่าวอีกว่า การจัดทำแผนพีดีพี ฉบับใหม่ มีแนวโน้มที่จะกำหนดสัดส่วนการรับซื้อไฟฟ้าในแต่ละประเทศไม่เกิน 13% ของกำลังผลิตไฟฟ้าในระบบ จากเดิมที่ไม่ได้กำหนดเป็นรายประเทศ ซึ่งจะเป็นการกระจายความเสี่ยงโดยไม่พึ่งพาประเทศใดประเทศหนึ่งมากเกินไปเพื่อความมั่นคงด้านไฟฟ้า และการจัดหาไฟฟ้าจากต่างประเทศรวมต้องไม่เกิน 25% ของกำลังผลิตไฟฟ้าในระบบ เพิ่มขึ้นจาก 20% ในแผนพีดีพี ฉบับปัจจุบัน

“การรับซื้อไฟฟ้าจากลาว ยังเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับไทย เพราะการผลิตไฟฟ้าจากพลังน้ำ มีต้นทุนถูกประมาณ 2 บาทต่อหน่วย ไม่เป็นการสร้างภาระค่าไฟฟ้าในกับประเทศ” แหล่งข่าว กล่าว

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ ลาว ได้เสนอให้ไทยพิจารณารับซื้อไฟฟ้าจากโครงการที่อยู่ในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของลาว เพิ่มเติมอีก 5 โครงการ กำลังผลิตประมาณ 3,000 เมกะวัตต์ ประกอบด้วย โครงการผลิตไฟฟ้าจากจีน ไม่เกิน 1,000 เมกะวัตต์ซึ่งโครงการนี้ยังเป็นไปตามกรอบความร่วมมือ (MOU) การซื้อขายไฟฟ้าไทย-จีน ที่ได้ลงนามซื้อขายไฟฟ้าระหว่างกัน 3,000 เมกะวัตต์ ตั้งแต่ปี 2541 และอีก 4 โครงการในลาว คือ โรงไฟฟ้าปากเบ่ง, โรงไฟฟ้าน้ำงึม 3, โรงไฟฟ้าเซกอง 5 และโรงไฟฟ้าดอนสะโฮง รวมกำลังผลิตประมาณ 2,000 เมกะวัตต์