เส้นทางเหนือจริงของนักเขียนหญิงซีไรต์

เส้นทางเหนือจริงของนักเขียนหญิงซีไรต์

รางวัลซีไรต์ที่ว่าเคร่งขรึม ต้องยอมสยบให้แก่ความเหนือจริงของรวมเรื่องสั้น ‘สิงโตนอกคอก’ แต่ที่ดูจะเหนือจริงยิ่งกว่าคือเส้นทางที่นักเขียนสาวคนนี้เดินมาสู่ความเป็น ‘ซีไรเตอร์’

            จะเรียกว่าเป็นม้ามืดก็ไม่เชิง เพราะ สิงโตนอกคอก รวมเรื่องสั้นของ จิดานันท์ เหลืองเพียรสมุท ฟันฝ่าจนคว้าชัยรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยม (ซีไรต์) ประจำปี 2560 เพราะความแปลกใหม่ของรวมเรื่องสั้นชุดนี้ที่ห่างหายไปจากเวทีซีไรต์มาระยะหนึ่งแล้ว อย่างในคำประกาศของคณะกรรมการตัดสินรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (ซีไรต์) ประจำพุทธศักราช 2560 ที่ว่า...

            “คณะกรรมการตัดสินรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (ซีไรต์) ประจำปีพุทธศักราช 2560 ได้พิจารณาแล้วมีความเห็นว่า

            รวมเรื่องสั้น ‘สิงโตนอกคอก’ ของ ‘จิดานันท์ เหลืองเพียรสมุท’ ซึ่งประกอบด้วยเรื่องสั้นจำนวน 9 เรื่อง มีเนื้อหาหลากหลายที่ตั้งคำถามและวิพากษ์ความเป็นมนุษย์ อำนาจนิยม มายาคติของความรู้และความเชื่อในสังคม ท้าทายความคิดของผู้อ่าน ทำให้ย้อนกลับมาใคร่ครวญถึงสังคมที่เราอยู่ในปัจจุบัน ตั้งแต่ระดับครอบครัว ชุมชน ประเทศชาติและสังคมโลก

            ด้านกลวิธีใช้การเล่าเรื่องแบบอุปมานิทัศน์ (allegory) ที่มีโครงสร้างของเรื่องซับซ้อนกันหลายชั้นอย่างสัมพันธ์กัน โดยเชื่อมโยงตัวบทอื่นๆ เช่น ตำนานและเรื่องเล่าที่ผู้อ่านคุ้นเคย การสร้างตัวละครและฉากที่ไม่อยู่ในบริบทสังคมไทยเป็นการข้ามพรมแดนของการเล่าเรื่องไปสู่ความเป็นสากล ผู้เขียนใช้ภาษาในการเล่าเรื่องอย่างเรียบง่ายทว่าลุ่มลึกและคมคาย”

  • ตัวจริง l เหนือจริง

            ความเข้มขลังและเคร่งขรึมของรางวัลซีไรต์กลายเป็นภาพจำที่ลบเลือนได้ยาก ไม่ว่าจะนักเขียนหรือนักอ่านพอได้ยินว่าเป็นหนังสือซีไรต์ปุ๊บก็เกรงขามปั๊บ แม้ชื่อหนังสือรวมเรื่องสั้นที่ได้ประทับตราซีไรต์ในปีนี้จะมาโทนเดียวกับขนบเดิมว่า ‘สิงโตนอกคอก’ คล้ายจะจริงจัง ทว่าเนื้อในเต็มไปด้วยความเหนือจริง

            ซึ่งความแฟนตาซีนี้ติดตัว จิดานันท์ แทบจะเป็นเลือดเนื้อเดียวกันไปแล้ว เพราะจุดเริ่มต้นการเขียนวรรณกรรมเกิดจากความชอบอ่านนิยายแฟนตาซีและวรรณกรรมเยาวชนตั้งแต่ประถมต้น กระทั่งเธออายุ 12 ปี เป็นช่วงที่มีเด็กไทยจำนวนหนึ่งเขียนวรรณกรรมเยาวชนจนได้ตีพิมพ์ เช่น เรื่องหัวขโมยแห่งบารามอส, ไวท์โรด บวกกับเป็นยุคทองของนิยายแฟนตาซีเรื่องแฮรี่ พอตเตอร์ เป็นจุดประกายให้เธอลองเขียน

            “เขียนวรรณกรรมเยาวชน นิยายเด็กๆ จนถึงอายุประมาณ 18-19 พออยู่มหาวิทยาลัย ปี 2 ก็เริ่มส่งผลงานประกวด เวทีแรกที่ส่งคือของตะวันส่อง เป็นแนวสยองขวัญ เราไม่เคยเขียนเรื่องสยองขวัญแต่ก็ลองส่งไปสองเรื่อง เรื่องแรกได้รางวัลที่ 3 และอีกเรื่องได้รางวัลที่ 1 ในปีเดียวกัน”

            เหมือนว่าเธอจะเกิดมาเพื่อสิ่งนี้ แต่ถ้าหมุนเข็มนาฬิกากลับไปเล็กน้อยถึงช่วงก่อนหน้าที่จะตัดสินใจส่งผลงานประกวด นักเขียนสาวเขียนเรื่องแนวโรงเรียนเวทมนต์ พ่อมดแม่มด แล้วส่งต้นฉบับไปหลายสำนักพิมพ์ แต่ทุกสำนักพิมพ์ปฏิเสธ คำปฏิเสธบั่นทอนกำลังใจแทบไม่เหลือซาก

            ...และนั่นทำให้เธอพบทางสว่าง คือ การประกวด ซึ่งก็ได้รางวัลเรื่อยๆ จนเธอเชื่อว่าพื้นที่ตรงนี้ยอมรับเธอแล้ว จึงเพิ่มความเข้มข้นและจริงจังในผลงานมากขึ้นให้สมกับเป็นวรรณกรรมประกวด แต่จิตวิญญาณแฟนตาซีไม่ได้ลดทอนลงเลย

            “สมัยก่อนเขียนงานแฟนตาซีแล้วสำนักพิมพ์ไม่รับเลยเพราะหนักเกินไป พอตอนนี้มาเขียนวรรณกรรม ทุกคนก็บอกว่าเป็นวรรณกรรมแฟนตาซี ตัวตนของเราจึงยังคงเดิม ที่เพิ่มเติมคือกลวิธี ความเข้าใจการใช้ถ้อยคำมากกว่า”

            หลังจากเข้าสู่เส้นทางสายนี้เต็มตัว การพัฒนาค่อยๆ เริ่มขึ้น จากเวทีเล็กก็เพิ่มขนาดทีละน้อย เพิ่มความยากทีละนิด ไม่ใช่การก้าวกระโดด เธอเรียกว่า “เคลื่อนที่แต่ละครั้งไม่ไกล แต่อาศัยความต่อเนื่อง” ซึ่งก็ไม่ได้หมายความว่าทุกครั้งจะสมหวังเพราะบางเวทีความฝันเธอก็พังเหมือนกัน เช่น นายอินทร์อะวอร์ดส่งปีแรกก็ตกรอบตั้งแต่หน้าประตู กับหลายเวทีก็เวียนส่งแล้วส่งอีกก็ยังไม่ได้

            มาจนถึง ‘สิงโตนอกคอก’ ที่รวมเรื่องสั้นจากที่เคยส่งเรื่องสั้นประกวดแล้วได้รางวัลมาบ้างกับเรื่องที่แต่งใหม่ เป็นรวมเรื่องสั้นเล่มแรกของจิดานันท์ ที่อาจบอกได้ไม่เต็มปากเต็มคำนักว่าเป็นเรื่องแรกชนิด The First

            “จริงๆ มีอีกเล่มที่ออกมาในช่วงเวลาใกล้เคียงกันกับสำนักพิมพ์เม่นวรรณกรรม ชื่อ วันหนึ่งความทรงจำจะทำให้คนแตกสลาย เราเขียนทั้งสองเล่มในเวลาเดียวกัน เราแค่คัดธีมเรื่องที่ดูแฟนตาซีหน่อยให้แพรวสำนักพิมพ์ แล้วคัดเรื่องที่เหงาๆ หน่อย มีความโดดเดี่ยวหน่อยให้เม่นวรรณกรรม เท่านั้นเอง

            แต่ทีแรกไม่ได้นิยามเรื่องสิงโตนอกคอกว่าเป็นแฟนตาซีด้วยซ้ำ มองว่าเป็นดีสโธเปีย ไซไฟ หรือเมจิกคัลเรียลลิสต์ แต่พอไปเทียบกับวรรณกรรมสัจนิยมเล่มอื่นๆ เราก็ต้องยอมรับว่าเราแฟนตาซีจ๋า”

 

  • สิงโตนอกคอก ม้านอกสายตา?

            แนวทางหนังสือมาทางแฟนตาซี ในขณะที่เวทีประกวดใหญ่ในบ้านเรามีคาแรกเตอร์ชัดไปในทางสัจนิยม ทำให้เคยเกิดข้อกังขาตั้งแต่เรื่องสั้นของจิดานันท์ได้รางวัลนายอินทร์อะวอร์ด ตัวละครก็ชื่อฝรั่ง ขัดกับที่ผ่านมาซึ่งตัวละครเป็นคนไทย ดำเนินเรื่องในประเทศไทย นักเขียนก็เผื่อใจแล้วว่าไม่น่าจะได้รางวัล แต่ในที่สุดก็ได้ เธอบอกว่าทำให้ได้รู้ว่ากรรมการเปิดกว้างมากทีเดียว

            “ตอนที่ส่งเล่มนี้ไปซีไรต์ก็หวั่นๆ ว่าจะเด็กเกินไปไหม หรือจะฝรั่งเกินไปไหม แต่ก็เชื่อว่าคงจะเป็นเพราะความใจกว้างของกรรมการอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งเอาจริงๆ ก็ไม่ได้คิดว่าจะได้รางวัลนี้ (หัวเราะ) พูดตามตรงว่าซีไรต์แต่ละปีอาจมีความคิดที่จะเลือกเฟ้นบางสิ่งบางอย่างหรือเปล่า ใน 6 เล่มมีรูปแบบที่แตกต่างกัน เช่น เล่มนี้ดีด้านภาษาแต่อาจจะอ่อนด้านพล็อต อีกเล่มอาจดีเรื่องพล็อตแต่กลวิธียังมีจุดที่สับสน อะไรทำนองนี้ พอถึงเวลาที่กรรมการจะตัดสิน เขาจะให้คะแนนอะไรหนักแน่นกว่า ในหลายเล่มที่เข้ามานี้เชื่อว่ามีบางด้านที่ดีกว่าเรา แต่เราก็คงทำบางด้านได้หนักแน่นกว่าคนอื่น กรรมการอาจมีจุดมุ่งหมายบางอย่างที่จะตอบสนองสถานการณ์ในสังคมหรือเพื่ออะไรที่เราไม่ทราบได้ แต่เราเคารพการตัดสินใจของกรรมการ”

            บางด้านที่เจ้าตัวคิดว่าทำได้ค่อนข้างดี คือ ภาษาที่ไม่ใช่พรรณาโวหารอันงดงาม แต่เลือกใช้บรรยายโวหารธรรมดา จึงอ่านง่ายและเข้าใจได้ในประโยคนั้น ไม่ใช่มาแค่วลี หรือซับซ้อนเกินไป ซึ่งนำไปสู่อีกสิ่งที่เธอภาคภูมิใจมาก คือ เป็นวรรณกรรมที่เข้ากับเด็ก เยาวชน วัยรุ่นได้

            “แต่เราก็ไม่เคยคิดว่าข้อดีที่ว่าเรื่องเราเข้ากับเยาวชนกับวัยรุ่นได้นั้นจะเข้ากับซีไรต์ ถ้าถามว่าอะไรในงานของเราที่ทำให้ได้ซีไรต์ ตอบยากนะ แต่ที่เรารู้คืองานนี้มันสื่อได้นะ มันเป็นสะพานที่เป็นวรรณกกรมหนักแต่คนทั่วไปอ่านได้ เราชอบตรงนี้ แต่ก็ไม่รู้ว่ามันจะขรึมพอไหม

            เพราะวรรณกรรมที่ได้ซีไรต์คนมักจะมองว่าอ่านยาก เด็กประถม มัธยม อ่านไม่รู้เรื่อง แต่ทุกวันนี้เราใช้ทวีตเตอร์และเฟซบุ๊คเยอะ มีน้องๆ วัยเรียนแชทมาบอกว่าไม่เคยอ่านวรรณกรรมมาก่อนเลย แต่อ่านเล่มนี้แล้วชอบ เราดีใจนะ”

            ในคำประกาศมีความคิดเห็นของกรรมการที่พูดถึง ‘อุปมานิทัศน์’ ซึ่งเป็นการเล่าเรื่องที่ แม้ว่านักเขียนจะบอกว่าเรื่องของเธอเข้าใจง่าย ชัดเจน แต่นี่คือกลวิธีการเปรียบเปรย เธออธิบายว่าเธอสร้างสิ่งที่เป็นแฟนตาซีขึ้นมาเพื่อให้เห็นโลกความจริง

            “อย่างสิงโตนอกคอก ง่ายที่สุดเลย คือ เล่าถึงสิงโตตัวหนึ่งที่ต้องไปฆ่าแกะเพื่อได้รับการยอมรับในฝูงว่าเป็นผู้ใหญ่แล้ว ต้องล่าสัตว์ที่ใหญ่พอสมควรกลับฝูง แต่คนที่เล่านิทานเรื่องนี้เป็นทหารในภาวะสงครามที่ต้องออกมาล่าคนพื้นเมืองเผ่าอื่นที่เป็นศัตรูของรัฐ แต่ความจริงเขาไม่อยากล่าเลย อยากเป็นเพื่อน จึงเป็นอุปมาว่าคนที่มีอำนาจไล่ล่าผู้อื่นเหมือนสิงโตแต่ว่านอกคอก ไม่เอาฝูง ไม่อยากทำตามจารีตประเพณี การอุปมาทำให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น ถ้าเราบอกทหารไม่อยากสู้อาจจะคลุมเครือ แต่พอบอกสิงโตไม่อยากกินแกะมันต้องเป็นความผิดปกติมากแน่ๆ”

 

  • วายไรเตอร์ สู่ ซีไรเตอร์

            จากวินาทีที่ชื่อรวมเรื่องสั้น สิงโตนอกคอก ของ จิดานันท์ เหลืองเพียรสมุท ถูกประกาศให้ได้รับรางวัลซีไรต์ ภาพลักษณ์ของนักเขียนสาววัย 25 ก็ดูจะจริงจังขึ้นทันตา แต่หลายคนอาจไม่รู้ว่า เธอคือนักเขียนสองขั้ว ที่สร้างสรรค์ทั้งงานวรรณกรรมระดับประกวด และนิยายชายรักชายที่เรียกกันว่า ‘นิยายวาย (Y)’

            จิดานันท์เล่าว่าเริ่มเขียนนิยายวายมานานแล้ว ตั้งแต่ก่อนจะเริ่มเขียนวรรณกรรมจริงจังหรือเพื่อส่งประกวดเสียอีก เพราะเป็นงานอดิเรกสนุกๆ ของเด็กสาวผู้ชื่นชอบนิยายแนวนี้ แต่ได้ตีพิมพ์จริงๆ เล่มแรกเมื่อต้นปี 2560 นี้เอง บางคนอาจมองว่าเป็นคนละขั้ว แต่สำหรับเธอกลับมองว่าไม่ได้ห่างไกลกันนัก

            “น้องๆ ที่อ่านนิยายวาย ก็จะชอบผู้ชายหล่อ เท่ ฉลาด พอได้อ่านสิงโตนอกคอก ขณะที่ทุกคนบอกว่ามันการเมืองมากเลย น้องก็มาบอกว่าพี่คะ เรื่องนี้พระเอกหล่อ หนูมีความสุขที่ได้พระเอก ก็โอเคค่ะ ถ้ามันดึงดูดน้องได้ งานวายเราก็ใส่อะไรต่างๆ ที่เราชอบหรือสนใจ อย่างเล่มแรกที่ตีพิมพ์พูดถึงพ่อที่ลงมาจากภูพาน ก็มีความเป็นวรรณกรรมอยู่ ซึ่งคนอ่านวายบางคนก็บอกพี่คะ หนูไม่เคยรู้เรื่อง 6 ตุลา มาก่อนเลยค่ะ เราก็บอกเขาว่าอ่านเสร็จก็ไปหาอ่านเรื่อง 6 ตุลา ต่อเลยนะ

            คนอ่านวายคือคนรุ่นใหม่ คนรุ่นใหม่เขาเปิดรับหลายอย่าง อย่างตอนนี้เขาอ่านวายอยู่ แล้วเราไปบอกว่าตอนนี้เราเขียนวรรณกรรม อย่างเช่นเล่มของเม่นวรรณกรรม แนวเหงาๆ เลย เขาก็บอกว่าเดี๋ยวไปหาอ่าน ต่คนอ่านวรรณกรรมเสียอีกที่ที่พอเราบอกว่าเราเขียนวายด้วยนะ เขาก็ไม่อ่าน”

            แม้นิยายวายกับวรรณกรรมจริงจังจะอยู่บรรณพิภพเดียวกัน แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่ายังมีพรมแดนในหัวใจนักอ่านหรือแม้แต่คนในวงการวรรณกรรมหลายคน เมื่อจิดานันท์ขึ้นแท่นนักเขียนซีไรต์ ก้าวต่อไปในเส้นทางวายจะวอดวายหรือเป็นอย่างไรกันแน่

            เธอตอบอย่างมั่นใจว่าไม่น่ามีปัญหา แถมติดตลกว่า ก็แค่ส่งต้นฉบับไปก็จบ ซึ่งตั้งแต่ยืนสองขาทั้งฝั่งวายและวรรณกรรม (ค่อนข้างจริงจัง) โลกก็ไม่เคยโหดร้ายกับเธอ แม้จะใช้นามปากกาแยก แต่ในเฟซบุ๊คและโซเชียลมีเดียอื่นๆ เธอก็คือเธอ พูดคุยและมีตัวตนเป็นคนเดียวกัน ตัวอย่างชวนขำคือมีนักเขียนชายมาดขรึม ถ่ายรูปส่งมาให้ดูว่าฉันซื้อนิยายวายของเธอแล้วนะ

            ตั้งแต่ รวมเรื่องสั้นเล่มนี้เป็นเล่มแรกของเธอ เส้นทางน้ำหมึกที่ไม่โลดโผนและมุ่งมาที่ความขึงขังจริงจังเพียงอย่างเดียว ยังมีเรื่องวัยวุฒิที่หลายคนมองว่า เป็นซีไรต์ที่มาไวสำหรับนักเขียนน้อยคนนี้ ซึ่งอันที่จริงในอดีตก็มีนักเขียนบางคนได้รับเกียรตินี้ในวัยไล่เลี่ยกัน เช่น ชาติ กอบจิตติ (จากเรื่องคำพิพากษา ในวัย 28 ปี) ถึงแม้จะเยาว์แต่นับว่าไม่เบากันเลยทีเดียว

            “ตอนแรกที่สำนักพิมพ์ส่งเรื่องของเราประกวดซีไรต์ ยังไม่รู้เลย จนเพื่อนมาบอกว่าหนังสือเราเข้ารอบซีไรต์ ก็นึกอยู่ว่า เรายังเยาว์เกินไป เรามองซีไรต์ว่าเป็นจุดสูงสุดของวงการวรรณกรรมมาตลอด ในวันนี้ที่ได้คุยกับจุดประกายเป็นที่แรกหลังจากได้รางวัลเพียงไม่กี่ชั่วโมง อีกสามเดือน ห้าเดือน เราอาจไม่ได้คิดหรือพูดแบบนี้...

            ...ตอนนี้เรามาถึงจุดนี้แล้ว แต่ชีวิตมันไม่ได้จบลง เรายังต้องทำงาน เราต้องมีชีวิตต่อไป ต้องใช้เงิน ต้องเลี้ยงดูพ่อแม่ ก็ยังต้องเขียนต้นฉบับไปเรื่อยๆ ไม่ต้องอะไรหรอก เมื่อกี้โทรคุยกับบรรณาธิการเรื่องที่ได้รางวัลซีไรต์ บรรณาธิการก็ยังบอกว่าเราติดต้นฉบับเขาหนึ่งเล่มใช่ไหม การทำงานไม่เคยจบลง นี่ขนาดได้ซีไรต์แล้ว (หัวเราะ) บรรณาธิการนิยายวายก็ทวง ใครจะว่าเราหิวเงินหรือเปล่ แต่เรามองว่ามันเป็นความจริงที่สุด และเราจริงใจที่สุด”

          ไม่ว่าอะไรจะเหนือจริงแค่ไหน การคว้าชัยของสิงโตนอกคอกจะแฟนตาซีอย่างไร แต่ที่รับรู้ได้จาก จิดานันท์ เหลืองเพียรสมุท คือ ในความเหนือจริงคือความจริงที่เกิดขึ้นจริงกับซีไรต์ 2560