สยามออร์แกนิค สตาร์ทอัพขวัญใจชาวนา

สยามออร์แกนิค สตาร์ทอัพขวัญใจชาวนา

“สยามออร์แกนิค” ในปีที่ 7 เตรียมตั้งมูลนิธินำระบบไอทีช่วยเกษตรกรบริหารจัดการพื้นที่เกิดประโยชน์สูงสุด พร้อมโฟกัสตลาดส่งออกผ่านผลิตภัณฑ์สุขภาพ

“สยามออร์แกนิค” ในปีที่ 7 เตรียมตั้งมูลนิธินำระบบไอทีช่วยเกษตรกรบริหารจัดการพื้นที่เกิดประโยชน์สูงสุด พร้อมโฟกัสตลาดส่งออกผ่านผลิตภัณฑ์สุขภาพ ตั้งเป้ายอดขาย 50 ล้านบาทในปี 2561 หวังเดินตามรอยโมเดล “อามุล” แบรนด์ผลิตภัณฑ์นมในอินเดีย


โมเดลธุรกิจที่จะแก้ปัญหาความยากจนให้กับชาวนาไทย และยังสามารถสร้างรายได้ให้กับบริษัทในเวลาเดียวกัน ทำให้ได้รับรางวัลจากการประกวดแผนธุรกิจหลายรายการทั้งในประเทศและต่างประเทศ อาทิ Global Entreprenuership Summit 2016 ที่ซิลิคอนวัลเล่ย์ มีนายบารัค โอบามา อดีตประธานาธิบดีสหรัฐ มาร่วมงาน ล่าสุดรางวัลที่หนึ่งในโครงการชีวาส เวนเจอร์ จากการประกวดโมเดลธุรกิจสตาร์ทอัพโลก โดยได้เงินจากการประกวด 4 แสนดอลลาร์ (ราว 13.4 ล้านบาท)


กำไร+สังคม ส่วนผสมลงตัว


"ข้อดีของการได้รับรางวัลจากหลายเวทีคือ ชื่อเสียงเป็นที่รู้จักมากขึ้น ทั้งยังช่วยยืนยันในสิ่งที่ทำมานั้นถูกทางแล้วควรเดินหน้าต่อไป และทำให้รู้จักเครือข่ายองค์กรต่างๆ ที่เป็นผู้สนับสนุน ขณะเดียวกันก็ได้รับยกย่องเป็นต้นแบบให้ผู้ที่สนใจซึ่งมีทั้งคนไทยและต่างชาติ เข้ามาศึกษาและทำตามได้ด้วย” พรธิดา วงศ์ภัทรกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริการด้านการตลาดบริษัท สยามออร์แกนิค จำกัด กล่าว
ความสำเร็จของสยามออร์แกนิคซึ่งดำเนินกิจการเกษตรอินทรีย์แบบครบวงจร สามารถพิสูจน์ให้ทุกคนเห็นว่า ธุรกิจเพื่อสังคมสามารถสร้างรายได้ให้องค์กรได้จริง โดยบริษัททำกำไรได้ในปีที่ 2 ส่วนแนวคิดการทำธุรกิจมุ่งใช้การตลาดนำการผลิต ตลาดต้องการแบบไหน สินค้าอะไรที่ยังไม่มีในตลาดก็จะศึกษาโอกาสความเป็นไปได้แล้วผลิตออกมาจำหน่าย
ขณะเดียวกันต้องเข้าไปส่งเสริมเกษตรกรตั้งแต่วางแผนการปลูก เพื่อลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต พร้อมปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำโดยได้รับทุนสนับสนุนจากต่างประเทศ เพื่อให้เกษตรกรซื้อปัจจัยการผลิตเพิ่มขึ้น ถือว่าทำทุกอย่างเพื่อให้เกษตรการมีรายได้เพิ่ม ซึ่งเป็นกระบวนการที่ใช้เงินและเวลาค่อนข้างมาก ปัจจุบันมีเกษตรกรประมาณ 2,000 ครอบครัวที่เข้ามาร่วมเครือข่าย
“ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา บริษัทได้ดำเนินการศึกษาวัดผลกระทบเชิงสังคม พบว่า ได้ประมาณ 4.3 เท่า หมายความว่า เงินลงทุน 1 บาทสามารถสร้างผลกระทบให้สังคม 4.3 บาท” พรธิดา กล่าวและว่า เธอมีแนวคิดที่จะเปลี่ยนบริษัทเป็นมูลนิธิสยามออร์แกนิค และจะดำเนินการศึกษาวัดผลกระทบเชิงสังคมเป็นประจำทุกปี
นอกจากนี้เตรียมนำเงินรางวัลประมาณ 13 ล้านบาทจากโครงการชีวาส เวนเจอร์ มาลงทุนระบบไอทีเพื่อเก็บข้อมูลเกษตรกรในเครือข่ายว่า มีพื้นที่การเกษตรเท่าไร ใช้เมล็ดพันธุ์และปุ๋ยเท่าไร นำมาวิเคราะห์ต้นทุนและผลผลิตที่ได้เป็นรายบุคคล เพื่อเกิดประโยชน์สูงสุดในการบริหารจัดการพื้นที่เพาะปลูก ทำให้ลดการใช้แรงงานสำรวจเก็บข้อมูลในพื้นที่ เพื่อช่วยเกษตรกรยกระดับเป็นสมาร์ทฟาร์มมิ่ง
“รูปแบบของสมาร์ทฟาร์มมิ่งต้องไม่เข้าไปเปลี่ยนวิถีชีวิตของเกษตรกร ต้องทำให้เกิดประโยชน์มากกว่าสร้างภาระ เพราะไม่ใช่ทุกคนที่สามารถทำได้ อีกทั้งเกษตรกรส่วนใหญ่อายุ 70- 80 ปี ไม่ใช่ทายาทรุ่นลูกหลาน”


เล็งกรีนมาร์เก็ตในต่างประเทศ


ขณะเดียวกันจะเน้นการทำตลาดต่างประเทศผ่านบริษัท แจสเบอร์รี่ จำกัด เน้นผลิตภัณฑ์สุขภาพ มีตลาดหลัก คือสหรัฐ สหภาพยุโรป โดยมีรายได้ปีละ 20 ล้านบาท คาดว่าปีหน้าจะเพิ่มเป็น 50 ล้านบาท และ 100 ล้านบาทในปี 2563 โดยสัดส่วนรายได้ 80% มาจากตลาดต่างประเทศ ซึ่งไม่ใช่เรื่องยากเพราะตลาดผลิตภัณฑ์สุขภาพหรือกรีนมาร์เก็ตในต่างประเทศมีขนาดใหญ่ แตกต่างจากประเทศไทยที่ตลาดแนวกรีนโปรดักยังมีขนาดเล็กมาก ผู้บริโภคยังไม่เห็นถึงความสำคัญ ขณะเดียวกันเตรียมจะพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ เช่น พาสต้าจากข้าวสำหรับผู้บริโภคที่แพ้กลูเตนในแป้งสาลี ออกสู่ตลาดคู่กับสินค้าเกษตรแปรรูปอื่นๆ
“การทำตลาดต่างประเทศต้องสู้ด้วยคุณภาพ พฤติกรรมผู้บริโภคไม่สนใจว่าจะเป็นแบรนด์ใหญ่หรือแบรนด์เล็ก แต่จะพิจารณาจากคุณภาพสินค้ามากกว่า ยิ่งถ้าเป็นบริษัทขนาดเล็กจะให้ความสนใจมากกว่า เพราะเชื่อว่ามีความใส่ใจมากกว่า และการผลิตปริมาณน้อย คุณภาพย่อมดีกว่าการผลิตปริมาณมาก”
พรธิดาวางโมเดลความสำเร็จให้กับสยามออร์แกนิคเหมือนกับแบรนด์อามุล ผลิตภัณฑ์นมในอินเดีย ถือเป็นโมเดลต้นแบบธุรกิจเพื่อสังคมที่เกิดขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาความเดือดร้อนของผู้ผลิตนมรายเล็ก ปัจจุบันมีสมาชิกหลายล้านราย ซึ่งนอกจากจะสร้างรายได้เสริมแก่เกษตรกร ธุรกิจนมยังขยายตัวก่อให้เกิดอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์นมแปรรูปอื่นๆ แต่แบรนด์แจสเบอร์รี่ของเราเป็นสินค้าออร์แกนิคและสินค้าแปรรูปเพื่อสุขภาพของคนไทย