กษัตริย์ ผู้ทรงกอบกู้เอกราชให้แผ่นดินไทย

กษัตริย์ ผู้ทรงกอบกู้เอกราชให้แผ่นดินไทย

นอกจากพระราชกรณียกิจในประเทศ การเสด็จเยือนต่างประเทศ ก็เป็นพระราชกรณียกิจที่ในหลวง รัชกาลที่ 9 ทรงทำเพื่อแผ่นดินไทย

..........................

“ในหลวง รัชกาลที่ 9 เคยตรัสกับสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถว่า จะไม่เสด็จต่างประเทศ แต่ทำไมเสด็จ...” ไกรฤกษ์ นานา นักประวัติศาสตร์ร่วมสมัย เปิดประเด็น แล้วบอกว่า

“การเยือนต่างประเทศของในหลวง รัชกาลที่ 9 มีนัยยะสำคัญหลายอย่าง”

ด้วยเหตุผลดังกล่าว ทางสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ จึงเชิญนักประวัติศาสตร์มาร่วมเสวนาในหัวข้อ “พินิจสื่อสมัย ธ เสด็จสู่สวรรคาลัย พระมหากรุณาธิคุณปกเกล้าไทยตลอดกาล” โดยมี ไกรฤกษ์ นานา ให้ข้อมูล และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จุพิศพงศ์ จุฬารัตน์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ เป็นผู้ซักถามและร่วมพูดคุย

 

-1-

ช่วงที่ในหลวง รัชกาลที่ 9 ทรงขึ้นครองราชย์ เป็นช่วงที่ประเทศไทยกำลังมีปัญหาหลายอย่าง พระองค์จึงทรงงานหนัก และต้องเสด็จพระราชดำเนินเยือนต่างประเทศ เพื่อเจริญสัมพันธไมตรี ซึ่งการเยือนอเมริกาและยุโรป ปีพ.ศ. 2503 ก็เพื่อดำรงไว้ซึ่งเอกราชของประเทศ และหลังจากปีพ.ศ. 2510 พระองค์ไม่ได้เสด็จพระราชดำเนินเยือนต่างประเทศอีกเลย ยกเว้นปี พ.ศ. 2537 เสด็จพระราชดำเนินเยือนสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว รวมๆ แล้วเกือบ 50 ปีที่พระองค์ไม่เสด็จออกนอกแผ่นดินไทย

 “ หลังจากรัชกาลที่ 8 สิ้นพระชนม์ คณะราษฎร์มีอำนาจมาก และสถาบันพระมหากษัตริย์สั่นคลอน ช่วงที่ในหลวง รัชกาลที่ 9 ขึ้นครองราชย์ ตอนนั้นพระองค์ทรงพยายามทำให้นานาชาติเข้าใจประเทศไทยและสถาบันพระมหากษัตริย์” ไกรฤกษ์ กล่าว ถึงเบื้องหลังการเสด็จเยือนต่างประเทศของในหลวง รัชกาลที่ 9

“ในนิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก เมื่อปี พ.ศ.2503 ผู้สื่อข่าวต่างชาติสัมภาษณ์พระองค์ ซึ่งเป็นช่วงที่สงครามโลกครั้งที่สองเพิ่งยุติ ในหลวงตรัสถึงเรื่องคอมมิวนิสต์ เพราะหลังจากครองราชย์ พระองค์เสด็จเยือนเวียดนามใต้ เป็นประเทศแรก เนื่องจากประเทศนีี้เป็นฐานบัญชาการของโลกเสรีประชาธิปไตยที่ต่อสู้กับลัทธิคอมมิวนิสต์”

การเยือนเวียดนามใต้ครั้งนั้น พระองค์ทรงอยากให้นานาชาติประเทศรู้ว่า ประเทศไทยไม่ได้ฝักใฝ่ลัทธิคอมมิวนิสต์

“ผมศึกษานิตยสารหลายฉบับ และสำนักข่าวอเมริกา ซึ่งมีอิทธิพลมากในยุคนั้น เคยมีแถลงการณ์ที่อเมริกา มีเนื้อหาว่า ประเทศไทยจะเป็นศูนย์กลางโลกเสรีประชาธิปไตยต่อสู้กับโลกคอมมิวนิสต์ ก็เลยทำให้ผมย้อนไปศึกษาเรื่องนี้ ใครเป็นกุนซือในยุคนั้น ผมได้ภาพๆ หนึ่งจากหนังสือพิมพ์ฝรั่ง จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ถ่ายกับคณะชาวต่างชาติที่บ้านมนังคศิลา ยุคนั้นไทยเป็นนาโต้ของเอเชีย จอมพลสฤษดิ์มีความจงรักภักดีต่อในหลวง รัชกาลที่ 9 มาก" ไกรฤกษ์ เล่า 

เพื่อให้เห็นว่าปีพ.ศ. 2503 ในหลวง รัชกาลที่ 9 เสด็จพระราชดำเนินเยือนอเมริกา เพื่อยืนยันสถานะบางอย่างของประเทศไทย ในหนังสือพิมพ์ต่างชาติ ภาพการจับมือของพระองค์กับ ประธานาธิบดี ดไวต์ ดี. ไอเซนฮาวร์ ทำให้ชาวโลกเห็นว่า ประเทศไทยเดินตามแนวทางประชาธิปไตย 

"ตอนนั้นเรามีทหารอเมริกันห้าพันนายอยู่ชายแดนแม่น้ำโขง คอมมิวนิสต์ก็เข้ามาไม่ได้ ”ไกรฤกษ์ กล่าว


-2-

หลังจากเสด็จพระราชดำเนินเยือนอเมริกาและยุโรป ในหลวง รัชกาลที่ 9 ยังเสด็จเยี่ยมราษฎรในต่างจังหวัดตลอดหลายสิบปี เพราะช่วงเวลานั้นเรื่องราวของคอมมิวนิสต์มาแรง และสร้างความวุ่นวายอยู่หลายปี ทำให้สถานการณ์คุกรุ่น

ไกรฤกษ์ เล่าถึงการเยือนต่างประเทศของในหลวง รัชกาลที่ 9 ว่า ทรงมีเป้าหมายสองอย่างที่ต้องทำให้ได้ คือ

ข้อ 1. เพื่อยืนยันว่า ประเทศไทยเป็นเสรีประชาธิปไตย โดยก่อนหน้านี้รัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสยุโรป เพื่อที่จะบอกเป็นนัยๆ ว่า สยามประเทศไม่ใช่รัฐกันชน

ข้อ 2. หลังจากพระองค์เสด็จเยือนอเมริกา พระองค์เสด็จยุโรปด้วย เพราะไทยเคยร่วมเป็นพันธมิตรญี่ปุ่น พระพิศาลสุขุมวิท หนึ่งในเสรีไทย เคยให้ข้อมูลไว้ว่า อังกฤษจะจับไทยแพ้สงครามตลอด ถ้าไทยแพ้สงครามในช่วงนั้นจะเสียดินแดนเพิ่ม

“อเมริกากลายเป็นกระบอกเสียงบอกยุโรปว่า ไทยไม่เคยประกาศสงคราม ถ้าตอนนั้นอเมริกาไม่รับรอง ไทยก็ไม่รอด” ไกรฤกษ์ กล่าว และโยงให้เห็นถึงพระราชภารกิจ เพื่อประเทศของในหลวง รัชกาลที่ 9

“ตอนเสด็จอเมริกา ทุกพระบรมฉายาลักษณ์ พระพักตร์ไม่แจ่มใส ต่างจากตอนที่พระองค์ ทรงฉายพระรูปคู่พระราชินีอังกฤษ มีพระพักตร์แจ่มใส เนื่องจากอเมริกาได้รับรองว่า ไทยไม่ใช่พันธมิตรญี่ปุ่น เพื่อให้อังกฤษยอมรับ”

 นี่คือภาพประวัติศาสตร์เชิงสัญลักษณ์สันติภาพยุคใหม่ ถือเป็นภาพเปลี่ยนประวัติศาสตร์ จากผู้แพ้สงครามโลกครั้งที่สอง มาอยู่ฝ่ายชนะสงคราม ไม่ต้องเสียดินแดนบางส่วนของประเทศไทยเพิ่ม และยังคงไว้ซึ่งประเทศที่มีเอกราช

 

-3-

ว่ากันว่า พระมหากษัตริย์ไทยที่เปิดตัวประเทศไทยสู่นานาประเทศคือ ในหลวง รัชกาลที่ 4 ซึ่งมีบทบาทสำคัญต่อการดำรงไว้ซึ่งเอกราชและการพัฒนาประเทศในเวลาต่อมา

“ในหลวง รัชกาลที่ 4 เคยส่งจดหมายด้วยพระราชหัตถเลขาของพระองค์เอง เพื่อแนะนำประเทศไปถึงกองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ที่มีชื่อเสียงในอังกฤษ พระองค์ทรงใช้สื่อเป็นเครื่องมือประชาสัมพันธ์ประเทศ “ไกรฤกษ์ พูดถึงดิ อิลลัสเตรท ลอนดอน นิวส์ (The Illustrated London News) หนังสือพิมพ์ชื่อดังของอังกฤษที่มียอดขายสูงสุดในโลกสมัย สมัยรัชกาลที่ 4-5 ถ้านับอายุหนังสือพิมพ์ก็กว่าร้อยปี ปกติจะตีพิมพ์สัปดาห์ละหนึ่งครั้ง มียอดพิมพ์กว่าแสนฉบับ และกว่าหนังสือพิมพ์จะเดินทางมาถึงเมืองไทยก็ใช้เวลาหนึ่งเดือน

หากย้อนไปถึงยุคสมัยก่อนรัชกาลที่ 4 ข่าวสารต่างๆ จากสยามประเทศที่ออกไปสู่นานาประเทศ ส่วนใหญ่มาจากหมอสอนศาสนาชาวต่างชาติที่เดินทางมาเมืองไทย พวกเขาเป็นเสมือนผู้สื่อข่าว เนื่องจากมีโอกาสพบเห็นพูดคุยกับชาวสยามทุกระดับชนชั้น จึงลักลอบนำข่าวสารออกไปเผยแพร่ ไม่ใช่ข่าวสารทางการ และเคยมีหนังสือพิมพ์ต่างชาติลงข่าวว่า ชาวสยามเป็นคนป่าเถื่อน หรือข่าวพระเมรุมาศในสมัยก่อนใช้เวลาสร้างเป็นปี ทำเสร็จ ก็รื้อทิ้ง ชาวต่างชาติก็งงๆ ว่าทำไมทำเช่นนั้น 

หนังสือพิมพ์อีกฉบับเขียนว่า ตอนที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาศรีพิพัฒน์รัตนราชโกษา(แพ บุนนาค) เป็นหัวหน้าคณะราชทูต ไปเจริญสัมพันธไมตรีที่ฝรั่งเศส เมื่อวันที่27 มิถุนายน พ.ศ. 2404 ตอนคณะทูตถูกเชิญไปดูโอเปร่า เวลาคนเดินตั๋วพาไปที่นั่งชมโอเปร่า คณะทูต ให้รางวัลด้วยพลอย 

"วิเคราะห์ได้ว่า เป็นกุศโลบายของในหลวง รัชกาลที่ 4 ” ไกรฤกษ์ กล่าว

ไม่ต้องสงสัยเลยว่า ในหลวง รัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสยุโรป ก็มีนัยยะสำคัญเช่นกัน ไม่ใช่การเสด็จพระราชดำเนินเยือนต่างประเทศทั่วไป แต่มีความสำคัญต่อเอกราชของสยามประเทศ

“รัชกาลที่ 4 ทรงมีวิสัยทัศน์ เห็นว่า มกุฎราชกุมารรัสเซีย(ต่อมาขึ้นเป็นพระจักรพรรดินิโคลัสที่ 2 )ที่เสด็จเยือนสยาม ในอนาคตจะขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ เมื่อพระองค์เสด็จมาสยาม ในช่วงนั้นรัชกาลที่ 5 ทรงเป็นมงกุฎราชกุมาร จึงเชื่อมสัมพันธ์เป็นพระสหายกัน”

และเมื่อสยามประเทศ มีปัญหากรณีพิพาทปีคศ.1896 อังกฤษและฝรั่งเศสจะจัดตั้งสยามเป็นรัฐกันชน ไกรฤกษ์บอกว่า ในหลวง รัชกาลที่ 5 จึงต้องเสด็จประพาสยุโรป พระองค์ไม่ยอมรับในปฏิญญานี้

“ตอนนั้นพระจักรพรรดินิโคลัสที่ 2 เป็นพระสหายของรัชกาลที่ 5 ปกครองรัสเซีย ซึ่งตอนนั้นเป็นชาติที่ยิ่งใหญ่มากได้ช่วยเหลือสยาม จนสามารถประกาศว่า สยามไม่ใช่เมืองขึ้นของใคร และสยามเป็นรัฐกันชนไม่ได้ ช่วงที่พระองค์เสด็จยุโรป ก็จะสั่งให้ข้าราชบริพารซื้อหนังสือพิมพ์ติดตามข่าวทุกวัน พระองค์ทรงใช้สื่อเป็นเครื่องมือแก้ข่าว มีภาพๆ หนึ่งทรงยืนขึ้นอย่างสง่างาม ตรัสภาษาอังกฤษกลางกรุงลอนดอน สืบทอดปฎิภาณว่า ครั้งหนึ่งพระบิดาของพระองค์เคยส่งจดหมายถึงกองบรรณาธิการ ดิ อิลลัสเตรท ลอนดอน นิวส์ และตอนนี้พระองค์ก็เสด็จมา ทำให้ช่วงนั้นสยามรุกหน้าไปไกลมาก”

หากถามว่า นักประวัติศาสตร์หลายคนที่พยายามหาหลักฐานว่า รัสเซียได้ช่วยเหลือประเทศไทยให้พ้นจากรัฐกันชนจริงหรือไม่

     ไกรฤกษ์ ยืนยันจากหลักฐานในหนังสือที่ หม่อมราชวงศ์นริศรา จักรพงษ์ แปล เรื่อง ถึงลูกชายเล็ก เรื่องราวผ่านพระราชหัตถเลขา ลายพระหัตถ์ ระหว่างพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ ระหว่างปี 2439-2453 ที่ฝรั่งเศสยอมถอนทหารออกจากจันทบุรี