ฐานทุน-ชุมชนเข้มแข็ง ต้นแบบพัฒนา “บ้านป่ายาง”

ฐานทุน-ชุมชนเข้มแข็ง ต้นแบบพัฒนา “บ้านป่ายาง”

แรงเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนโดยใช้วิสาหกิจ คือสมการสร้างชุมชนเข้มแข็ง “บ้านป่ายาง” หนึ่งในต้นแบบการรวมกลุ่มก่อตั้งร้านค้าชุมชนตั้งแต่ปี 2534 จนปัจจุบันเป็นศูนย์สาธิตการตลาด เส้นเลือดใหญ่หล่อเลี้ยงสมาชิกชุมชน

การสร้างงานสร้างอาชีพภายในหมู่บ้าน มีธุรกิจในชุมชน คือ“ต้นน้ำ”ที่หล่อเลี้ยงคนในชุมชนให้เข้มแข็ง พึ่งพาตัวเองได้ แบ่งปันสู่สมาชิก และร่วมกลุ่มเพื่อประโยชน์ส่วนรวมในชุมชน เช่นเดียวกับแรกเริ่มของการรวมกลุ่มชุมชนบ้านป่ายาง ต.ท่าช้าง อ.บางกล่ำ จ.สงขลา หมู่บ้านที่รวมตัวเพื่อพัฒนาร้านค้าชุมชน

ล่าสุด ร้านค้าชุมชนแห่งนี้ติดหนึ่งอันดับต้นๆ ธงฟ้าประชารัฐกลุ่มจังหวัดภาคใต้ที่มียอดซื้อขายสูง ที่สำคัญแตกต่างตรงที่ร้านค้าแห่งนี้ไม่ได้มีเจ้าของเป็นร้านค้าปลีกเอกชนทั่วไป แต่มาจากการรวมกลุ่มของคนในชุมชนป่ายางจนเข้มแข็ง

ความเข้มแข็งของหมู่บ้านป่ายางเริ่มต้นจากผู้ใหญ่บ้านปิยะ เรืองช่วย รวมคนในหมู่บ้านตั้งแต่ปี 2533 ร่วมหุ้นตั้งสหกรณ์ออมทรัพย์ให้สมาชิกเพื่อเป็นแหล่งกู้เงิน ออมทรัพย์ ให้สมาชิกได้มีเงินทุนหมุนเวียน มีอาชีพตามความถนัดของตัวเอง

ประไพ ขวัญสุข ผู้จัดการร้าน และผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 9 บ้านป่ายาง เล่าว่า หมู่บ้านเริ่มรวมกลุ่มอย่างเข้มแข็ง มีเป้าหมายเพื่อช่วยเหลือซึ่งกันและกันในหมู่บ้าน หลังจากนั้นจึงค่อยเรียนรู้การทำงานอย่างเป็นระบบ ยึดความซื่อสัตย์ มีจิตสาธารณะ ของสมาชิกมาช่วยกันทำงาน

หลังจากนั้นก็รวมกลุ่มเพิ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2534 โดยมีกลุ่มหลักๆ คือ กลุ่มแม่บ้านป่ายาง จนถึงการวมกลุ่มตั้งร้านค้าเพื่อชุมชน

ร้านค้าชุมชนที่โดดเด่น และแตกต่างเพราะเป็นร้านศูนย์กลางประจำหมู่บ้านในปัจจุบันโดยมีจุดเริ่มต้นด้วยเงินทุนเพียง 4 หมื่นบาทเป็นทุนตั้งต้นจากการร่วมทุนถือหุ้นของคนในหมู่บ้าน 357 หุ้น ในราคาหุ้นละ 100 บาท เพื่อขจัดปัญหาความห่างไกลเมืองจึงร่วมกันจัดซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคสิ่งจำเป็นในชีวิตประจำวันมาขายในหมู่บ้าน

ประไพ เล่าถึงความห่างไกลว่า เป็นอุปสรรคในการเข้าถึงสินค้าจำเป็นในชีวิตประจำวัน หากเป็นยุคนี้เพียงเดินออกไปปากซอยก็มีร้านสะดวกซื้อมาจ่อถึงหมู่บ้าน แต่ยุคนั้นคนในชุมชนใช้เวลาเดินทางออกจากหมู่บ้านเพื่อไปซื้อสินค้าแต่ละครั้ง หมดเวลาไปเต็มวัน ออกเดินทางตั้งแต่เช้าจรดเย็น ถึงกลับมาบ้าน

แรกเริ่มคนในชุมชนตั้งร้านแบบจิตอาสา ยังไม่มีระบบบริหารจัดการที่แน่นอน งานในร้านสมาชิกจึงเป็นลักษณะร่วมมือกันแบบใครว่างก็มาช่วยขาย จัดร้าน เช็คสต็อกแบบบ้านๆ เอาตามสะดวกระบบการลงบัญชีก็ลงกันแบบตามความรู้ที่มีในเบื้องต้น ที่รับรู้รายรับ รายจ่าย กำไรขาดทุนเท่านั้น

ทว่า แค่เพียงแค่นั้นก็ทำให้ชุมชนป่ายาง ได้เรียนรู้จากสิ่งที่ชุมชนมี จนร้านค้าของชุมชน กลุ่มสหกรณ์ออมทรัพย์ รวมไปถึงกลุ่มสตรี หรือแม่บ้านป่ายาง ค่อยๆ เติบใหญ่อย่างเข้มแข็ง มีสมาชิกเพิ่มขึ้นและมีเงินปันผลเพิ่มขึ้นทุกปี ที่น่าทึ่งการบริหารงานแบบบ้านๆ ของชุมชนนี้ยังไม่เคยมีประวัติขาดทุน จะมีบ้างบางปีกำไรลดน้อยลง กรรมการร้านค้าก็ใช้วิธีกรรมการเสียสละไม่รับเงินปันผลหรือรับเพียงเล็กน้อย

หนึ่งในสิ่งที่ผู้นำต้องทำให้ดูเป็นแบบอย่างคือ บริหารบนหลักการซื่อสัตย์ และยึดมั่นใจประโยชน์ต่อส่วนรวม

ร้านค้าประจำชุมชนจึงเลี้ยงตัวเองได้มาตลอด และเป็นจุดเริ่มต้นของเส้นเลือดใหญ่ขับเคลื่อนชุมชน เพราะชุมชนมีงบจากเงินปันผลร้านค้าไปจัดกิจกรรมงานรวมกลุ่ม งานพัฒนารวมถึงงานบุญประจำปีของชุมชน

ในปี 2557 หรือ 4 ปีที่ผ่านมา เริ่มชุมชนเริ่มนำระบบคอมพิวเตอร์มาใช้ ทำให้การบริหารจัดการร้านมีความเป็นระบบมากขึ้น เช่น การใช้ระบบบาร์โค้ด โดยการลงบัญชีการซื้อขายผ่านคอมพิวเตอร์ ทำให้รู้ความเคลื่อนไหวของยอดขายในแต่ละวันแบบไม่ต้องเสียเวลาเช็คสต็อก หรือนับเงิน

จากที่เคยลงบัญชีแบบใช้มือ ใช้คนจำราคาและสต็อก พอเปลี่ยนคน หรือมีคนลาออกก็ต้องเรียนรู้งานใหม่ ต้องใช้เวลานั้น แต่เมื่อไปศึกษาจากค้าปลีกในหลายๆ ที่เริ่มนำโปรแกรมคอมพิวเตอร์มาวางระบบให้ชาวบ้านเข้าใจง่ายมาใช้ในร้าน

ปัจจุบันเรียกว่าร้านค้าแห่งนี้คือ ศูนย์สาธิตการตลาด กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านป่ายาง มีสมาชิกเพิ่มขึ้นรวม 421 คน มีผู้ถือหุ้นจำนวน 2,985 หุ้น ผลประกอบการในปีล่าสุด (30 กันยายน 2560) มีสินทรัพย์รวมกันประมาณ 1.3 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินสดหมุนเวียน 2.3แสนบาท เงินฝากในธนาคาร 4.4แสนบาท มีมูลค่าสินค้าในร้าน 5.2 แสนบาท

สิ่งสำคัญยังมีทุนในการดูงาน แบ่งปันไปสู่สาธารณประโยชน์ สำหรับสร้างและซื้ออุปกรณ์ และยังได้เงินอุดหนุนจากภาครัฐจากโครงการประชารัฐมูลค่า 2.2 แสนบาทนอกจากเติบโตทางธุรกิจแล้วยังพัฒนาชุมชนให้ยั่งยืนควบคู่กัน

ร้านค้ามียอดซื้อขายในร้านเฉลี่ยอยู่ที่วันละ 1-1.5 หมื่นบาท หรือไม่ต่ำกว่าเดือนละ 4 แสนบาท เมื่อมีร้านค้าเข้าลงทะเบียนเป็นธงฟ้าประชารัฐตั้งแต่เดือนตุลาคม ยอดขายเพิ่มขึ้นมาประมาณ 6.6 หมื่นบาท หรือไม่ต่ำกว่า 20%

ความสำเร็จของร้านค้าแห่งนี้ไม่ได้เข้มแข็งเฉพาะเพียงรายได้ของผลประกอบการที่ปรากฎชัด แต่เมื่อร้านค้าแห่งนี้ยังเป็นศูนย์รวมสิ่งดีๆต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในหมู่บ้าน

ไล่เลียงกันตั้งแต่เป็นจุดรับฝากสินค้าและผลิตภัณฑ์ในชุมชน ไม่ว่าใครแปรรูปอะไร ทั้งจากการรวมกลุ่ม หรือแม้แต่ทำเองในครัวเรือน บางบ้านเพาะปลูกสินค้าเกษตรในบ้านเหลือจากกินในบ้านแล้วก็มาฝากขายได้หน้าร้าน โดยที่ร้านไม่คิดเงินค่ารับฝากเลย ขายได้เท่าไหร่ก็ส่งคืน ทุกวันตอนเย็นจึงมีชาวบ้านผู้ฝากสินค้ามาเก็บของที่ฝากร้านกลับบ้าน

ในกลุ่มสตรีสหกรณ์บ้านป่ายาง ทำผลิตภัณฑ์ชุมชน สินค้าแปรรูปทยอยออกมาหลายชนิด อย่างแกงไตปลา พริกแกงปรุงอาหารหรือบางบ้านปลูกผัก ทำสินค้าแปรรูป เช่น เค้ก เบเกอร์รี่ มาฝากได้ที่ร้าน จนปัจจุบันสินค้าในร้านทั้งหมดกว่า 4,000 รายการ สัดส่วน 10% เป็นสินค้าที่มาจากคนในชุมชนบ้านป่ายาง นำมาแลกเปลี่ยนซื้อขาย

ร้านเป็นตลาดกลางรับฝากซื้อขายประจำหมู่บ้าน ใครทำอะไรในบ้านก็มาฝากขายได้ในร้านแห่งนี้ และยังเป็นจุดกระจายข่าวสาร ความช่วยเหลือการประชุมประจำหมู่บ้าน

ร้านค้าแห่งนี้พัฒนาเติบโตต่อยอดมาโดยตลอด ทั้งเกิดจากความพร้อมโดยต้นทุนของชุมชน เมื่อภาครัฐมีงบมาเสริมก็นำเข้ามาพัฒนาต่อยอด จึงเป็นหนึ่งในชุมชนที่เมื่อภาครัฐอุดหนุนงบประมาณถูกนำมาหมุนเวียนขับเคลื่อนชุมชนให้เติบโตได้ยั่งยืนเป็นรูปธรรม

“เมื่อชุมชนพร้อม ภาครัฐใส่งบประมาณหรือโครงการมาเสริม ก็ปลูกติดแพร่ขยายพันธุ์ได้ไม่ยาก เพราะเป็นเมล็ดพันธุ์ดีเมื่อมีปุ๋ยดีก็พร้อมเติบโต เพราะคนในชุมชนไม่ต้องการให้งบที่มาลงสูญเปล่าให้แล้วหายเหมือนหลายหมู่บ้าน” เธอเล่าถึงความตั้งใจของคนในชุมชน

ร้านค้าแห่งนี้ได้รับความสนใจจากโครงการร้านธงฟ้าประชารัฐ เพราะเป็นหนึ่งเดียวในร้านประชารัฐที่กระทรวงพาณิชย์ให้ความสนใจ โดยกรมพัฒนาธุรกิจการค้ากำลังวางให้เป็นหนึ่งในโมเดลความสำเร็จของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนที่เข้มแข็ง และมีการบริหารจัดการวางระบบทันสมัยโดยคนในชุมชน

สิ่งที่น่าสนใจ คือ โมเดลการค้าที่รัฐบาลวางกลยุทธ์สร้างเครือข่ายร้านค้าของคนในชุมชน โดยกุลณี อิศดิศัย อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ หน่วยงานที่พัฒนาโครงการร้านธงฟ้าประชารัฐมาเชื่อม ค้าปลีกไฮบริด ยกระดับร้านค้าชุมชนเป็นร้านค้ากระจายสินค้าชุมชนให้เข้ามาเป็นเครือข่ายการทำงานทั่วประเทศ

ร้านค้าชุมชนของบ้านป่ายาง ถือเป็นชุมชนที่มีฐานการบริหารงานเข้มแข็ง พร้อมทั้งทุนและบุคลากรในชุมชนที่เป็นร้านต้นแบบนำร่องพัฒนาต่อยอดในทางการตลาดไปทั่วประเทศได้ไม่ยาก ตามเป้าหมายที่รัฐบาลต้องการยกระดับสินค้าในชุมชนผ่านเครือข่ายร้านค้าประจำชุมชนทั่วประเทศ ให้เป็นจุดกระจายสินค้าจากคนในชุมชนไปยังภูมิภาคอื่นๆ โดยการจำหน่ายสินค้าออนไลน์ และออฟไลน์ควบคู่กัน

รัฐบาลต้องการกระจายรายได้ไปยังชุมชนทั่วประเทศลดความเหลื่อมล้ำ โดยการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก (Local Economy) ร้านค้าชุมชนจึงเป็นจุดกระจายสินค้าที่ต่อยอดให้สินค้าในชุมชนไปขยายไปจำหน่ายต่างถิ่นได้” อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ทิ้งท้าย