เรื่อง(ไม่)ลับ ฉบับ "ลูกหนี้"

จัดการ “หนี้” ให้อยู่ไม่ใช่เรื่องง่าย ฟังปากคำอีกด้านของผู้ยอมรับความพ่ายแพ้จนต้องหาตัวช่วย

…เมื่อรายรับ มันไม่พอกับรายจ่าย ต้องกินต้องใช้ ทำอย่างไรก็กู้เขา

ไม่ใช่เศรษฐี นามสกุล ไม่เป็นข่าวเป็นแค่คนเดินเท้า คนอย่างเราก็ต้องทน

ทำยังไงได้ ก็ไม่ได้เกิด มาบนกองทอง พ่อแม่พี่น้อง ทุกคน ก็ประชาชนเดินดิน

หากชีวิตนี้ไม่สิ้น ก็ดิ้นกันไป ชีวิตนี้ใช้หนี้อย่างเดียว…

 

ตั้งแต่เปิดตัวครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2537 เพลง “ชีวิตหนี้” ก็มักถูกนำมาเปิดให้กำลังใจให้กับคนหาเช้ากินค่ำ ไม่ร่ำรวย หากินหาใช้ แต่รายรับก็ไม่สัมพันธ์กับรายจ่ายอยู่ดี

นักลงทุนบางรายมักกล่าวว่า การก่อหนี้ไม่ใช่ปัญหา แต่การบริหารหนี้คือสิ่งสำคัญกว่า หากคิดจะเป็นหนี้ก็ขอให้เป็นหนี้ลงทุน ไม่ใช่หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้เพิ่ม

ขณะที่ฝั่งผู้เป็นหนี้จำนวนไม่น้อย บอกประสบการณ์ตรงว่า ทุกคนต่างคิดว่าตัวเอง “เอา(หนี้) อยู่” ด้วยกันทั้งนั้น จนกระทั่งนานเข้าเงินก็ชักตึงมือเข้าทุกทีๆ ทรัพย์สินมีค่าร่อยหรอลงไป และถูกแทนที่ด้วยสิ่งของซึ่งคุณเองยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าต้องการมันไปเพื่ออะไร

วิถี “ลูกหนี้”

หนี้ไม่ใช่สิ่งพึงรังเกียจ และข้อเขียนนี้ก็มิได้ต่อต้านการกู้หนี้

เมื่อปลายเดือนก่อน ผมได้เข้าไปขอสัมภาษณ์ “ผู้เข้าร่วมโครงการแก้ไขปัญหาหนี้ส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกัน” ซึ่งเป็นนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ต้องการช่วยเหลือประชาชนรายย่อยในการแก้ไขปัญหาหนี้ส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกัน ซึ่งมีหนี้ค้างชำระอยู่กับธนาคารพาณิชย์หลายแห่ง

เราเรียกสถานที่แห่งนี้ว่า “คลินิกแก้หนี้” มีบริษัทบริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด เป็นหน่วยงานกลาง ทำหน้าที่ประสานให้ประชาชนแก้ไขปัญหาหนี้สินกับธนาคารพาณิชย์ทั้งหลายให้ได้ข้อยุติในคราวเดียว สามารถบริหารจัดการชำระหนี้ตามความสามารถที่แท้จริง ควบคู่กับการเสริมสร้างวินัยทางการเงินที่ดี

ผมเข้าไปสังเกตการณ์และสอบถามประสบการณ์ตรงกับลูกหนี้บางส่วน ต่างวัย ต่างอาชีพ ต่างสาเหตุของการกู้ยืม และหากคุณจินตนาการว่าคนเป็นหนี้ที่มีปัญหา คาราคาซังกับสถาบันการเงินมานาน มักเป็นพวกใช้เงินเกินตัวก็ขอให้โยนความคิดนั้นทิ้งไปก่อน เพราะจากการสอบถามทั้งหมดล้วนมีชีวิตธรรมดาๆ ไม่ต่างจากไลฟ์สไตล์ของคนชั้นกลางทั่วๆ ไป

ณัฐวัฒน์ (นามสมมติ) บอกว่า เขาก็เหมือนกับมนุษย์เงินเดือนทั่วๆ ไปที่มีรายได้ประจำ แต่ต้องการมีอาชีพเสริมจึงนำเงินเก็บส่วนตัว และกู้สินเชื่อส่วนบุคคลมาใช้ทำธุรกิจ

“ตอนธุรกิจ MLM บูม เราก็ลงทุนด้วยการซื้อสินค้ามาตุนไว้ ลงทุนกับการสร้างเครือข่าย หวังให้ธุรกิจเติบโต เพราะธุรกิจประเภทนี้คุณต้องมีสินค้าไว้ปล่อยต่อเครือข่าย ยังไงก็ต้องซื้อหากอยากเติบโต ลงทุนครั้งแรกหลักแสน แล้วก็ทำซ้ำไปเรื่อยๆ แต่สุดท้ายก็ขายไม่ได้ตามเป้า จะออกจากงานประจำมาลุยเต็มตัวก็ไม่กล้า สินค้าที่มีมูลค่ารวมกันหลายแสนบาทจึงต้องถูกปล่อยออกในราคาที่ต่ำมาก”

ถ้าเป็นคนต่างจังหวัดที่เข้ามาทำงานในกรุง ก็ต้องผ่อนบ้าน ส่งงวดรถ ลำพังรายรับทางเดียวจากบริษัทไม่เพียงพอ ช่วงเวลานั้นเองเขาจึงใช้สถานะการเป็นมนุษย์เงินเดือน เปิดบัตรเครดิตมากกว่า 1 ใบ กู้สินเชื่อส่วนบุคคลมากกว่า 1 แห่งหวังจะหมุนเงิน

“คนมีหนี้ก็คิดว่าตัวเองสามารถจัดการได้ทั้งนั้น แต่ถ้าไม่มีรายได้เพิ่ม เอาเข้าจริงก็ทำได้แค่หมุนเงินเป็นช่วงๆ เท่านั้น เปิดสินเชื่อที่ 2 เพื่อมาปิดหนี้ก้อนที่ 1 หาเงินก้อนที่ 3 เพื่อมาโปะหนี้ก้อนที่ 1 และ 2 ทำแบบนี้เรื่อยๆ คิดว่าเดี๋ยวก็จบ เดี๋ยวก็ดีขึ้น แต่เอาเข้าจริงมันไม่ใช่เลย ระหว่าง 2-3 ปี ที่พยายามจัดการด้วยตัวเอง กลายเป็นหนี้บัตรถึง 12 ใบ ยิ่งทำงานบริษัทยิ่งกู้ง่ายมาก ขอที่ไหนเขาก็ให้ ขอกู้จนมันเต็มไปหมด หาหมุนที่ไหนไม่ได้อีก ตอนนั้นแหละถึงรู้สึกเครียดขึ้นมาจริงๆ เอาไม่อยู่แล้ว จะทำอย่างไรต่อดี”

หนี้ 10 ราย โทรศัพท์ 30 สาย

ถ้าใครเคยถูกทวงหนี้ก็น่าจะเข้าใจกติกา หลังขาดการผ่อนชำระกับสถาบันการเงินครบกำหนด ธนาคารมักส่งเรื่องต่อให้กับบริษัททวงหนี้เป็นผู้ติดตาม ในฐานะผู้เชี่ยวชาญและเข้าใจพฤติกรรมของลูกหนี้มากกว่า

พี่พร พนักงานบัญชีบริษัทแห่งหนึ่งย่านบางนา บอกว่า บริษัททวงหนี้มักโทรมาเร่งรัด 3 ครั้งต่อวันเป็นอย่างน้อย ได้แก่ ช่วงเช้าประมาณ 8.30-10.30 น.ช่วงบ่าย 14.00-15.30 น. และช่วงเย็น 16.30-18.00 น. ซึ่งจำนวนนี้หมายถึงการเป็นหนี้แค่เพียงสถาบันการเงินเดียวเท่านั้น

แต่ถ้าสมมติว่าคุณเป็นหนี้และไม่มีความสามารถชำระได้สัก 5 แห่ง นั้นหมายความว่า อย่างน้อยๆ 15 ครั้ง/วัน คือจำนวนครั้งที่คุณต้องพูดเรื่องเดียวกัน ความยาว 10-15 นาทีขึ้นไปเป็นอย่างน้อย

“เราบอกไม่มี เขาก็ยังไม่หยุดถาม คุยวกไปวนมาแต่เรื่องให้เราไปใช้หนี้ บางทีเรารับเหนื่อยจนไม่อยากรับก็จะวางโทรศัพท์ไว้ตรงนั้น หายเหนื่อยแล้วค่อยกลับมารับใหม่ เราไม่ได้คิดจะหนีนะ แต่มันยังไม่มี ก็ไม่รู้จะทำอย่างไร” ลูกหนี้สถาบันการเงิน มากกว่า 5 แห่งบอก พร้อมโชว์สมุดโน้ตแสดงปฏิทินกำหนดวันชำระในแต่ละเดือน

“มันเสียสุขภาพจิตไปเลย โทรศัพท์ดังเมื่อไรเราจะสะดุ้งเลย คิดว่า “มาอีกละ” จนบางทีเราต้องเลือกรับเบอร์แปลกหลังสองทุ่มขึ้นไป เพราะบริษัททวงหนี้เขาเลิกงานแล้ว คิดอยากจะเปลี่ยนเบอร์ก็ทำไม่ได้ เพราะต้องใช้เบอร์นี้คุยงาน เป็นช่วงที่เครียดมากๆ มันเสียงาน เสียการ เสียสมองไปหมด ลูกค้าบางคนยังบ่นกับเราว่า “ทำไมเดี๋ยวนี้รับโทรศัพท์ยากเย็นนัก” เราก็อารมณ์เสียไปใหญ่ มองว่าเขาหลอกด่า เราเองก็บอกไม่ได้ว่าเจอกับอะไรบ้าง” ผู้เป็นหนี้อีกรายบอก

ไม่มี-ไม่หนี-ไม่จ่าย

ไม่มี-ไม่หนี-ไม่จ่าย เป็นคำที่พูดกันง่ายๆ แต่เอาเข้าจริงมันทำได้ซ่ะที่ไหน เมื่อเอาเงินของเขามาแล้ว ก็ต้องหาทางชำระคืน เพราะหากคิดจะทำมาหากินในระบบ อย่างไรก็หนีไม่พ้น เว้นแต่คุณจะถอยทัพหลบลี้หนีหน้าไปดื้อๆ

“บางคนมีบ้านต่างจังหวัดเขาหนีไปทำไร่ ทำนา ตัดขาดจากโลกที่เคยอยู่ไปเลย แต่เราทำไม่ได้ เพราะโตในเมืองต้องผ่อนบ้าน ผ่อนรถ และหากหายไปเฉยๆ จะบอกพ่อแม่อย่างไร ที่ทำไปทั้งหมดก็เสียเปล่า”

ภาศกร พนักงานบริษัทเอกชนตำแหน่งผู้จัดการ ซึ่งเป็นหนี้หลักล้านจากการลงทุน ซึ่งอยู่ระหว่างการเข้าคลินิคแก้หนี้ บอกว่า เขาเครียดมากๆ จนถึงขนาดอยากฆ่าตัวตาย เคยได้ยินจากผู้อื่น ดูในละคร แต่ไม่คิดว่าจะเจอกับตัวเอง มันเป็นความเครียดที่ค่อยๆ สะสมทีละน้อยๆ ทั้งนี้แม้จะมีรายได้ต่อเดือนสูงกว่าค่าจ้างขั้นต่ำหลายหมื่น แต่เมื่อหักลบหนี้แต่ละงวด กลับเหลือเงินเพียงหลักร้อย ต้องประหยัดเท่าที่จะทำได้ รถที่มีก็เติมน้ำมันเท่าที่ขับมาทำงาน มองไม่เห็นทางออกว่าจะหลุดพ้นจากชีวิตตรงนี้ไปได้อย่างไร

“ไม่กี่วันก่อน พ่อเพื่อนเพิ่งเสียไป เชื่อไหมผมยังไม่มีเงินใส่ซองให้เลย ต้องแอบไปเผาซองทิ้ง วันนั้นผมน้ำตาซึมเลย”

“เวลาลูกน้องแต่งงาน มันก็จะมีซองให้เรา ตอนมีเราก็ช่วยใส่ซองให้ได้ อย่างน้อยๆ 500 -1000 บาท แต่ตอนนี้ก็ต้องแกล้งเนียน ทำเป็นไม่ว่าง แกล้งทำเป็นลืม พอเขาแชร์ภาพในเฟซบุ๊คก็ค่อยคอมเมนต์แสดงความยินดี เพราะเราไม่มีเงินจะใส่ซอง ผมว่าหลายคนเป็นนะภาษีสังคมมันมากเสียจนไม่ไหว ยิ่งเราเป็นหนี้ด้วยแล้ว ยิ่งเครียดไปกันใหญ่”

หน่วยกล้าอาย

ถ้ามีเงินสดหลักล้านคุณก็ซื้อบ้านได้โดยไม่ต้องกู้แบงค์ มีรถโดยไม่พึ่งไฟแนนซ์ แต่จะมีสักกี่คนที่โชคดีขนาดนั้น

ลองคิดง่ายๆ ว่าคุณเป็นคนต่างจังหวัด เงินเดือนราวๆ 2 หมื่น อยากจะมีบ้านสักหลัง รถสักคัน นั่นหมายความว่าเงินเดือนมากกว่าครึ่งคุณต้องหมดไปกับการผ่อนชำระหนี้

ลูกหนี้รายหนึ่ง บอกว่า เวลาเล่าให้คนรอบข้างฟังถึงการเป็นหนี้ ใครๆ ก็มักคิดและตัดสินก่อนว่า เป็นคนสุรุ่ยสุหร่าย ใช้จ่ายไม่เป็น ทำให้ไม่อยากที่จะปรึกษาใคร ได้แต่เก็บเรื่องนี้ไว้คนเดียว

“แค่กู้เงินกับสถาบันในระบบแล้วต้องเจอทวงก็ปวดหัวจะแย่ ลองคิดถึงผู้คนที่จำใจต้องกู้เงินนอกระบบ คนกลุ่มนี้สุ่มเสี่ยงต่อความรุนแรงเป็นอย่างมาก นอกจากดอกเบี้ยจะสูงลิ่ว ยังมีมอเตอร์ไซค์สวมหมวกกันน็อคมาตามป้วนเปี้ยนละแวกที่ทำงานและบ้าน ต้องโดนยึดบัตร ATM เป็นหลักประกันว่าสิ้นเดือนจะต้องชำระ”

เมื่อเอา (หนี้) ไม่อยู่ ทางที่ดีจึงต้องขอให้มืออาชีพช่วยเหลือ และในจำนวนนั้นมีคลินิกแก้หนี้ ที่ได้เซ็นสัญญาร่วมกับธนาคารพาณิชย์ 17 แห่ง ที่เข้าร่วมโครงการ

โดยคุณสมบัติของลูกหนี้ที่เข้าร่วมต้องเป็นบุคคลธรรมดาอายุไม่เกิน 65 ปี (ตลอดระยะเวลาที่อยู่ในโครงการแก้ไขปัญหาหนี้) เป็นผู้ที่มีภาระหนี้ค้างชำระกับธนาคารพาณิชย์ที่เข้าร่วมโครงการมากกว่า 1 แห่ง มูลหนี้รวมกันไม่เกิน 2 ล้านบาท ต้องเป็นผู้ที่มีรายได้ประจำ ทั้งนี้ผู้เข้าร่วมโครงการจะได้รับอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำลงโดยอยู่ที่ 4-7 เปอร์เซนต์ และสำหรับหนี้บัตรเครดิต ต้องเป็นหนี้บัตรที่ออกโดยธนาคารพาณิชย์ที่เข้าร่วมในโครงการเท่านั้น ผู้สนใจสามารถเข้ารับการปรึกษาและตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้นได้ที่ www.debtclinicbysam.com

การมีหนี้อาจไม่ใช่ปัญหาก็จริงหากคุณยังมั่นใจว่ามีศักยภาพพอที่จัดการมันได้

แต่กว่าจะรอให้เป็นปัญหา ไอ้เรื่องที่มันง่ายๆ จะจัดการได้ยากกว่าเดิม