ทำไมจำคุก 'มือบึ้ม รพ.พระมงกุฎ' 26 ปี 12 เดือน

ทำไมจำคุก 'มือบึ้ม รพ.พระมงกุฎ' 26 ปี 12 เดือน

ไขข้อสงสัย!! ทำไมจำคุก "มือบึ้ม รพ.พระมงกุฎ" 26 ปี 12 เดือน ไม่ใช่ 27 ปี

กรณีศาลพิพากษาจำคุกนายวัฒนา ภุมเรศ อดีตวิศวกร กฟผ. มือบึ้มโรงพยาบาลพระมงกุฎ เป็นเวลา 26 ปี 12 เดือน อาจทำให้มีผู้สงสัยว่า ทำไมศาลไม่จำคุกนายวัฒนา 27 ปี ไปเลย

ก่อนอื่นมาดูคำพิพากษาในคดีนี้ก่อน คดีนี้ ศาลพิพากษาว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป
- จำคุกตลอดชีวิต ฐานทำให้เกิดระเบิดจนผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัส
- จำคุก 3 ปี ฐานประกอบวัตถุระเบิดซึ่งทำให้เกิดระเบิด,
- จำคุก 1 ปี ฐานครอบครองยุทธภัณฑ์โดยไม่ได้รับอนุญาต
- ปรับ 1,000 บาท ฐานนำวัตถุระเบิดไปในที่สาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาต
จำเลยให้การรับสารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่ง

ดังนั้น โทษจำคุกตลอดชีวิต ในการลดโทษต้องเปลี่ยนโทษจำคุกตลอดชีวิต เป็นโทษจำคุก 50 ปี เสียก่อน ทั้งนี้เป็นไปตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 53 ซึ่งบัญญัติว่า ในการลดโทษจำคุกตลอดชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการลดมาตราส่วนโทษหรือลดโทษที่จะลง ให้เปลี่ยนโทษจำคุกตลอดชีวิต เป็นโทษจำคุก 50 ปี จำเลยรับสารภาพ ลดโทษครึ่งหนึ่งจึงเหลือจำคุก 25 ปี

- โทษจำคุก 3 ปี ลดโทษครึ่งหนึ่งเหลือ จำคุก 1 ปี 6 เดือน
- โทษจำคุก 1 ปี ลดโทษครึ่งหนึ่งเหลือ จำคุก 6 เดือน
- ปรับ 1,000บาท ลดโทษครึ่งหนึ่งเหลือ 500 บาท

จึงรวมจำคุกทั้งสิ้น 26 ปี 12 เดือน และปรับ 500 บาท

ทำไมศาลจึงไม่เปลี่ยนโทษจำคุก"เดือน" เป็น "ปี" เช่น 12 เดือน เป็น 1 ปี

ในอดีตก็มีคดีที่ศาลพิพากษาทำนองนี้มากมาย ไม่ใช่เฉพาะคดีนี้เท่านั้น ยกตัวอย่างเช่น คดีนายปรีชา ตรีจรูญ แนวร่วมพันธมิตรฯ ขับรถพุ่งชนตำรวจ ศาลฎีกาพิพากษาจำคุก 2 ปี 16 เดือน, คดีนายประชา โพธิพิพิธ หรือกำนันเซี้ยะ และภรรยา บุกรุกที่ดินกรมธนารักษ์ ในจังหวัดกาญจนบุรี ศาลอาญาจำคุกคนละ 10 ปี 16 เดือน

เหตุเพราะการนับโทษจำคุก “ปี” กับการนับโทษ “เดือน” ตามกฎหมายมีความแตกต่างกัน

- การนับโทษปี ให้นับจำนวนวันตามปีปฏิทิน ซึ่ง 1 ปี ก็จะมี 365 วัน หรือ 366 วัน ( ปีอธิกสุรทิน)
- การนับโทษเดือน ให้นับ 30 วัน เป็น 1 เดือน
ดังนั้นกรณีจำคุก 1 ปี กับจำคุก 12 เดือน จึงมีระยะเวลาไม่เท่ากัน กล่าวคือ ศาลจำคุกจำเลย 1 ปี ก็คือ 365 วันหรือ 366 วัน แต่ถ้าศาลจำคุกจำเลย 12 เดือน จะเท่ากับ 360 วัน

ดังนั้น กรณีที่ศาลจำคุกจำเลย 12 เดือน จึงไปแปลงหรือเปลี่ยนโทษจำคุกจำเลยเป็น 1 ปี ไม่ได้ เพราะจะเป็นผลร้ายต่อจำเลย คือ ทำให้จำเลยต้องรับโทษเกินไป 5 หรือ 6 วัน ด้วยเหตุนี้ศาลจึงไม่เอาโทษจำคุกเป็น“เดือน”มาปนกับ "ปี" โดยแยกออกจากกัน

ประเด็นต่อมา คือ การนับโทษเดือน ให้นับ 30 วัน เป็น 1 เดือน นั้น จะมีปัญหาทำให้เกิดการได้เปรียบ-เสียเปรียบ กับจำเลยที่ถูกจำคุกเป็น "เดือน" หรือไม่ เพราะเดือนลงท้ายด้วย "คม" มี 31 วัน ขณะที่เดือนกุมภาพันธ์ มี 28 วัน หรือ 29 วัน เท่านั้น

คำตอบ ไม่ทำให้เกิดการได้เปรียบ-เสียเปรียบ เพราะตามกฎหมายให้นับวันไปตามจำนวนวันของเดือนนั้นๆ เดือนไหนมี 31 วัน ก็นับ 31 วัน เดือนกุมภาพันธ์ มี 28 วัน หรือ 29 วัน ก็นับ 28 หรือ 29 วัน ไม่่ได้นับเป็นเดือนๆ ( จึงไม่เกิดกรณีที่จำเลยถูกจำคุกเดือนกุมภาพันธ์ ได้เปรียบถูกจำคุก แค่ 28 หรือ 29 วัน และไม่เกิดกรณีจำเลยที่ถูกจำคุกในเดือนที่มี 31 วัน เสียเปรียบแต่อย่างใด)

ยกตัวอย่าง จำเลยถูกศาลพิพากษาจำคุก 2 เดือน ในวันที่ 1 มีนาคม ซึ่งก็เท่ากับถูกจำคุก 60 วัน ก็เริ่มนับวันถูกจำคุกตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม ไปจนถึงวันที่ 30 มีนาคม รวม 30 วันจากนั้นวันที่ 31 มีนาคม ก็นับเป็นวันที่ 31 ของการถูกจำคุก วันที่ 1 เมษายน ก็นับเป็นวันที่ 32 ของการถูกจำคุก นับต่อไปเรื่อยๆจนครบ 60 วัน ซึ่งจำเลยคนนี้ จะได้รับการปล่อยตัวในวันที่ 29 เมษายน

ส่วนจำเลยที่ถูกศาลพิพากษาจำคุก 2 เดือน ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ สมมุติว่า ปีนั้นเดือนกุมภาพันธ์มี 28 วัน ก็เริ่มนับวันถูกจำคุกตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ ไปจนถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ ซึ่งก็จะได้ 28 วัน จากนั้นก็นับวันที่ 1มีนาคม เป็นวันที่ 29 ของวันถูกจำคุก จากนั้นนับไปเรื่อยๆ จนครบ 60 วัน ซึ่งก็คือวันที่ 1 เมษายน จำเลยจะได้รับโทษครบ 60 วัน

ประเด็นสุดท้าย การรับโทษ ต้องรับโทษปีให้ครบก่อน เมื่อรับโทษปีครบแล้ว ค่อยนับโทษเดือนต่อ เพราะโทษปีจะใหญ่กว่าโทษเดือน