ผบ.ทอ. ประดับเครื่องหมาย 3 นักบินหญิงรุ่นแรก

ผบ.ทอ. ประดับเครื่องหมาย 3 นักบินหญิงรุ่นแรก

ผบ.ทอ.ประดับเครื่องหมายแสดงความสามารถ 3 "นักบินหญิง" รุ่น 1 ระบุเป็นบุคลากรทรงคุณค่าของกองทัพ และผ่านการฝึกหนัก พร้อมสานต่อโครงการอีก 4 รุ่น

เมื่อวันที่ 6 ธ.ค. 60 ที่กองบัญชาการกองทัพอากาศ (บก.ทอ.) ดอนเมือง พล.อ.อ.จอม รุ่งสว่าง ผู้บัญชาการทหารอากาศ (ผบ.ทอ.) เป็นประธานพิธีประดับเครื่องหมายความสามารถในการบิน กองทัพอากาศ และมอบประกาศนียบัตรนักบินประจำกองแก่ศิษย์การบิน นายทหารสัญญาบัตร รุ่นที่ 139-59-1 จำนวน 32 คน และศิษย์การบินหญิง กองทัพอากาศ ประจำปี 2559 จำนวน 3 คน คือ ร.ท.กานต์ชนก จรรยารักษ์ หรือ "หมวดนกยูง" ร.ท.หญิง ชนากานต์ สอนจ้าน หรือ"หมวดน้ำตาล" และร.ท.หญิง พีรศรี จักรไพศาล หรือ "หมวดพีร์"

โดยนักบินหญิงทั้ง 3 คน ได้รับการคัดเลือกจากนายทหารสัญญาบัตรหญิง สังกัดกองทัพอากาศ บรรจุเป็นศิษย์การบินฝ่ายยุทธการ ฝูงบิน 604 กองบิน 6 โดยเข้ารับการฝึกอบรมตามหลักสูตรศิษย์การบิน ใช้ระยะเวลาฝึกอบรมในการศึกษาภาควิชาการ การฝึกบินชั้นประถมและการฝึกบินชั้นมัธยม ตั้งแต่ 20 ก.ค.59-6 ต.ค.60 เป็นเวลา 1 ปี 3 เดือน

พล.อ.อ.จอม กล่าวให้โอวาทตอนหนึ่งว่าขอแสดงความยินดีกับศิษย์การบินทุกคนโดยเฉพาะอย่างยิ่งนักบินหญิงของกองทัพอากาศ ถือเป็นความภาคภูมิใจและขอชมเชยนักบินทุกคน การที่ท่านได้เข้ามาสู่ฐานะนักบินประจำกองทัพอากาศถือว่าทุกท่านป็นทรัพยากรทรงคุณค่ายิ่งกว่ากองทัพ หน้าที่หลักของท่านเป็นภาระที่สำคัญในการปกป้องอธิปไตยและรักษาความมั่นคงของประเทศชาติ ท่านต้องใช้ความรู้ความสามารถและประสบการณ์ที่ได้ฝึกฝนที่ร่ำเรียนมา ปฏิบัติงานด้วยความรอบคอบมุ่งมั่นพัฒนาทักษะด้านการบินและการปฏิบัติราชการ

พล.อ.อ.จอม กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ต้องมีความสำนึกรับผิดชอบต่อตนเอง และทรัพย์สินต่อราชการ ขอให้ทุกคนปฏิบัติภารกิจที่ได้รับมอบหมายอย่างเต็มความกำลังความสามารถ ด้วยความตั้งใจ มีวินัยที่ซื่อสัตย์สุจริต ศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมทั้งพัฒนาศักยภาพให้ทันต่อความก้าวหน้าทางด้านต่างๆ ขอให้ยึดมั่นในคำสัตย์ปฏิญาณที่ได้ให้ไว้ ให้สมกับเกียรติยศของการเป็นนักบินที่กล้าหาญที่จะสืบสานพัฒนาหน่วยงาน ตลอดจนกองทัพและประเทศชาติให้เจริญก้าวหน้าต่อไป

จากนั้น พล.อ.อ.จอม ให้สัมภาษณ์ว่า วันนี้มีนักบินที่ประดับเครื่องหมายความสามารถในการบินและเข้าเป็นนักบินประจำกองเรียบร้อยจำนวน 35 คน โดยมีนักบินของกองทัพเรือ 4 คน และนักบินหญิงของกองทัพอากาศ 3 คน โดยทุกครึ่งปีจะมีศิษย์การบินศึกษาจบหนึ่งรุ่น การที่จะเป็นนักบินประจำกองได้ต้องผ่านการฝึกหนัก การทำการบินไม่ใช่เรื่องยาก แต่ต้องเอาใจใส่ตัวเองและผ่านการฝึกฝน โดยเฉพาะการอ่านหนังสือ สภาพร่างกายต้องพร้อมและผ่านการทดสอบให้ได้ จากนั้นจะบรรจุตามกรม กอง ต่างๆของกองทัพอากาศเพื่อปฏิบัติภารกิจต่อไป ตนมีความภาคภูมิใจทุกคนที่ผ่านการเรียนมาได้ และตนก็เคยผ่านหลักสูตรนี้มาก่อน ถือว่าเป็นหลักสูตรที่สำคัญ เพื่อผลิตบุคลากรที่ทรงคุณค่าของกองทัพอากาศ

เมื่อถามถึง การต่อยอดนักบินหญิงรุ่นต่อไป พล.อ.อ.จอม กล่าวว่า ตนจะทำต่อเนื่องไปอีกประมาณ 3-4 รุ่นเพื่อดูความเหมาะสมอีกครั้ง ทั้งนี้พบว่านักบินหญิงทุกคนมีความตั้งใจมาก ซึ่งจากนี้ในรุ่นต่อไปจะมีบักบินหญิงที่จบหลักสูตรอีก 2 คน ตนเชื่อว่านักบินหญิงมีความมุ่งมั่นสูง น่าจะไม่แพ้กับนักบินชาย สำหรับการปรับหลักสูตรของนักบินหญิงนั้น ต้องยอมรับว่าสภาพการฝึกบินจะไม่เหมือนศิษย์การบินชาย แต่เราจะพยายามสร้างสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมมากขึ้น เพื่อให้เขาตั้งใจทำได้อย่างเต็มที่ เช่นควรจะอยู่หอพักเพื่อได้อ่านหนังสือ ไม่ใช่เดินทางกลับบ้าน และตอนเช้ามาทำการบินทุกวัน รวมถึงทำการบ้าน เพราะจะทำให้เขารู้สึกเหนื่อยมากขึ้น หากเขาไม่สามารถทำบางอย่างได้ก็อาจจะเกิดความรู้สึกท้อ เราไม่อยากให้เขาท้อ อยากให้เขามุ่งมั่นสู้และพร้อมทำการฝึกมากขึ้น

เมื่อถามถึงการดูแลแก้ไขปัญหานักบินของกองทัพอากาศลาออกเป็นนักบินพาณิชย์ พล.อ.อ.จอม กล่าวว่า การมาฝึกเป็นนักบินประจำกองแล้ว ถ้าจะลาออกสามารถลาออกได้เลย แต่ทุกคนต้องทำตามเงื่อนไขคือชำระหนี้ค่าศึกษาเล่าเรียนให้กองทัพอากาศเรียบร้อย ไม่มีภาระผูกพัน การลาออกของนักบินไม่กระทบความมั่นคง เพราะสามารถลาออกได้ แต่นักบินส่วนใหญ่เขาเลือกแล้วที่จะอยู่กับกองทัพอากาศ ดังนั้นถ้าเขาจะอยู่กับเรา 8-10 ปี แล้วลาออกก็ไม่มีใครว่าอะไร เพราะเขาลาออกไปก็ยังเป็นนักบินของชาติ ไม่ได้เสียหายอะไร แต่การเป็นนักบินของกองทัพอากาศถือได้ว่ามีเกียรติและศักดิ์ศรี อีกทั้งการเติบโตทางราชการก็มีความก้าวหน้า คิดว่าจะช่วยเป็นแรงจูงใจให้เขาอยู่กับกองทัพอากาศเราต่อไป

ขณะที่ ร.ท.กานต์ชนก จรรยารักษ์ หรือ "หมวดนกยูง" กล่าวว่า ตอนนี้ทำการฝึกกับเครื่องบินแบบ 16 ก หรือ CHICKEN จบแล้ว ร่วม 200 ชม. ซึ่งคำสั่งพึ่งออกมาวันนี้ ยอมรับว่ากว่าจะมาถึงตรงนี้ประสบอุปสรรคพอสมควร เพราะเป็นเรื่องใหม่ ทั้งเรื่องการบินด้านต่างๆ อ่านหนังสือเพิ่มขึ้น ฝึกความพร้อมของร่างกาย เพื่อให้ทำการบินได้สมบูรณ์ แต่ทุกอย่างก็ผ่านมาได้ ทั้งนี้ช่วงแรกๆยอมรับว่าท้อแท้บ้าง แต่พอปรับตัวได้ทุกอย่างก็ดีขึ้น มีการประคับประคองช่วยเหลือกันมาตลอด จนผ่านไปได้ทั้ง 3 คน เตรียมจะฝึกกับเครื่องบินลำเลียง C-130 ประจำฝูงบิน 601 ต่อไป

ร.ท.กานต์ชนก กล่าวว่า นอกจากนี้ต้องฝึกนักบินพร้อมรบเหมือน ร.ต.หญิง ชลนิศา สุภาวรรณพงศ์ "หมวดพิซซ่า"กับ ร.ต.หญิง สิรีธร ลาวัณย์เสถียร "หมวดไอร์" ขณะนี้เราได้ทบทวนความรู้พื้นฐาน และสิ่งต่างๆที่ต้องไปเจอ อย่างการบินเครื่อง C-130 เป็นเครื่องยนต์ 4 เครื่องยนต์ แต่เครื่องบินแบบ 16 ก หรือ CHICKEN เป็นเครื่องยนต์เดียว


"เราเตือนตัวเองว่าต้องมีความพยายามเพิ่มขึ้น เพราะสิ่งที่ต้องเจอข้างหน้ามีความยากแน่นอน โดยพิชซ่ากับไอร์บอกให้เตรียมตัวเยอะๆ เตรียมร่างกายให้พร้อม อ่านหนังสือทบทวนสิ่งที่ได้เรียนมา ส่วนนักบินหญิงรุ่นที่ 2 อีก 2 คนขณะนี้ผ่านกระบวนการต่างๆและผ่านการฝึกดำรงชีพในป่ามาแล้ว อีกคนที่มาจากพลเรือน กำลังเข้าสู่กระบวนการฝึกผู้หมวด ส่วนอีกคนมาจากทหารอากาศกำลังเรียนภาคพื้นการบิน" ร.ท.กานต์ชนก กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นักบินหญิงกองทัพอากาศ เป็นความคิดริเริ่มของ พล.อ.ตรีทศ สนแจ้ง อดีตผู้บัญชาการทหารอากาศ ภายหลังกองทัพอากาศขาดแคลนนักบินลำเลียง เนื่องจากอุตสาหกรรมการบินของประเทศขยายตัวอย่างรวดเร็ว ทำให้กองทัพอากาศสูญเสียนักบินเครื่องบินลำเลียงให้กับภาคอุตสาหกรรมการบินอย่างต่อเนื่อง
โดย ร.ท.กานต์ชนก จรรยารักษ์ หรือ "หมวดนกยูง" ร.ท.หญิง ชนากานต์ สอนจ้าน หรือ"หมวดน้ำตาล" และร.ท.หญิง พีรศรี จักรไพศาล หรือ "หมวดพีร์" เป็นนักบินหญิงรุ่นที่ 1 เช่นเดียวกับ ร.ต.หญิง ชลนิศา สุภาวรรณพงศ์ "หมวดพิซซ่า"กับ ร.ต.หญิง สิรีธร ลาวัณย์เสถียร "หมวดไอร์" ที่พึ่งจบการฝึกนักบินพร้อมรบไปแล้ว และขณะนี้กองทัพอากาศอยู่ระหว่างการฝึกนักบินหญิงอีก 2 คน มาจาก พลเรือน 1 คน และ กำลังพลของกองทัพอากาศ 1 คน