กรธ.เอกฉันท์! ไม่แย้งร่างพรป.ศาลรธน. เหตุสนช.ทักท้วง

กรธ.เอกฉันท์! ไม่แย้งร่างพรป.ศาลรธน. เหตุสนช.ทักท้วง

กรธ.ลงมติเอกฉันท์ ไม่ทำความเห็นแย้งร่างพ.ร.ป.ศาลรธน. เหตุทักท้วงชั้น สนช. แม้จะกังวลถึงความเสี่ยงขัดแย้งการเมือง แต่อาจจะเป็นผลดีในอนาคต

นายอุดม รัฐอมฤต โฆษกคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) แถลงมติโดยเอกฉันท์ของ กรธ. ไม่ทำความเห็นแย้งต่อร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ฉบับที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ลงมติผ่านวาระสาม แม้ก่อนหน้านี้จะมี กรธ.แสดงเจตจำนงค์ส่วนตัวไว้

เหตุผลสำคัญ คือ ประเด็นวาระการดำรงตำแหน่งของ 5 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทีพ้นตำแหน่งเพราะอยู่ครบ แต่ยังปฏิบัติหน้าที่เพราะมีคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ สนช. แก้ไขให้อยู่ปฏิบัติหน้าที่ไปจนกว่าจะมีสภาผู้แทนราษฎรชุดใหม่ที่มาจากการเลือกตั้ง เพื่อให้กรรรมการสรรหามีองค์ประกอบที่ครบถ้วน ทั้ง ประธานสภาฯ และผู้นำฝ่ายค้านในสภาฯ เพราะ กรธ. ได้แสดงความเห็นโต้แย้งทั้งในชั้น กมธ. วิสามัญ และ ชั้นพิจารณาวาระสามอย่างครบถ้วนแล้ว อีกทั้งมีคำวิจิฉัยของศาลรฐธรรมนูญ ที่ให้สิทธิสนช. เป็นผู้พิจารณากำหนดวาระดำรงตำแหน่งกรรมการองค์กรอิสระ ส่วนประเด็นดังกล่าวที่อาจหลายฝ่ายวิจารณ์ถึงความไม่เหมาะสมนั้น ส่วนของกรธ. ไม่สามารถก้าวล่วงการพิจารณาของสนช. ได้

นายอุดม กล่าวด้วยว่าส่วนประเด็นของการเพิ่มอำนาจให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทำมาตรการชั่วคราวก่อนมีคำวินิจฉัย และ คำบังคับหลังจากมีคำวินิจฉัยนั้น กรธ. พิจารณาใน 2 ประเด็น ว่า มีความกังวลที่จะเกิดความเสี่ยงที่จะกระทบต่อการเมืองในอนาคต แต่ในอีกประเด็นอาจจะเป็นผลดีก็ได้ อีกทั้งประเด็นดังกล่าวไม่มีความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญรวมถึงเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ดังนั้นกรณีที่เพิ่มอำนาจดังกล่าวเป็นดุลยพินิจของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่จะพิจารณาตามอำนาจดังกล่าวหรือไม่

ผู้สื่อข่าวถามย้ำถึงความเหมาะสมต่อการนำคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเรื่องวาระกรรมการองค์กรอิสระ ตีความเพื่อประโยชน์ของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ นายอุดม กล่าวว่า ในคำวินิจฉัยต่อประเด็นวาระของกรรมการสิทธิมนุษญยชนแห่งชาติ (กสม.) นั้น เป็นคำวินิจฉัยแบบกว้าง และไม่กำหนดเรื่องกรอบระยะเวลา ดังนั้นกรณีให้ 5 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอยู่ต่อจนครบองค์ประกอบของกรรมการสรรหา ที่มีสภาฯ ใหม่มาจากการเลือกตั้งจึง จึงทำได้ และกรณีดังกล่าวตนมองว่าไม่ใช่การตีความเพื่อประโยชน์ของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ แม้ตุลาการที่เป็นตัวแทนในกมธ.ฯ จะไม่ให้ความเห็นโต้แย้ง อย่างไรก็ตามตนมองว่าตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่ต้องการลาออกจากตำแหน่งสามารถทำได้ เพราะคำสั่งคสช. ไม่มีบทบัญญัติใดห้ามการลาออก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเมื่อกรธ. ไม่ทำความเห็นโต้แย้ง เพื่อให้ตั้งกมธ. ร่วมกันเพื่อทบทวนเนื้อหาแล้ว จากนี้ สนช. ต้องส่งเนื้อหาไปยัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้าคสช. เพื่อเตรียมนำร่างกฎหมายขึ้นทูลเกล้าฯ ตามขั้นตอน นายกฯ ต้องพักร่าง พ.ร.ป.ฉบับดังกล่าวไว้ 5 วัน เพื่อรอการโต้แย้งจากบุคคลภายนอก หากพ้น5 วันแล้วไม่พบการยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ จะมีเวลา 20วันเพื่อเตรียมกระบวนการนำร่างพ.ร.ป.ขึ้นทูลเกล้าฯ