ECF

ECF

ติดตามการ COD และการลงทุนเพิ่มเติมของ GEP ก่อน

ประเด็นสำคัญ:

  • โรงไฟฟ้าในเมียนมา ภายใต้ GEP จ่อ COD Phase 1 กลางปี 61: โครงการโรงไฟฟ้าของ บมจ.พลังงานเพื่อโลกสีเขียว (GEP) มีขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 220 MW ณ เมืองมินบู ภูมิภาคมาเกว ประเทศเมียนมา เกิดจากการร่วมลงทุนกันของ 3 บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย คือ ECF (ถือหุ้น 20%) VTE (ถือหุ้น 15%) และ QTC (ถือหุ้น 12%) โดยมีสัญญารับซื้อไฟฟ้า (PPA) ทั้งหมดระยะเวลา 30 ปี จากรัฐบาลเมียนมาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ผ่าน MIC เมื่อราวกลางปี 60 สำหรับรายละเอียดการจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) จะแบ่งเป็น 4 Phase คือ 50 MW, 50 MW, 50 MW และ 70 MW ตามลำดับ ปัจจุบัน บริษัทได้รับมอบแผงโซล่าเซลล์ Phase 1 บนพื้นที่แล้ว คาดพร้อม COD ราวเดือน มิ.ย. – ก.ค. 61
  • ธุรกิจโรงไฟฟ้ามีความเสี่ยงจำกัดจากการทำประกัน : การลงทุนในโครงการดังกล่าว ตั้งอยู่บนพื้นที่ขนาด 846 Acre ใช้เงินลงทุนราวทั้งสิ้น 293 ล้านเหรียญฯ โดยมาจากการกู้ยืม (Debt) 65% และส่วนทุน (Equity) 35% คิดเป็น D/E Ratio ที่ 1.87 เท่า คาดจะสร้างรายได้รวมจากทั้ง 4 Phase ราวปีละ 37 ล้านเหรียญฯ (ประเมินจากสัญญาการรับซื้อไฟฟ้า ในราคาหน่วยละ 0.1275 เหรียญฯ) ซึ่งนอกเหนือจากสัญญาการรับซื้อไฟฟ้าที่จะเป็นการโอนเงินมายังธนาคารในประเทศไทยโดยตรงแล้ว GEP ยังได้ทำการจำกัดความเสี่ยงหลักๆ คือ 1) การซื้อประกันภัยทางการเมือง ซึ่งจะสามารถชดเชยให้แก่บริษัทเต็มจำนวนหากโรงไฟฟ้าได้รับความเสียหายจากปัญหาความไม่สงบทางการเมืองในประเทศเมียนมา และ 2) ได้รับการรับประกันจากผู้จำหน่ายแผงโซลาร์เซลล์ ในเรื่องประสิทธิภาพในการผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยตั๋วพันธบัตร
  • ความเห็น : เบื้องต้นฝ่ายวิจัยคาดว่า Project ดังกล่าวน่าจะสร้างกำไรสุทธิได้ราว 15 ล้านเหรียญฯต่อปี (หาก COD ทั้ง 4 Phase) หรือคิดเป็นกำไรสุทธิราว MW ละ 2 ล้านบาท ทั้งนี้ กลยุทธ์ของ GEP ยังคงมองหาสถานที่ลงทุนทางด้านพลังงานทดแทนอย่างต่อเนื่อง พร้อมกับการมุ่งหวังที่จะเป็นบริษัทจดทะเบียนในอนาคต จึงอาจเป็นโอกาสให้สามารถปลดล็อคมูลค่าของบริษัทได้ โดยหากอิง PER ที่ราว 15 เท่า จะได้มูลค่าบริษัทจาก Project ดังกล่าวอยู่ที่ราว 6.6 พันล้านบาท สำหรับผลกระทบที่มีต่อ ECF จะเพิ่มมูลค่าให้แก่บริษัท กว่า 1.3 พันล้านบาท และสร้างส่วนแบ่งกำไรสุทธิกว่า 90 ล้านบาท ต่อปี (ในราว ปี 64 เป็นต้นไป) อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาควบคู่กับมูลค่าเงินลงทุนซึ่งแบ่งเป็นการเข้าถือหุ้นใน GEP 20% มูลค่า 310 ล้านบาท และการเพิ่มทุนตามสัดส่วนของโครงการโรงไฟฟ้าดังกล่าวกว่า 700 ล้านบาท (อิงจากการถือหุ้น 20% ของ ECF) รวมกว่า 1 พันล้านบาท อาจมี Dilution effect จากการเพิ่มทุน (ทั้งแบบ RO และ PP หรือการใช้สิทธิ์จาก ECF-W2 และ ECF-W3) ราว 30% ส่วนราคาหุ้นปัจจุบันยังได้สะท้อนประเด็นดังกล่าวไปค่อนข้างมากแล้ว จึงแนะนำให้ติดตามการ COD ที่จะเกิดขึ้นจริงราวกลางปี 61 และรายละเอียดการลงทุนเพิ่มเดิมของ GEP ให้ชัดเจนก่อน