เมื่อยักษ์พลังงาน รุก 'ธุรกิจฟุตบอล' เต็มสูบ

เมื่อยักษ์พลังงาน รุก 'ธุรกิจฟุตบอล' เต็มสูบ

แม้ผลงานของวงการฟุตบอลรัสเซีย ไม่ว่าจะเป็นสโมสรหรือทีมชาติในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมาอาจจะไม่มีความโดดเด่น แต่การเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก 2018 อาจถือเป็นการช่วยโปรโมทวงการฟุตบอลของแดนหมีขาวได้อีกทางหนึ่ง

เงินทุนจากรัสเซีย ซึ่งเข้าไปสนับสนุนสโมสรฟุตบอลในลีกยุโรปกำลังขยายตัวไป ไม่ว่าจะเป็นการซื้อสโมสรมาบริหารเอง หรือการเป็นสปอนเซอร์สโมสร เพื่อให้แบรนด์สินค้าไปประทับอยู่บนเสื้อทีม

หนึ่งในแหล่งเงินทุนที่มีการหว่านเม็ดเงินไปยังหลายสโมสรยุโรปคือ “ก๊าซพรอม” (Gazprom) รัฐวิสาหกิจพลังงานยักษ์ใหญ่ของรัสเซีย ทำธุรกิจขายก๊าซภายในประเทศและส่งออกให้ประเทศต่าง ๆ ในแถบยุโรป กำลังเป็นบริษัทที่มีชื่อเข้าไปอยู่ในหน้าอกเสื้อของหลายทีมในยุโรปขณะนี้

ด้วยเหตุที่ “ฟุตบอล” เป็นกีฬาที่ได้รับความสนใจไปทั่วโลก รัสเซียจึงใช้ฟุตบอลเป็นสื่อกลางในการเพิ่มตลาดและอำนาจให้กับบริษัทและประเทศได้

 

ขยายฐานจากรัสเซียสู่เยอรมนี

ก๊าซพรอมเริ่มเข้าสู่วงการฟุตบอลในปี 2548 ด้วยการซื้อกิจการ “เซนิต เซนต์ ปีเตอร์สเบิร์ก” สโมสรยักษ์ใหญ่แห่งลีกสูงสุดรัสเซีย ด้วยจำนวนเงิน 100 ล้านดอลลาร์ ทำให้สโมสรมีแหล่งเงินทุนในการพัฒนาฝีเท้าของนักเตะจนสามารถคว้าแชมป์ลีกรัสเซียได้ในถึง 3 สมัย ในฤดูกาล 2007, 2010, 2011-2012 และ ฤดูกาล 2014-2015 รวมไปถึงคว้าแชมป์ยูฟ่าคัพ รวมไปถึงยูฟ่า ซูเปอร์คัพ 2008 จนทำให้ เซนิต เซนต์ ปีเตอร์สเบิร์ก กลายเป็นสโมสรชั้นนำในรัสเซียจนถึงปัจจุบัน

นอกจากนี้ยังลงทุนสร้างสนามใหม่กับทีม โดยเพิ่งสร้างเสร็จในเดือนเมษายนปีนี้ คือสนาม “เครสตอฟสกี” มูลค่าถึง 1,000 ล้านดอลลาร์ เป็นหนึ่งในสนามฟุตบอลที่แพงที่สุดในโลกและจะใช้ในฟุตบอลโลก 2018 อีกด้วย

การเป็นเจ้าของทีมในรัสเซียถือเป็นก้าวแรกเท่านั้นปี 2550 ก๊าซพรอม เริ่มขยับขยายไปสนับสนุนสโมสร “ชาลเก้ 04” ทีมดังในศึกบุนเดสลีกา ประเทศเยอรมนี โดยให้เงินสนับสนุนเป็นสปอนเซอร์หลักของทีมตั้งแต่ปี 2550-2560 ด้วยจำนวนเงิน 20 ล้านยูโรต่อปี ถือเป็นมูลค่าการสนับสนุนที่มาเป็นอันดับสองของศึกบุนเดสลีการองจากบาเยิร์น มิวนิค

ตอนนี้ทั้งก๊าซพรอม และ ชาลเก้ 04 กำลังเริ่มตั้งโต๊ะเจรจาสำหรับสัญญาความร่วมมือฉบับใหม่ โดยคาดการณ์ว่าจะมีการต่อสัญญาสนับสนุนไปอีก 5 ปี ตั้งแต่ปี 2561-2565 ด้วยจำนวนเงินที่เพิ่มขึ้นปีละประมาณ 30 ล้านยูโร

สื่อทั่วยุโรปวิจารณ์ว่า ปัจจัยที่อยู่เบื้องหลังการร่วมมือกันเกิดจาก “เคลเมนส์ ทอนนีส์” ประธานสโมสรชาลเก้ 04 มีกิจการธุรกิจเกษตรกรรมและเนื้อหมูที่ต้องการส่งออกไปขายในรัสเซีย จึงจำเป็นที่จะต้องพึ่งพาอำนาจบารมีของผู้ถือหุ้นหลักของก๊าซพรอมคือรัฐบาลรัสเซียนำโดยประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน

การร่วมมือนี้ยังเป็นภาพสะท้อนการพึ่งพาเศรษฐกิจของเยอรมันกับรัสเซีย เนื่องจากก๊าซพรอม ครอบครองแหล่งก๊าซที่ใหญ่ที่สุดในโลกและต่อท่อก๊าซจำหน่ายไปทั่วยุโรป ทำให้เยอรมันต้องพึ่งพาก๊าซจากก๊าซพรอมเป็นหลัก

รวมถึงในปัจจุบันมีบริษัทเยอรมันกว่า 6,100 บริษัทที่ทำธุรกิจในรัสเซีย ซึ่งถือเป็นแหล่งทำเงินมหาศาล เพราะรัสเซียมีประชากรมากถึง 143 ล้านคน

นอกเหนือจากบทบาทการสนับสนุนทางการเงินแล้ว หนังสือพิมพ์ดีเวลท์ยังพบว่า ประธานาธิบดีปูติน เคยติดต่อไปยังผู้บริหารก๊าซพรอม ให้เพิ่มเงินเพื่อโน้มน้าวใจ “มานูเอล นอยเออร์” ผู้รักษาประตูจอมหนึบของทีมในขณะนั้นให้อยู่กับสโมสรต่อไป

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าแผนการโน้มน้าวครั้งนั้นจะไม่เป็นผล เมื่อนอยเออร์ตัดสินใจย้ายไปอยู่กับสโมสรบาเยิร์น มิวนิค ในปี 2554 แต่ก็ทำให้แฟนฟุตบอลได้รับรู้ว่า ก๊าซพรอมมีอำนาจและบทบาทในการตัดสินใจความเป็นไปของสโมสรมากกว่าผู้สนับสนุนรายอื่น ๆ

 

สร้างอิทธิพลใน “เซอร์เบีย”

นอกจากชาลเก้ 04 ยังมี “เรดสตาร์ เบลเกรด” ทีมดังของเซอร์เบียที่ทางก๊าซพรอมเข้าไปเป็นผู้สนับสนุนหลักในปี 2553 ด้วยการอัดฉีดเงินทุน 15.2 ล้านยูโร ตลอดสัญญา 5 ปี โดยก่อนหน้านั้น เรดสตาร์ตกอยู่ในสภาวะล้มละลาย มีหนี้สินอยู่ประมาณ 20 ล้านยูโร

หลังจากที่สัญญาหมดเดิมหมดลงในปี 2558 ก็มีการตกลงทำสัญญาสนับสนุนต่ออีก 5 ปี โดยเพิ่มเงินสนับสนุนเป็น 20 ล้านยูโร ทำให้สถานะทางการเงินของทีมดังของเซอร์เบียนั้นดีขึ้นทันตาเห็น

แต่กระนั้น บรรดาสื่อในยุโรปตั้งข้อสังเกตว่า การเข้ามาในวงการฟุตบอลเซอร์เบียของก๊าซพรอมนั้น มีเป้าหมายเพื่อขยายบทบาทของบริษัทให้เป็นที่ยอมรับมากขึ้นในเซอร์เบีย เนื่องจากก๊าซพรอมครองส่วนแบ่งผูกขาดในตลาดน้ำมันของเซอร์เบียเหมือนกับหลายประเทศในคาบสมุทรบอลข่าน ที่ต้องพึ่งพาการส่งพลังงานจากท่อก๊าซของรัสเซียเป็นหลัก

 

สนับสนุนรายการฟุตบอลทั่วโลก

ในปี 2555 ก๊าซพรอมได้เข้าร่วมสนับสนุน "เชลซี" สโมสรชื่อดังของศึกพรีเมียร์ลีกอังกฤษ การเข้าร่วมสนับสนุนดังกล่าวไม่ได้สร้างความแปลกใจเท่าไรนัก เนื่องมาจาก “โรมัน อบราโมวิช” ประธานสโมสรเชลซี นักธุรกิจชาวรัสเซีย ผู้มีประสบการณ์การทำธุรกิจพลังงานในรัสเซียอย่างโชกโชน

นอกจากจะร่วมสนับสนุนสโมสรชั้นนำในยุโรปแล้ว ก๊าซพรอมยังเป็นพันธมิตรกับสมาคมฟุตบอลยุโรป (ยูฟ่า) ในการเป็นผู้สนับสนุนหลักของการแข่งขันฟุตบอลยูฟ่า แชมเปียนส์ลีก

รวมไปถึงความร่วมมือในการตั้งโครงการ “ฟุตบอล ฟอร์ เฟรนด์ชิพ” ที่มีวัตถุประสงค์ในการเชื่อมความสัมพันธ์ของเยาวชนในยุโรป เพื่อเรียนรู้ความแตกต่างทางวัฒนธรรมที่หลากหลายของประเทศต่างๆ โดยใช้ฟุตบอลเป็นสื่อกลาง และล่าสุด ได้เซ็นสัญญาความร่วมมือกับสหพันธ์ฟุตบอลระหว่างประเทศ (ฟีฟ่า) ในการเป็นพันธมิตรร่วมกันในปี 2558 ถึง 2561 ซึ่งสอดคล้องกับการที่รัสเซียจะเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกในปีหน้า

การขยายอำนาจของก๊าซพรอม เป็นที่น่าจับตาในวงการธุรกิจฟุตบอล หลังประสบความสำเร็จในการสร้างชื่อสโมสรฟุตบอลหลายทีมในยุโรป เปรียบได้กับการขยายแบรนด์สินค้าไปยังประเทศทั่วยุโรป และการเป็นบริษัทที่ครอบครองแหล่งก๊าซที่ใหญ่ที่สุดในโลก ผนวกกับการเป็นพันธมิตรกับองค์กรที่ควบคุมวงการฟุตบอลทั้ง ยูฟ่า และ ฟีฟ่า จึงทำให้ก๊าซพรอมกลายเป็นองค์กรธุรกิจรัสเซียที่ก้าวมาเป็นมหาอำนาจของวงการฟุตบอลยุโรปอย่างแท้จริง

 

//////////////////////////////////////////

'ก๊าซพรอม' รัฐวิสาหกิจทรงอำนาจรัสเซีย

บริษัทก๊าซพรอม ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2532 โดยปัจจุบัน นายวิคเตอร์ ซุบคอฟ อดีตนายกรัฐมนตรีรัสเซียดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการบริหาร ซึ่งรูปแบบโครงสร้างของบริษัทนั้นมีรัฐบาลรัสเซียถือหุ้นอยู่ 51%

ขณะนี้ ก๊าซพรอม ครอบครองแหล่งก๊าซที่ใหญ่ที่สุดในโลกและต่อท่อก๊าซธรรมชาติกระจายไปทั่วยุโรป เรียกได้ว่า ขณะนี้รัสเซียควบคุมเส้นเลือดหลักของยุโรป อีกทั้งครองตำแหน่งผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ที่สุดในโลก และเป็นเบอร์ 2 ของโลกในด้านก๊าซธรรมชาติ ปัจจุบันมีพนักงานรวมทั้งสิ้นกว่า 460,000 คน โดยมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงมอสโกของรัสเซีย

ข้อมูลจากปี 2554 ก๊าซพรอมมีกำลังการผลิตน้ำมันดิบรวม 32,300 ล้านตัน ก๊าซธรรมชาติเหลว 12,700 ล้านตัน ขณะที่ก๊าซธรรมชาติอยู่ที่ 513,120 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 17% ของการผลิตทั่วโลก อีกทั้งมูลค่าการผลิตดังกล่าวคิดเป็น 8% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) รัสเซีย โดยมีรายได้รวมในปี 2559 อยู่ที่ 90,000 ล้านดอลลาร์

บริษัทนี้ปรากฏเป็นข่าวบ่อยจากการพิพาทกับประเทศที่เคยร่วมสหภาพโซเวียต เช่น ยูเครน กรณีการซื้อกิจการบริษัทก๊าซอื่นรายสำคัญในปี 2548 ได้แก่ ซิบเนฟต์ ซึ่งทำกิจการซื้อก๊าซที่ผลิตได้ในประเทศเพื่อนบ้าน มีบริษัทลูกอีกนับร้อยราย และร่วมมือกับต่างประเทศในการวางท่อส่งก๊าซไปยังยุโรปตะวันตก

อย่างไรก็ตาม ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูตินของรัสเซีย ยังคงใช้ประโยชน์จากก๊าซพรอมได้อย่างดีเยี่ยม เพราะเล็งเห็นว่า “พลังอำนาจของรัสเซียในอนาคต” ไม่ได้อยู่ที่จำนวนหัวรบนิวเคลียร์ แต่อยู่ที่ “น้ำมันและก๊าซธรรมชาติ”