‘กรีนดีเซล’ พลังจากน้ำมันก้นครัว

‘กรีนดีเซล’ พลังจากน้ำมันก้นครัว

นักวิจัยจุฬาฯ รับทุน NSTDA Chair Professor 20 ล้านบาท เปลี่ยนน้ำมันพืชใช้แล้วเป็นพลังงานทางเลือก หวังต่อยอดสู่ต้นแบบกรีนดีเซลใน 5 ปี พร้อมวางแผนระยะยาว ต่อยอดสร้างเคมีภัณฑ์มูลค่าสูง

ปัญหาวิกฤติพลังงานและสิ่งแวดล้อม ผลักดันให้เกิดการวิจัยและพัฒนาพลังงานทางเลือกหรือพลังงานทดแทน ซึ่งประเทศไทยเองก็มีโครงการวิจัยที่เกี่ยวข้องจากวัตถุดิบธรรมชาติหรือของเหลือทิ้งภาคเกษตรมากมาย โดยเฉพาะไบโอดีเซลที่ยังไม่สามารถใช้กับยานพาหนะได้โดยตรง ต้องผสมกับน้ำมันดีเซลก่อน

โครงการวิจัยเรื่อง “การประยุกต์ใช้ฐานเทคโนโลยีสำหรับการเลือกและพัฒนากระบวนการและต้นแบบ ที่เป็นนวัตกรรมสำหรับการผลิตอย่างยั่งยืนของเชื้อเพลิงทางเลือกบนฐานของไบโอรีไฟเนอรี” ของ ศ.สุทธิชัย อัสสะบำรุงรัตน์ ภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงเข้ามาตอบโจทย์ และคว้ารางวัล 20 ล้านบาท ระยะเวลา 5 ปี ซึ่งเป็นทุน NSTDA Chair Professor เพื่อสร้างศาสตราจารย์ที่เป็นผู้นำกลุ่ม ที่มูลนิธิสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ โดยการดำเนินงานของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)

น้ำมันเหลือทิ้งสู่พลังงานใหม่

“น้ำมันพืชใช้แล้วในไทยมีกว่า 100 ล้านลิตรต่อปี บ้างนำกลับไปใช้ซ้ำ บ้างขายคืนร้านค้า ขณะที่การนำไปผลิตเป็นไบโอดีเซลจะใช้ประโยชน์ได้มากยิ่งขึ้น ในขณะที่อุตสาหกรรมผลิตน้ำมันปาล์มก็มีของเหลือจากกระบวนการผลิต ที่สามารถนำมาพัฒนาเป็นน้ำมันดีเซลชีวภาพสังเคราะห์” ศ.สุทธิชัย กล่าวและว่า โครงการวิจัยนี้มุ่งพัฒนากระบวนการผลิตและสร้างต้นแบบสำหรับการผลิตเชื้อเพลิงทางเลือกที่ยั่งยืนสำหรับชุมชนและอุตสาหกรรม

งานวิจัยเริ่มตั้งแต่การออกแบบกระบวนการผลิตที่ยั่งยืน เพื่อผลิตสารเคมีมูลค่าเพิ่มจากส่วนเหลือใช้จากการผลิตปาล์มน้ำมัน, การสร้างหน่วยผลิตไบโอดีเซลเพื่อชุมชน, การผลิตน้ำมันดีเซลชีวภาพสังเคราะห์ (Bio-Hydrogenated Diesel: BHD) แบบต่อเนื่อง และการสร้างหน่วยผลิตไฮโดรเจนจากผลิตภัณฑ์พลอยได้ในระบบ เช่น กลีเซอรอลจากการผลิตไบโอดีเซล มีเทนและโพรเพนจากการผลิต BHD

ศ.สุทธิชัย กล่าวว่า แผนการวิจัยแบ่งเป็น 3 ระยะคือ ระยะสั้นในการพัฒนาน้ำมันไบโอดีเซลที่ใช้สะดวกและได้มาตรฐาน ในส่วนระยะกลางภายใน 5 ปีนี้เริ่มตั้งแต่ปี 2561 จะพัฒนาต้นแบบ BHD หรือจะเรียกว่า “กรีนดีเซล” ก็ได้ ซึ่งเป็นน้ำมันที่มีศักยภาพสูง สามารถใช้กับยานยนต์ได้เลย และในระยะยาวจะเป็นการพัฒนาเคมีภัณฑ์มูลค่าสูง อาทิ กรดแลคติค ที่นำไปทำพลาสติกย่อยสลายได้ PLA เป็นต้น

ในระยะสั้น นักวิจัยจะบูรณาการความรู้ด้านวิศวกรรมศาสตร์ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อออกแบบและพัฒนาเครื่องปฏิกรณ์ที่มีประสิทธิภาพในการผลิตไบโอดีเซล ที่ลดการใช้พลังงานไฟฟ้า เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และเหมาะกับบริบทของชุมชน การสร้างมูลค่าเพิ่มจากของเหลือทิ้งโดยใช้น้ำมันปรุงอาหารที่ผ่านการใช้งานแล้วมาเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตไบโอดีเซล

ในขณะที่ กรีนดีเซลหรือ BHD เป็นเชื้อเพลิงทางเลือกสำคัญอีกชนิดหนึ่ง คาดว่าจะได้ต้นแบบในช่วงปี 2566 และปัจจุบัน ก็มีบริษัทเอกชนไทยหลายรายที่สนใจงานวิจัยนี้ จึงเป็นโอกาสที่จะต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์ในอนาคต

เดินเครื่องส่งงานวิจัยสู่ห้าง

“ไทยยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นการพัฒนากรีนดีเซล ขณะที่มาเลเซียวิจัยสำเร็จแล้ว แต่ปัญหาคือ ต้นทุนยังสูงอยู่ ทำให้เอกชนที่มาลงเล่นล้มหายตายจากไป ถือเป็นความท้าทายที่เราต้องผ่านไปให้ได้ โดยการพัฒนาเทคโนโลยีโดยที่ควบคุมต้นทุนให้สามารถแข่งขันได้” ศ.สุทธิชัย กล่าว

นอกจากนี้ กระบวนการผลิตไบโอดีเซลและกรีนดีเซลยังจะมีผลิตภัณฑ์พลอยได้ ทั้งกลีเซลรอล มีเทน และโพรเพน ตามลำดับ ซึ่งสามารถนำมาใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตไฮโดรเจนผ่านกระบวนการปฏิรูปด้วยไอน้ำเพื่อให้ประโยชน์ให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งแก๊สไฮโดรเจนที่ผลิตได้สามารถนำกลับไปใช้ผลิตกรีนดีเซล และยังนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงทางเลือกได้อีกด้วย

จาก 10 กว่าปีในการทำงานวิจัยในด้านของวิทยาศาสตร์พื้นฐาน และเกิดเป็นองค์ความรู้ใหม่ นักวิจัยจากจุฬาฯ มองว่า ทุน NSTDA Chair Professor เป็นความท้าทายครั้งใหม่ กับโจทย์ใหม่ในการนำองค์ความรู้พัฒนาต่อยอดออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ต้นแบบที่มีผลกระทบทางเศรษฐกิจ ตอบโจทย์อุตสาหกรรมมุ่งเป้าตามยุทธศาสตร์ชาติอีกด้วย