"ณพัฒน์" เพื่อระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของในหลวง รัชกาลที่ 9

"ณพัฒน์" เพื่อระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของในหลวง รัชกาลที่ 9

กระเป๋าคอลเลคชั่นพิเศษ "ณพัฒน์" ที่สุดแห่งความรักและความเพียร เพื่อระลึกถึงในหลวง รัชกาลที่ 9

ผลงานแห่งความภาคภูมิใจของคนไทย ที่รวมสุดยอดฝีมืองานหัตถกรรมล้ำค่าและงานออกแบบเข้าไว้ด้วยกัน คือ “กระเป๋า” คอลเลคชั่นพิเศษจากแบรนด์ PHYA (พญา) ในชื่อ ณพัฒน์ เพื่อ มูลนิธิชัยพัฒนา อันมีแรงบันดาลใจเพื่อระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของในหลวง รัชกาลที่ 9

กระเป๋าคอลเลกชั่น “ณพัฒน์” สีเงินre

กระเป๋าคอลเลกชั่น “ณพัฒน์” สีเงิน2re

“ณพัฒน์” จัดแสดงคอลเลคชั่นกระเป๋าที่เต็มไปด้วยความหมาย และสวยงาม วิจิตรบรรจง... เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาที่พระราชวังพญาไท โดย จิรยง อนุมานราชธน ดีไซเนอร์และผู้ก่อตั้งกระเป๋า “พญา” บอกเล่าถึงที่มาของการออกแบบกระเป๋าชิ้นพิเศษนี้ว่า

จิรยง อนุมานราชธนre

“จากการที่ได้เห็นพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ที่ทรงงานหนักเพื่อราษฎรมาตลอดพระชนม์ชีพของพระองค์ จุดเริ่มต้นเกิดขึ้นจากมูลนิธิชัยพัฒนา มีโครงการเชิญดีไซเนอร์หลายท่านมาช่วยออกแบบผลิตภัณฑ์ พอได้รับการติดต่อมาก็รู้สึกดีใจมากที่ได้รับเกียรติอย่างสูง เมื่อได้โจทย์มาให้ออกแบบกระเป๋าก็คิดว่าต้องมีความพิเศษไม่เหมือนใคร เราก็ออกแบบมาจากจินตนาการของตัวเองล้วน ๆ เลย ซึ่งออกแบบไว้ 4 รูปแบบ แล้วทางมูลนิธิก็เลือกแบบนี้ที่มีเอกลักษณ์ที่สุด โดยมีสัญลักษณ์ของแบรนด์พญาด้วย ความที่เราชอบศิลปะยุคอาร์ตเดโค (ค.ศ.1920-30) ดังนั้นจะมองเห็นความคมชัดและความโค้งชัดเจน อีกอย่างคือจากแรงบันดาลใจของในหลวง รัชกาลที่ 9 ที่พระองค์มีความแข็งแกร่งแล้วพระองค์ท่านก็ยังมีความอ่อนโยนให้แก่พสกนิกร ดังนั้นแบบกระเป๋าจึงมีความโค้งในขณะเดียวกันก็มีมุมที่แข็งแกร่ง ส่วนข้างในเป็นรูปทรงไข่ที่เป็นทรงโค้งแต่ก็ไม่ใช่โค้งอย่างเดียวหรือเหลี่ยมอย่างเดียว ถ้าสังเกตดี ๆ ในส่วนที่เป็นเส้นตรงนั้นมีความโค้ง ซึ่งทำยากมาก และในกระเป๋าทั้งใบนี้ไร้รอยต่อ เราขึ้นโมลด์ใหม่”

พอได้แบบแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือตระเวนหาช่างทำ

“คิดว่าจะมีใครทำให้เราได้บ้างนะ โชคดีที่ไปเจอช่างถม ครูอุทัย เจียรศิริ ครูบอกว่าคนที่จะทำกระเป๋าแบบนี้ได้ต้องเป็นโรงงานจิวเวลรี่ขนาดใหญ่เพราะต้องขึ้นโมลด์ใหม่ทั้งหมด และเป็นงานที่ยาก ไม่เคยมีงานแบบนี้มาก่อน เทียบกันไม่ได้กับกระเป๋าที่เคยทำเลยเพราะมันยากทุกอณู ตั้งแต่ปรับความโค้ง การฉีดออกจากเครื่องตอนแรกมีความหนา 4 ม.ม. ซึ่งหนาเกินไปมันไม่สวยต้องใช้มือตะไบให้เหลือ 3 มิลฯ และต้อง 3 เท่ากันทั้งใบ อีกทั้งความโค้ง ๆ มากไปไม่ได้ตรงมากไปก็ไม่ได้ แล้วต้องโค้งขึ้นด้วย ต้องปรับแก้กันตลอดเวลาเพื่อรับกับโมลด์ให้ได้ เส้นตรงนี้บางไปหนาไป ไปหล่อกันใหม่ พอถึงเวลาปักก็บางไปหนาไป ทำใหม่อีก ทุกคนเหมือนเรียนรู้กันใหม่หมดเลย ซึ่งเราโชคดีที่ได้ช่างเพชรจากบิวตี้เจมส์มาทำโครงสร้าง ซึ่งถ้าไม่ได้เขาเราทำไม่ได้แน่นอน”

ความยากอีกอย่างคือ การเลือกวัสดุที่ใช้ทำกระเป๋าเนื่องจากดีไซเนอร์คิดถึงรูปแบบก่อนวัสดุ แล้วพอสรุปว่าต้องใช้วัสดุแบบนี้ก็ยิ่งกลายเป็นงานหิน เรื่องราวต่อจากภาพสเก็ตช์กระเป๋าจึงตกอยู่ที่ อาจารย์จารุพัชร อาชวะสมิต นักออกแบบเส้นใย

(จารุพัชร อาชวะสมิต

“เนื่องจากดิฉันเป็นที่ปรึกษาให้มูลนิธิชัยพัฒนาอยู่แล้ว แรกเริ่มเลยได้ปรึกษากับมูลนิธิฯ ว่าเรามีไอเดียจะทำกระเป๋าดีไซน์พิเศษ โครงการนี้คุยกันมาประมาณ 1 ปี พอได้แบบกระเป๋ามาปั๊บเราก็จูงมือกันไปหาครูช่างถมฝีมือดีที่สุดที่นครศรีธรรมราช ทำไมต้องเป็นช่างถม เนื่องจากโครงการนี้เราต้องการที่จะดึงภูมิปัญญาของไทยที่เป็นงานหัตถกรรมที่มีความศิลปะอยู่สูง ก็เลยไปตกที่เครื่องถมทองและถมเงินของนครศรีฯ เพราะมีเอกลักษณ์และเลอค่าด้วย อีกทั้งแบรนด์ “พญา” ก็ทำงานอยู่กับสิ่งของที่ล้ำค่า จึงคิดว่าเรานำสิ่งเหล่านี้มาสร้างสรรค์ใหม่ให้ดูร่วมสมัยใช้ได้จริง และแสดงถึงหัตถกรรมชั้นสูงด้วย เราก็ไปดูตามหมู่บ้านต่าง ๆ มองหาว่าช่างฝีมืออยู่ที่ไหนบ้าง ปรากฏว่าอยู่ที่จังหวัดนนทบุรีนี่เอง คือครูอุทัย ที่มาช่วยสร้างสรรค์งานถมเงินถมทองให้กับกระเป๋า”

ลำดับถัดไปคือวัสดุที่ใช้ทำกระเป๋าที่มาจากโลหะธาตุ อาจารย์จารุพัชร เสริมว่า “คอลเลคชั่นนี้เป็นกระเป๋าที่ใช้วัสดุที่ไม่ธรรมดา ต้องเป็นคาร์บอนไฟเบอร์ ซึ่งสะท้อนความหมายว่า คาร์บอนเป็นเหมือนเถ้า เพื่อเป็นการระลึกถึงปีแห่งความสูญเสียของประเทศชาติ จึงเลือกธาตุที่เมื่อมนุษย์เผาไหม้ไปแล้วสุดท้ายคือกลับคืนสู่ผืนดิน ก็คือธาตุคาร์บอน ที่เอามาดึงเป็นเส้นด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ พอดึงเป็นเส้นแล้วนำมาทอร่วมกับทองเหลืองและดีบุก ทุกอย่างเป็นธาตุที่มาจากผืนดิน

โลหะทั้งสามชนิดถูกดึงเป็นเส้นใยบางเฉียบ ความบางกว่าเส้นไหมน้อยคือขนาดเป็นไมครอน เล็กมาก นำมาทอเป็นผืนผ้าก่อนแล้วไปตัดเย็บเป็นกระเป๋า ในการทอนั้น เส้นใยคาร์บอนไฟเบอร์หนึ่งเส้นนั้นมีเป็นร้อยเส้นอยู่ในการพุ่ง 1 ครั้ง แล้วคั่นด้วยเส้นใยทองเหลืองและดีบุก แล้วพุ่งคาร์บอนไฟเบอร์อีกครั้งหนึ่ง อันเป็นองค์ความรู้ที่มีมาเป็นพันปีแล้ว แต่เราใช้เส้นใยที่เป็นแอดวานซ์ โมเดิร์น แฟบริค เป็นผ้าที่ทันสมัยมาก แต่ก็ยังใช้วิธีทอแบบกี่ มีเส้นพุ่งเส้นยืน เราต้องปรับกี่ทอผ้าให้สามารถรับกับวัสดุเส้นพุ่งที่มีขนาดเล็กมาก และรับกับเส้นยืนที่บางครั้งเป็นดีบุก บางครั้งเป็นทองเหลือง กี่ทอผ้าทั่วไปจะเป็นไหม โพลีเอสเตอร์ หรือฝ้าย แต่เราปรับกี่โดยทำงานร่วมกับวิศวกรว่าจะรับกับเส้นใยที่มีขนาดเล็กมาก ๆ อย่างไร และต้องทอได้ไม่เป็นปม ไม่ปูดออกมา”

การทำกระเป๋า “ณพัฒน์” จึงเป็นงานแฮนด์เมดและแมนเมด

“เพราะเส้นใยที่ทอบางขนาดนี้ทอด้วยเครื่องจักรไม่ได้ ต้องใช้มือเพราะมีความละเอียดอ่อนสูง ส่วนตัวเครื่องจักรใช้ในการดึงวัตถุธาตุให้กลายเป็นเส้น เราวิจัยกันว่าอะไรจะดีที่สุดที่จะทำให้คาร์บอนไฟเบอร์นำมาทอเป็นผืนได้ เมื่อทอเสร็จจะปรากฏสีที่เป็นประกาย โดยคาร์บอนไฟเบอร์ให้สีดำวาว ทองเหลืองให้สีทองเหลือบ และดีบุกให้สีเงินแวววาว

ส่วนงานเครื่องถมนั้น ครูอุทัย เป็นผู้ออกแบบลายถมเงินถมทองบนหูจับทรงโค้งด้านบนและด้านใน ที่เพ้นท์ลายเครื่องถมออกแบบพิเศษเพื่อระบุความเป็นไทย นอกจากนี้ในกระเป๋าทุกใบมีหมายเลขกำกับที่เขียนด้วยถมฝีมือครูอุทัย

กระเป๋าคอลเลกชั่น “ณพัฒน์” สีทอง2re

ในส่วนของดีไซเนอร์ก็ออกแบบทั้งตัวกระเป๋า กรอบหรือโครงรอบนอก หูจับ ข้างในบุด้วยหนัง โครงภายนอกที่เห็นเป็นส่วนโค้งนั้นอันที่เป็นถมทอง ใช้ทอง 2 บาท เลยนะคะ ส่วนเงินก็ใช้เงินน้ำหนักมาก โครงเส้นนอกเป็นเงิน 93% ไม่ใช่โครงไม้หรือเหล็ก ดังนั้นจึงเป็นงานที่ยากมากตั้งแต่วัตถุดิบและการประกอบเป็นตัวกระเป๋า ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างยอดฝีมือ ตั้งแต่ดีไซเนอร์ ครูช่าง วัสดุ การทอ และการทำโครงสร้างกระเป๋า”

ส่วนสำคัญของสุดยอดฝีมือยังมี “ช่างทำจิวเวลรี่” จากแบรนด์เพชร “บิวตี้ เจมส์” อาจารย์จารุพัชร อธิบายว่า “เราเรียกว่าเป็นกระเป๋าที่ทำเหมือนเครื่องประดับ ความพิเศษคือต้องใช้ช่างทำเพชรไม่ใช่ช่างทำกระเป๋าในการเข้าโครง เป็นการรวมกันของยอดฝีมือจริง ๆ เพราะแต่ละขั้นตอนยากมาก”

ยังมีการปัก “ดอกบุณฑริก” บนตัวกระเป๋า ดีไซเนอร์อธิบายว่า

“ไม่ได้ปักง่าย ๆ เหมือนปักบนผ้าไหมหรือผ้าฝ้าย ดอกบัวบุณฑริก มีแรงบันดาลใจจากส่วนตัวและทีมงานที่ชอบบทพระราชนิพนธ์ พระมหาชนก  เป็นอย่างยิ่ง ชอบมาก ๆ ๆ... เชื่อมั่นว่าความเพียรจะทำให้เกิดงาน จึงบอกโจทย์กับกราฟิกดีไซเนอร์ว่า อยากได้สัญลักษณ์ที่มาจากพระมหาชนก คิดกันว่าเป็นดอกบัวมั้ย และดอกบัวเป็น 1 ใน 4 สัญลักษณ์ของมูลนิธิชัยพัฒนาด้วย เลยออกแบบดอกบัวโบราณบุณฑริก ซึ่งรับกับตัวกระเป๋า แต่เนื่องจากตัวกระเป๋าแฟบริคออกเป็นสีทอง สีเทาดำและเงิน ด้ายที่ปักจึงต้องเป็นด้ายเหลือบที่มีสีเงินและสีทองซึ่งในบ้านเราไม่มี เลยต้องอิมพอร์ตจากเยอรมนีโดยสั่งทอพิเศษ แล้วนำมาปัก”

บรรยากาศแฟชั่นโชว์3

บรรยากาศแฟชั่นโชว์2

แฟชั่นโชว์6

“ณพัฒน์” ใช้เวลาในการผลิตร่วม 9 เดือน ผลิตจำนวนจำกัด 99 ใบ เกิดขึ้นจากความเพียรของพสกนิกรที่สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของในหลวง รัชกาลที่ 9 และเพื่อสร้างผลงานทรงคุณค่าทั้งเชิงศิลปะและการใช้งาน เช่น หูจับกระเป๋าเพ้นท์ลวดลายจากเทคนิคไทยโบราณผสมผสานเทคนิคการถมช่างถมชั้นครู (ครูอุทัย เจียรศิริ) และหูจับสามารถเก็บซ่อนได้แล้วเปลี่ยนเป็นกระเป๋าคลัชท์ ที่ฐานขาตั้งกระเป๋าลอยขึ้นไม่กระทบพื้นโดยมีรูปลักษณ์คล้ายกับฐานของ “กังหันชัยพัฒนา” ส่วนวงรีในกรอบสี่เหลี่ยมสะท้อนถึงความอ่อนโยนแต่มุ่งมั่น แข็งแกร่ง ประดุจพระจริยาวัตรของพระองค์ท่าน สำหรับโครงกระเป๋าเงินทำจากเงินแท้ 93% และสีทองได้จากการทาด้วยทองคำแท้ 99.99 หนัก 2 บาท

กระเป๋า “ณพัฒน์” มี 2 สี คือสีเงิน จำนวน 89 ใบ แบ่งเป็น เลขรหัสกระเป๋าปกติ ราคา 299,000 บาท เลขรหัสพิเศษที่เป็นเลขเดี่ยว 1, 3, 4, 5, 6, 7, 8 และ เลขคู่ 22, 33, 44, 55, 66, 69, 77, 88 ราคา 309,000 บาท ส่วน สีทอง มีจำนวน 10 ใบ เลขรหัสกระเป๋าปกติ 19, 29, 39, 49, 59, 70, 79 ราคา 409,000 บาท โดยรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายสมทบทุนมูลนิธิชัยพัฒนา

นอกจากนี้จะจัดประมูลกระเป๋า “ณพัฒน์” ใบพิเศษ เลขรหัส 89, 99 แบบ Silent Auction โดยรายได้ทั้งหมดจากการประมูลมอบให้มูลนิธิชัยพัฒนา ผู้สนใจร่วมประมูลได้ตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 13 ธันวาคม 2560 ที่ช็อป PHYA ชั้น 3 เกษร วิลเลจ สอบถามโทร.0 2656 1365, 06 1954 2456, 08 6062 7367