องค์กรทุ่มเงินเดือนดึงหัวกะทิร่วมทีม

องค์กรทุ่มเงินเดือนดึงหัวกะทิร่วมทีม

ในภาวะที่เศรษฐกิจไทยยังมีความผันผวนยิ่งทำให้องค์การชั้นนำเพิ่มความต้องการบุคลากรที่เชี่ยวชาญและประสบการณ์ที่เชื่อถือได้เพื่อนำพาธุรกิจผ่านช่วงการปรับตัวในหลายด้าน เช่น การเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัล

ส่งผลให้การจูงใจด้วย "เงินเดือนในอัตราที่สูงขึ้น" ยังเกิดขึ้นทั้งระนาบในอุตสาหกรรมหลักทั้งหมด จากข้อมูลของ บริษัท โรเบิร์ต วอลเทอร์ส บริษัทที่ปรึกษาด้านการสรรหาบุคลากรรายใหญ่ 1 ใน 3 ของไทย ที่สำรวจข้อมูลการจ้างงานในปี 2560 และแนวโน้มปีหน้า

การสำรวจพบว่า มีความกังวลด้านการขาดแคลนบุคลากรระดับบริหารมากขึ้นเพราะการพัฒนาคนเจเนอเรชั่นวายที่อยู่ในกลุ่มการทำงานระดับกลางให้มีความพร้อมไม่ทันความต้องการเนื่องจากคนรุ่นใหม่นิยมก้าวเข้าสู่ธุรกิจสตาร์ทอัพหรือมีกิจการของตัวเอง

ปุณยนุช ศิริสวัสดิ์วัฒนา ผู้อำนวยการสายงานธุรกิจด้านบัญชีการเงินซัพพลายเชนและทรัพยากรบุคคล กล่าวว่า ความต้องการพนักงานระดับบริหารตั้งแต่กลางถึงบนที่มี "ความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง" ยังสูงสะท้อนผ่านความพร้อมขึ้นเงินเดือนเฉลี่ย 20% ปีหน้า แต่หากมีทักษะ สามารถทำงานข้ามสายงานเมื่อเปลี่ยนงานจะปรับขึ้นถึง 35%

ในสาขาที่สำคัญกลุ่มบัญชีและการเงินยังเป็นตำแหน่งงานที่โดดเด่นมีโอกาสปรับขึ้นเมื่อย้ายงาน 25-30% เนื่องจากองค์กรต้องการผู้เชี่ยวชาญบริหารงบประมาณ มีความสามารถวิเคราะห์ต้นทุนการเงินและการใช้จ่ายเพื่อปรับตัวด้านการบริหารกำไร-ขาดทุนให้ได้ในภาวะที่เศรษฐกิจท้าทาย เช่น กลุ่มค้าปลีกที่กำลังซื้ออาจชะลอตัวลง

สาขาเทคโนโลยีสารสนเทศเป็นสาขาที่ต้องจับตาว่าจะมีความต้องการมากขึ้นจากปัจจุบันเป็นรองสาขาการขายและการตลาด เพราะธุรกิจเข้าสู่ยุคดิจิทัล เช่น กลุ่มค้าปลีกเผชิญการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคมาสู่การซื้อขายออนไลน์หรืออีคอมเมิร์ซมากขึ้น ดังนั้นคาดว่าปีหน้า การขึ้นเงินเดือนผู้ที่ย้ายบริษัทสาขานี้ 15-25%

เช่นเดียวกับสาขาทรัพยากรบุคคลซึ่งองค์กรใหญ่ต้องการการบริหารบุคลากรดึงความสามารถต่อคนสูงสุด ออกแบบเงินเดือนและสวัสดิการให้จูงใจคนเก่ง ทำโปรแกรมพัฒนาศักยภาพจูงใจคนโดยเฉพาะในยุคที่คนเจนวายไม่ยึดติดกับการทำงานองค์กร

กลุ่มแรงงานที่ยังพัฒนาไม่ทันคือคนวัย 35-45 ปี ที่มีอายุงาน 7 ปี ขึ้นไปเป็นเพราะส่วนหนึ่งหันไปเริ่มธุรกิจของตัวเองหรือทำงานอิสระ"

ทำให้กลุ่มผู้บริหารระดับบนที่มีอายุ 45-55 ปี หรือมีประสบการณ์ 7-15 ปี ขึ้นไป มีแนวโน้มต้องทำงานเกินวัยเกษียณมากขึ้น ซึ่งเปลี่ยนแปลงจากช่วง 3 ปีก่อนที่เคยมองว่าผู้บริหารอายุ55ปีก็ถือว่าสูงและใกล้หมดวัยทำงานแล้ว”

ดังนั้น “เงินเดือน”  จึงไม่พอสำหรับการดึงดูดคนรุ่นใหม่แต่บริษัทต้องหันมาปรับตัวหลายด้านเริ่มจาก "ทัศนคติ" ที่เริ่มรับได้หากพนักงานในกลุ่มนี้จะเปลี่ยนงานบ่อยทุก 2-3 ปี โดยหันมาวางกลยุทธ์การบริหารแทนว่าในช่วงที่ยังร่วมงานจะทำอย่างไรให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อองค์กร หรือปรับเปลี่ยนสิทธิประโยชน์ที่ออกแบบ ตามใจพนักงาน มากขึ้น เช่น ให้สิทธิการทำงานจากบ้าน เพิ่มวันลาหยุดและจัดสรรงบประมาณที่คาดว่ากลุ่มเจนวายจะใช้ประโยชน์ต่ำ เช่น เงินประกันสุขภาพมาเป็นกองทุนเพื่อการท่องเที่ยวหรือกิจกรรมที่ชื่นชอบ

ปุณยนุช กล่าวว่าส่วนสาขาการธนาคารและการบริการทางการเงินอาจขึ้นเงินเดือนจูงใจพนักงานใหม่ต่ำที่สุด 18-20% สาเหตุที่ชะลอตัวต่อเนื่องมาแล้ว 2 ปีเนื่องจากมีบุคลากรมากเกินกว่าตำแหน่งว่าง ประกอบกับมีผลกระทบจากธนาคารต่างประเทศที่ลดการขยายงานลง

ด้านนัฐติยา ซอล รองผู้อำนวยการฝ่ายขายและการตลาด-บีทูบีและบีทูซี กล่าวว่า สาขาการขายและการตลาดจะเป็นอีกประเภทที่เผชิญความเปลี่ยนแปลงและต้องการมืออาชีพระดับหัวกะทิจากปกติเป็นสาขาที่มี "อัตราการเปลี่ยนงานสูงสุด" อยู่แล้วก็จะยิ่งมีความต้องการดึงตัวมากขึ้นด้วยความพร้อมขึ้นเงินเดือน 15-20%

การที่ปัจจุบันหลายบริษัทหันมาปรับโครงสร้างให้กระชับขึ้น ดังนั้นผู้บริหารที่วางกลยุทธ์เป็นจึงเป็นที่ต้องการ โดยมีคุณสมบัติคือเชี่ยวชาญด้านการขายและการตลาด,ภาษาอังกฤษดีเยี่ยมและพร้อมเดินทางไปทำงานต่างประเทศรองรับการขยายกิจการ

นอกจากนั้นสังเกตว่าแรงงานระดับบริหารที่จบต่างประเทศหรือมีประสบการณ์ทำงานกับบริษัทต่างประเทศมาก่อนจะได้เปรียบ โดยบริษัทต่างชาติให้ความสนใจเพราะมีพื้นฐานวัฒนธรรมองค์กรแบบเดียวกัน เช่น สามารถแสดงความคิดเห็นริเริ่มจากล่างขึ้นบนได้ต่างจากวัฒนธรรมไทยที่เน้นการรับคำสั่งจากระดับบนมากกว่า

ส่วนภาพรวมเชื่อว่าปี 2561 ตลาดแรงงานยังเติบโตดี แม้เศรษฐกิจผันผวนแต่แนวโน้มการขยายตัวจีดีพีในระดับ 3.5-4 ใกล้เคียงกับปีนี้

สำหรับข้อมูลการสำรวจมาจากการสอบถามพนักงานที่บริษัทให้บริการจัดสรรเข้าสู่ตลาดแรงงานซึ่งกว่า 95% เป็นบุคลากรคนไทยที่ได้รับการจ้างงานให้ทำงานในไทย