‘วีระศักดิ์’ลุยคลินิกท่องเที่ยวแก้ปัญหาพื้นที่เสื่อมโทรม

‘วีระศักดิ์’ลุยคลินิกท่องเที่ยวแก้ปัญหาพื้นที่เสื่อมโทรม

"วีระศักดิ์” มอบนโยบายเน้นสานงาน หวังส่งต่อรัฐบาลเลือกตั้งขับเคลื่อนทันที  พร้อมเปิด “คลินิกท่องเที่ยว” แก้ปัญหารายพื้นที่ นำเกณฑ์ท่องเที่ยวยั่งยืน 51 ข้อ GSTC กระจายทุกชุมชนทั่วประเทศ ชี้ไทยเสี่ยงรับนักท่องเที่ยวไม่ไหว หากไร้แผนรองรับ

นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวถึงในโอกาสเข้าทำงานวันแรก เมื่อวันที่ 1 ธ.ค. ว่า ตั้งโจทย์ใหญ่ในการทำงานภายใต้เวลาจำกัด 1 ปีจากนี้ ก่อนเข้าสู่การเลือกตั้งทั่วไปว่า มุ่งกระจายรายได้ท่องเที่ยวลงสู่ท้องถิ่นมากกว่าเดิม และขับเคลื่อนการท่องเที่ยวเป็นเครื่องมือ "นำ เศรษฐกิจดีขึ้น พร้อมให้ความสำคัญกับการลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม

ปัจจุบันสัดส่วนรายได้ท่องเที่ยวต่อจีดีพีของประเทศอยู่ที่ 20% ถือเป็นอันดับต้นของโลก มีโอกาสอีกมากหากสามารถกระจายผลประโยชน์อย่างทั่วถึง ขณะเดียวกัน มองว่าการจัดโครงสร้างพื้นฐานเรื่องกระจายรายได้ จะช่วยแก้ปัญหาระยะยาวของไทย

“ไทยไม่พร้อมในการรองรับนักท่องเที่ยวแน่นอน หากมีการเพิ่มขึ้นถึง 60 ล้านคน จากการคาดการณ์ของหน่วยงานต่างประเทศโดยตนเองจะสร้างวัฒนธรรมการทำงานใหม่ เน้นการทำงานสานต่อจากนโยบายเดิมที่มีอยู่ ให้ความสำคัญกับการทำงานต่อเนื่อง ไม่เปลี่ยนแผนการทำงานไปตามวาระของบุคคลและหากรัฐมนตรีคนถัดไปเข้ามาก็สามารถสานงานต่อได้ทันทีเช่นกัน”

ทั้งนี้ ภายใต้กรอบเวลา 1 ปี เชื่อว่าจะขับเคลื่อนงานได้มากพอสมควร และจะมุ่งการสร้างรากฐานเพื่อผู้รับตำแหน่งจะสานต่อได้ทันที จากการปรับพื้นฐานและข้อกฎหมายเพื่อให้เกิดความคล่องตัว โดยนำประสบการณ์จาก 9 ปีก่อน ที่เคยทำงานกับกระทรวงฯ และยังได้ทำงานด้านท่องเที่ยวต่อเนื่องมาตลอด มาใช้ประโยชน์ด้านการพัฒนาระบบอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและโครงสร้างเชิงระบบ ให้การท่องเที่ยวช่วยลดความเหลื่อมล้ำในสังคม

โครงการที่จะเป็นรูปธรรมได้แก่ การจัดทำคลินิกท่องเที่ยว ที่จะรวบรวมผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางทั้งมาจากหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องหรือภาคเอกชน เข้าไปร่วมมือกับชุมชนแก้ไขปัญหาในพื้นที่ต่างๆ เช่น แก้ปัญหาความเสื่อมโทรม เข้าฟื้นฟูแหล่งท่องเที่ยว

“ไม่ได้หมายความว่าจะต้องตั้งเป็นหน่วยงานขึ้นมาแก้ไขปัญหา แต่ให้ทุกคนช่วยเข้าไปเป็นพี่เลี้ยง”

โดยที่กระทรวงฯ จะนำเกณฑ์มาตรฐาน 51 ข้อด้านการท่องเที่ยวยั่งยืนของสภาการท่องเที่ยวยั่งยืนโลก หรือ จีเอสทีซี (GSTC : Global Sustainable Tourism Council) มาช่วยกำกับดูแลทั้งด้านธรรมชาติ ชุมชน และแหล่งท่องเที่ยวที่มนุษย์สร้างขึ้นในแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ พร้อมรักษาปัจจัยพื้นฐานเดิม ความสะอาด สะดวก และปลอดภัย

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังต้องรอรับมอบนโยบายจากรองนายกรัฐมนตรีที่กำกับด้านการท่องเที่ยว ซึ่งจะมีการแบ่งโควต้าการทำงานอีกครั้งในสัปดาห์หน้า ส่วนการขับเคลื่อนเพื่อกระจายรายได้นั้น เชื่อว่าด้วยโครงสร้างเดิมที่มีอยู่ คือ คณะกรรมการนโยบายท่องเที่ยวแห่งชาติ (ท.ท.ช.) ซึ่งเตรียมจัดทำเขตพัฒนาการท่องเที่ยว (คลัสเตอร์) เพิ่มจาก 8 เป็น 14 คลัสเตอร์ โดยต่อไปจะแบ่งคลัสเตอร์ที่มีความเชื่อมโยง เช่น วิถีลุ่มน้ำ อัตลักษณ์ อาหารการกิน เชื่อมด้วยกีฬา

“ยอมรับการทำงาน 1 ปีไม่เสร็จแน่นอน แต่จะได้เริ่มสร้างแนวทางไว้ให้ และต้องทำไปเรื่อยๆ ต้องชักชวนคนมาร่วมเป็นพลัง ตั้งแต่การบำรุงรักษา การจัดระเบียบด้านท่องเที่ยว”