กรมท่าอากาศยานติดปีกโอทอป-สตาร์ทอัพไทย

กรมท่าอากาศยานติดปีกโอทอป-สตาร์ทอัพไทย

"กรมท่าอากาศยาน" ติดปีกโอทอปและสตาร์ทอัพไทย เปิดพื้นที่สนามบินยกระดับสินค้าชุมชนและภูมิภาค สร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจไทย ลุยติดอาวุธให้ธุรกิจเอสเอ็มอี

นายดรุณ แสงฉาย อธิบดีกรมท่าอากาศยาน (ทย.) กล่าวว่า ผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือเอสเอ็มอี ถือเป็นฟันเฟืองสำคัญในระบบเศรษฐกิจที่จะผลักดันให้เกิดความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ เพราะเชื่อว่าเศรษฐกิจไทยจะไม่สามารถขยายตัวได้ เพียงเพราะมีแต่บริษัทขนาดใหญ่ที่แข็งแกร่งเท่านั้น แต่เศรษฐกิจไทยจะมีรากฐานที่แข็งแกร่งได้ต้องร่วมสร้างรายเล็กและรายกลางให้แข็งแกร่งก่อน

ทั้งนี้จากนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการให้ทุกหน่วยงานของภาครัฐเร่งหาแนวทางในการกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชนทั่วประเทศให้เติบโตเข้มแข็งอย่างยั่งยืน เพื่อเพิ่มรายได้ให้ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมในท้องถิ่นนั้น กรมท่าอากาศยานซึ่งถือเป็นหน่วยงานของรัฐก็พร้อมที่จะสนับสนุนเศรษฐกิจชุมชน และภูมิภาคให้แข็งแกร่ง ควบคู่ไปกับแผนยุทธศาสตร์กรมท่าอากาศยานที่ต้องการบูรณาการสนามบินในสังกัดทั้ง 28 แห่ง ให้ครอบคลุมทั้งด้านการพัฒนาสนามบิน และเพิ่มศักยภาพการบริหารงาน และบุคคลากร เพื่อเสริมความแข็งแกร่งให้กับกรมท่าอากาศยานและชุมชนในพื้นที่จับมือสร้างความเข้มแข็งผู้ประกอบการท้องถิ่น

อธิบดีกรมท่าอากาศยาน กล่าวว่า ที่ผ่านมากรมท่าอากาศยานได้ร่วมกับกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย เปิดพื้นที่ภายในอาคารผู้โดยสารให้ผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชนเข้ามาขายผลิตภัณฑ์โอทอป สินค้าที่ผลิตในชุมชน ตลอดจนการบริการต่างๆหมุนเวียนผลัดเปลี่ยนกันเข้ามาเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับผู้ประกอบการท้องถิ่น ขณะเดียวกันก็ได้ร่วมกับธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME BANK) เปิดให้ผู้ประกอบการธุรกิจสตาร์อัพเข้ามาใช้พื้นที่อากาศยานในต้นทุนที่ต่ำเพื่อสนับสนุนนโยบายของรัฐที่เร่งให้เกิดการขยายตัวมากขึ้น โดยได้เริ่มดำเนินการนำร่องแล้วที่ท่าอากาศยานกระบี่และท่าอากาศยานอุดรธานี และเตรียมที่จะจะขยายผลไปยังท่าอากาศยานอื่นๆต่อไป

โอกาสใหม่ของ SMEs-Startups

ปัจจุบันกรมท่าอากาศยานที่อยู่ในความดูแลจำนวน 28 แห่งครอบคลุมพื้นที่ทุกภาคทั่วประเทศ ซึ่งมีความพร้อมในการให้การสนับสนุนการใช้พื้นที่ในท่าอากาศยานที่อยู่ในความดูแลเพื่อสนับสนุนและเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการใช้พื้นที่จำหน่ายสินค้าและร่วมทำกิจกรรมต่างๆ ก่อให้เกิดรายได้แก่ชุมชนท้องถิ่นซึ่งเป็นการส่งเสริมเศรษฐกิจของประเทศ อีกทั้งเป็นการสร้างเครือข่ายที่ดีร่วมกันกับชุมชนท้องถิ่นเพื่อให้ผู้ประกอบการมีช่องทางจำหน่ายสินค้า และสามารถต่อยอดสู่ตลาดต่างประเทศได้

"กรมท่าอากาศยานพร้อมให้การสนับสนุนการใช้พื้นที่ที่อยู่ในความดูและเพื่อเปิดโอกาสให้กับผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการใช้พื้นที่ในการจำหน่ายสินค้าและร่วมกิจกรรมต่างๆที่จะก่อให้เกิดราย ได้แก่ชุมชนท้องถิ่นซึ่งเป็นการส่งเสริมเศรษฐกิจของประเทศ"

โครงการทัวร์ริสแอร์พอร์ต

นอกจากนี้ทางกรมท่าอากาศยานได้ทำโครงการทัวร์ริสแอร์พอร์ตขึ้นเพื่อกระตุ้นอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในชุมชนให้เติบโตอย่างต่อเนื่องโดยได้กำหนดจังหวัดนำร่องของโครงการทัวร์ริสแอร์พอร์ต ได้แก่ ท่าอากาศยานระนอง ท่าอากาศยานบุรีรัมย์ และท่าอากาศยานน่านนคร โดยได้เปิดนำร่องที่จังหวัดระนองเป็นจังหวัดทัวร์ริสแอร์พอร์ตแรกเพราะมองว่าเป็นจังหวัดที่มีศักยภาพ เตรียมพร้อมที่จะเป็นสมาร์ทซิตี้ และสอดรับกับนโยบายของจังหวัดที่ต้องการให้จังหวัดระนองเป็นเมืองแห่งสุขภาพ

สำหรับการดำเนินการโครงการทัวร์ริสแอร์พอร์ต เบื้องต้นจะพิจารณาและกำหนดพื้นที่ภายในอาคารผู้โดยสารท่าอากาศยานระนอง โดยให้มีการนำสินค้าท้องถิ่นเข้ามาจำหน่ายภายในท่าอากาศยานระนอง โดยกรมท่าอากาศยานจะเปิดกว้างในการนำสินค้าของคนในพื้นที่เข้ามาจำหน่าย เพื่อเป็นการส่งเสริมการประกอบอาชีพของคนในพื้นที่เช่น เม็ดมะม่วงหิมพานต์ น้ำแร่ ผลิตภัณฑ์ชุมชน เป็นต้น โดยมีการกำหนดพื้นที่ภายในอาคารผู้โดยสารไว้ว่าจะมีต้องสัดส่วนพื้นที่ในการบริหารจัดการเอสเอ็มอี และสตาร์ทอัพคิดเป็นสัดส่วน 40 เปอร์เซ็นต์ ในส่วนของภาคเอกชนร้านค้าชื่อดังต่างๆ  30 เปอร์เซ็นต์ และของวิสาหกิจชุมชน คิดเป็นสัดส่วน 30 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่

โดยขณะนี้กรมท่าอากาศยานมีแผนระยะสั้นไม่เกิน 6 เดือน ที่จะเร่งปรับปรุงพื้นที่เชิงพาณิชย์ภายในท่าอากาศยานระนองให้ผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชนเข้ามาขายผลิตภัณฑ์โอทอป สินค้าที่ผลิตในชุมชน ตลอดจนการบริการต่างๆ เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับผู้ประกอบการท้องถิ่น รวมไปถึงจัดตั้งศูนย์บริการการท่องเที่ยวแบบครบวงจรในจุดเดียว (one stop service) รวมไปถึงมีแผนระยะกลางที่จะทำให้ท่าอากาศยานเกิดเป็นศูนย์การค้าชุมชน (Community Mall) เพื่อยกระดับการท่องเที่ยวและการเดินทางผ่านทางท่าอากาศยานในสังกัดกรมท่าอากาศยาน โดยเป้าหมายของท่าอากาศยานคือต้องการให้นักท่องเที่ยวหรือผู้โดยสารมีความสะดวกสบายในการมาใช้บริการ มีความปลอดภัย รู้สึกอบอุ่นและมีความสุขที่ได้มาใช้บริการของท่าอากาศยานในสังกัดกรมท่าอากาศยาน

นับว่าในปีนี้กรมท่าอากาศยานได้ดำเนินงานในเชิงรุกทั้งการดำเนินงานเพื่อยกระดับท่าอากาศยานให้มีความพร้อมในทุกๆ ด้าน และที่ขาดไม่ได้คือการเป็นท่าอากาศยานเพื่อสังคมชุมชนได้เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีได้มีช่องทางการจำหน่ายสินค้า ซึ่งเชื่อว่าถ้าผู้ประกอบการเอสเอ็มอีได้รับการส่งเสริมและพัฒนาอย่างต่อเนื่องก็จะสามารถขยายกิจการได้อย่างก้าวกระโดดเป็นกำลังที่สำคัญของเศรษฐกิจไทยต่อไป