'สรรพากร' มั่นใจเก็บภาษีปีงบ 61 ได้ตามเป้า

'สรรพากร' มั่นใจเก็บภาษีปีงบ 61 ได้ตามเป้า

"อธิบดีกรมสรรพากร" มั่นใจจัดเก็บภาษีปีงบ 61 ได้ 1.9 ล้านลบ.ตามเป้า เตรียมส่งรายชื่อบริษัทที่มีเจตนาเลี่ยงภาษีให้ "ปปง." ยึดทรัพย์

นายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยการจัดเก็บภาษีสรรพากรในช่วง 2 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2561 (ต.ค.-พ.ย.60) ว่า ในเดือนต.ค.60 สามารถจัดเก็บภาษีได้เกินเป้าราว 700 ล้านบาท แต่เดือน พ.ย.60 คาดว่าจะใกล้เคียงหรือต่ำกว่าเป้าหมายเล็กน้อย เนื่องจากการบันทึกรายได้ในเดือนต.ค.เป็นช่วงการไว้อาลัย จึงทำให้มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจไม่มาก แต่คาดว่าเดือนต่อไปยอดจะดีขึ้น โดยเฉพาะเดือนธ.ค.ที่มีมาตรการช้อปช่วยชาติมาช่วยให้การเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ได้สูงกว่าเดิม และยังคาดว่าในปีงบประมาณ 61 นี้ กรมสรรพากรจะสามารถจัดเก็บภาษีได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ 1.9 ล้านล้านบาทอย่างแน่นอน

อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวด้วยว่า ได้มีการนำรายชื่อบริษัท และสำนักงานบัญชีที่มีเจตนาหลบเลี่ยงภาษีจนสร้างความเสียหาย ซึ่งมีมูลค่าทางภาษีรวมหลายหมื่นล้านบาท ส่งให้สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) พิจารณาตรวจสอบเพื่อยึดทรัพย์ เนื่องจากกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการฟอกเงินฉบับใหม่ (FATF) ที่เพิ่งออกไปเมื่อเดือนเม.ย.60 ระบุว่าหากบริษัทใดมีเจตนาวางแผนหลบเลี่ยงภาษี รวมถึงหากสำนักงานบัญชีสมรู้ร่วมคิด ก็จะอาจเข้าข่ายการฟอกเงิน ซึ่งมีความผิดตามกฎหมายระหว่างประเทศด้วย

ทั้งนี้ ยังฝากเตือนไปยังผู้ประกอบการเอสเอ็มอีกว่า 1.5 แสนราย ที่ยังไม่จัดทำบัญชีชุดเดียว ให้เร่งจัดทำบัญชีชุดเดียวที่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงของธุรกิจโดยด่วน เพราะตั้งแต่เดือน ม.ค.62 ผู้ประกอบการที่จะขอกู้เงินจากสถาบันการเงินจะต้องใช้บัญชีที่ยื่นกับกรมสรรพากรเป็นหลักฐานในการขอสินเชื่อ ซึ่งหากผู้ประกอบการยังไม่จัดทำบัญชีชุดเดียวก็อาจจะส่งผลกระทบต่อการขอสินเชื่อและเงินหมุนเวียนบริษัทได้

"ตั้งแต่กฎหมายมาตรการบัญชีชุดเดียวบังคับใช้ตั้งแต่เดือน ธ.ค.58 จนถึงปัจจุบัน มี SMEs ที่ยอมจัดทำบัญชีเดียวเพียงครึ่งเดียว หรือประมาณ 1.5 แสนราย จากทั้งหมด 3 แสนราย ซึ่งในส่วนที่ยังไม่ยอมทำบัญชีเดียว เพราะยังไม่คิดว่าเป็นอันตรายและกรมสรรพากรคงไม่สามารถตรวจถึง ซึ่งไม่จริง เพราะกรมฯ มีข้อมูลไว้แล้ว อีกทั้งต่อไปจะมีการใช้ธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์แทนใช้เงินสด ซึ่งจะทำให้ตรวจสอบได้ง่ายกว่าเดิม โดย SMEs ที่ยังคงหลบเลี่ยงการทำบัญชีเดียว ส่วนใหญ่มีรายได้ต่ำกว่า 30 ล้านบาท ทั้งธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภค ร้านอาหาร ปล่อยกู้ ร้านทอง ซ่อมรถ" นายประสงค์ กล่าว