อึ้ง! ไทยท็อป 10 ของโลก ตายจากอุบัติเหตุจราจร

อึ้ง! ไทยท็อป 10 ของโลก ตายจากอุบัติเหตุจราจร

อึ้ง! คนไทย 1 ใน 5 คิดดื่มน้ำเมาแล้วขับได้ ไทยติดท็อป 10 คนตายจากอุบัติเหตุจราจรมากที่สุด เฉลี่ย 62 คนต่อวัน เร่งขับเคลื่อนทศวรรษแห่งความปลอดภัยทางถนน

เมื่อวันที่ 30 พ.ย. 60 ที่โรงแรมฮิลตัน ภูเก็ต อาร์เคเดีย รีสอร์ท แอนด์สปา ระหว่างการประชุมรัฐมนตรีสาธารณสุขของประเทศสมาชิกองค์การอนามัยโลก ภูมิภาคเอเชียใต้และตะวันออกเพื่อเร่งรัดการขับเคลื่อนทศวรรษแห่งความปลอดภัยบนท้องถนน (WHO South-East Asia Ministerial Meeting on Accelerating Action for the Implement of Decade of Action for Road Safety) จัดขึ้นระหว่างวันที่ 29-30 ธันวาคม 2560 มีการปฐมนิเทศเพื่อการศึกษาดูงาน 3 พื้นที่ต้นแบบด้านความปลอดภัยทางถนนของจังหวัดภูเก็ต โดย นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุขกล่าวว่า ปัญหาการบาดเจ็บจากการจราจรบนท้องถนนเป็นปัญหาสุขภาพที่สำคัญของโลก ในแต่ละปีมีการตายเกิดขึ้นประมาณ 1.2 ล้านคน และมี 50 ล้านคนต้องบาดเจ็บจากอุบัติเหตุบนท้องถนน สำหรับในภูมิภาคเอเชียใต้และตะวันออกมีคนตายประมาณ 316,000 คนต่อปีคิดเป็น 1 ใน 4 ของการตายจากทั่วโลก

ส่วนสถานการณ์ความปลอดภัยทางถนนของไทย จากฐานข้อมูล 3 แหล่งสำคัญ ได้แก่ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ข้อมูลมรณะบัตรและหนังสือรับรองการตาย ของกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงสาธารณสุข และบริษัทกลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถจำกัด ในปี 2559 คนไทยตายจากอุบัติเหตุทางถนน 22,356 คน เฉลี่ย 62 คนต่อวัน คิดเป็นอัตราการเสียชีวิต 34.4 ต่อแสนประชากร โดย 3 ใน 4 ของผู้เสียชีวิตเป็นเพศชาย และกลุ่มอายุ 15-29 ปี มีอัตราการเสียชีวิตมากที่สุด ที่น่าเป็นห่วงคือในจำนวนนี้ต้องกลายเป็นคนพิการ 5,000 คน

"ทุกวันมี 42 ครอบครัวสูญเสียสมาชิก ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในวัยทำงานเป็นกำลังสำคัญของครอบครัว และในทุกวันยังมีอีก 15 ครอบครัวที่ต้องดูแลสมาชิกพิการจากอุบัติเหตุไปตลอดชีวิต ความสูญเสียเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อระบบบริการสาธารณสุข ทั้งการทุ่มงบประมาณและบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข สร้างความเสียหายเศรษฐกิจโดยรวมกว่าสองแสนล้านบาทต่อปี ทั้งนี้ ปัญหาอุบัติเหตุจราจรเป็นเรื่องที่ป้องกันได้ หากดำเนินให้การแก้ไขปัญหาได้เร็วจะลดความสูญเสียเหล่านี้ลงได้ ที่สำคัญประเทศไทยจะหลุดจากอันดับ 1 ใน 10 ของประเทศที่มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุจราจรสูงที่สุดในโลกได้” นพ.ศุภกิจ กล่าว

นพ.ศุภกิจ กล่าวอีกว่า การลดความสูญเสียจากการบาดเจ็บทางจราจรเป็นปัญหาและวาระเร่งด่วนที่สำคัญ โดยองค์การสหประชาชาติได้กำหนดให้ปี 2554-2563 เป็นทศวรรษแห่งความปลอดภัยทางถนน และผลักดันให้ประเทศสมาชิกเร่งแก้ปัญหาและลดอัตราการเสียชีวิตลงให้ได้ 50% ซึ่งรัฐบาลไทยได้ร่วมประกาศทศวรรษแห่งความปลอดภัยทางถนนให้เป็นวาระแห่งชาติ เพื่อสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาอย่างบูรณาการ ผ่าน 5 เสาหลัก คือ 1.ด้านบริหารจัดการ 2.ด้านโครงสร้างพื้นฐานทางถนน 3.ด้านยานพาหนะปลอดภัย 4.ด้านผู้ใช้รถใช้ถนน และ 5.ด้านการรักษาและเยียวยาหลังเกิดเหตุ

ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ประเทศไทย มีรถออกใหม่จำนวน 2,332 คันต่อวัน และมีรถจดทะเบียนทั้งหมดกว่า 35 ล้านคัน ในขณะที่เครื่องตรวจวัดความเร็วมีเพียง 1-2 เครื่องต่อจังหวัด ทำให้ปัญหาเรื่อง ความเร็ว ยังคงเป็นสาเหตุหลักของการเกิดเหตุและการเสียชีวิต ผู้ขับขี่ 1 ใน 5 ที่มีทัศนะว่า ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แล้วขับรถได้ ถ้ามีสติ และ 1 ใน 3 ระบุว่า เคยดื่มแล้วขับในรอบปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ทุกๆ วันมี 8-10 คนที่ต้องตายบนถนนจากคนดื่มแล้วขับ การขับเคลื่อนงานแบบภาคีเครือข่ายสหสาขาวิชาชีพ ทำให้ลดอัตราความสูญเสียลง และพิสูจน์ว่า หากจุดจัดการระดับพื้นที่ ซึ่งใกล้ชิดปัญหามากที่สุด มีความเข้มแข็ง จัดการเรื่องนี้อย่างจริงจังทุกวัน ประเทศไทยจะลดการตายลงได้เกินครึ่ง โดยการแก้ปัญหาความสูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนนจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่าย สสส. ได้สนับสนุนการทำงานป้องกันอุบัติเหตุทางถนนตั้งแต่ปี 2546 สนับสนุนข้อมูลวิชาการเพื่อนำไปสู่การเสนอนโยบายสาธารณะ สร้างเครือข่ายประชาคมทำงานกับชุมชน และรณรงค์สังคมอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปีไม่ใช่แค่เฉพาะเทศกาลสำคัญเท่านั้น