ต้นแบบป่าอุ้มน้ำที่สะเมิง

ต้นแบบป่าอุ้มน้ำที่สะเมิง

จะปลูกป่า ก็ต้องใช้เวลา และนี่คือ ป่าอุ้มน้ำที่อ.สะเมิง ซึ่งตอบคำถามอย่างเป็นรูปธรรมได้ว่า ปลูกป่าเยอะๆ ทำให้น้ำไม่ท่วมในตัวเมือง

.................

เคยนึกสงสัยหลายครั้งว่า เอามื้อสามัคคี พวกเขาทำกันอย่างไร 

เมื่อมีโอกาสขึ้นดอยสูงอีกครั้งกับสถาบันเศรษฐกิจพอเพียง มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ เพื่อไปดูเกษตรบนที่ราบชุมชนต้นน้ำ ศูนย์ปฎิบัติการเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริ(บวร.) บ้านอมลอง อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่

โดยครั้งนี้ได้เรียนรู้ว่า พระหนุ่มนักพัฒนาสองสามคนที่เป็นแกนนำในการพัฒนาชุมชน สามารถทำให้คนในพื้นที่ปลดหนี้ได้ด้วยเกษตรผสมผสาน ปลูกป่า ปลูกกาแฟ ปลูกดอกเก็กฮวย 

แต่กว่าจะปลดหนี้ได้ พวกเขาต้องลงมือทำทั้งการเกษตร บัญชีครัวเรือน การจัดการผลผลิต และดูแลรักษาป่านา

นอกจากพระสรยุทธ ชยปัญโญ หรือ หลวงพี่โต้ง, หลวงพี่สังคม ธนปัญโญ และครูบาจ๊อก (พระวีระยุทธ์ อภิวีโร) จะนำความรู้ที่ได้ร่ำเรียนมาจากหลายแห่ง ทั้งทางธรรมและโลก มาพัฒนาพื้นที่ จนเห็นผลในช่วง 10 ปีแล้ว ยังมีคนอีกกลุ่มคือ  ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร ประธานมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติและ ผศ.พิเชษ โสวิทยสกุล คณบดี คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (โดยมีบริษัทเชฟรอนประเทศไทย สำรวจและผลิตจำกัด สนับสนุนกิจกรรม) นำศาสตร์พระราชาไปช่วยพัฒนา โดยชวนพี่น้องภาคต่างๆ มาลงแขกร่วมกัน ในโครงการ พลังคนสร้างสรรค์โลก รวมพลังตามรอยพ่อของแผ่นดิน ปี 5

กิจกรรมครั้งนี้ จะทดลองให้เห็นว่า แนวทางที่ครูบาจ๊อกใช้วิธีการรักษาป่าและทำการเกษตรตามวิถีธรรมชาติ กับแนวทางศาสตร์พระราชา โคก หนอง คลอง นา ที่คำนวณการไหลของน้ำ และการกักน้ำไว้อย่างเป็นระบบบนที่ราบสูง คาดว่าแนวทางหลังจะใช้เวลาแค่ 3-4 ปี

หลายพื้่นที่ที่อาจารย์ยักษ์เดินทางไปช่วยพัฒนาจะใช้แนวทางศาสตร์พระราชา เพื่อเปลี่ยนเขาหัวโล้นให้กลายเป็นพื้นที่การเกษตรและผืนป่า โดยครั้งนี้่พวกเขาทดลองพัฒนาพื้นที่ในบ้านอมลอง ซึ่งเป็นพื้นที่ป่าที่สมบูรณ์ เพื่อปลูกข้าวขั้นบันได ปลูกพืชผสมผสานบนไหล่เขา

คนกว่าสองร้อยต่างถิ่นต่างพื้นที่ มาช่วยกันลงแขก หรือพวกเขาเรียกว่า เอามื้อสามัคคี ขุดดินบนไหล่เขา ทำคันนา ทำหนอง ปลูกหญ้าแฝก ปลูกต้นไม้

“หญ้าแฝกจะช่วยลดการชะล้างหน้าดิน และกรองน้ำ รากลึกยาวและแข็งแรงมาก สามารถกรองน้ำให้ใสไว้ในหนองได้ด้วย” อาจารย์ยักษ์ อธิบายขณะที่เด็กๆ และผู้ใหญ่กำลังปลูกหญ้าแฝกท่ามกลางแดดร้อนระอุ

“ในสมัยก่อนเราก็ลงแขกแบบนี้ เราเรียกว่าเอามื้อสามัคคี ลงมือขุดคันนา ฝนตกมาก็เอาคันนาเป็นเขื่อน กั้นน้ำไว้ในหนอง ถ้าที่ไหนมีร่องน้ำก็ทำฝาย มีที่ราบก็ปั้นคันนาเก็บน้ำในคลอง และทำฝายมากมาย  จนเกิดตะกอนดินก็คือปุ๋ยที่ดีที่สุด ทำแบบนี้ปลูกข้าวก็สูงกว่าข้าวที่ปลูกแบบธรรมดาสี่ห้าเท่า ผมพูดยังไงคนก็ไม่เชื่อ ต้องทำให้ดู เมื่อทำให้ดู ก็ทำเลียนแบบทำกันต่อๆ ไป” อาจารย์ยักษ์เล่า ก่อนจะพาพวกเรามาที่ไหล่เขา เพื่อดูการทำเกษตรตามแนวทางศาสตร์พระราชา

“ชีวิตจริงๆ ของชาวบ้านเป็นตำราให้พวกเราเรียนรู้ เราบอกหลายคนว่า ให้ชวนบริษัทอื่นๆ เป็นร้อยๆ บริษัทมาช่วยกันสนับสนุน ทำตามแนวทางศาสตร์พระราชา”

ส่วนผศ.พิเชษ ซึ่งเป็นนักออกแบบพื้นที่การเกษตรบนดอยสูงมาหลายพื้นที่ และกำลังจะลงมือทำการเกษตรบนพื้นที่ของตัวเองที่อ.หางดง บอกว่า ส่วนใหญ่เราจะเข้าไปในพื้นที่ไม่มีอะไรเลยไปช่วยพัฒนาให้พวกเขาพึ่งพิงตนเองให้ได้ แต่ที่นี่จากไม่มีอะไรเลย พระนักพัฒนาและชาวบ้านได้ช่วยกันแก้ปัญหาต่อยอดมาเป็นโรงเรียน วัด โรงพยาบาล บ้าน บวร.จนสมบูรณ์ แต่เราอยากให้คนที่ทำการเกษตรได้เห็นและเปรียบเทียบว่า ถ้าเราทำแนวทางนี้โคก หนอง คลอง นา จะเห็นผลในสามสี่ปี

“ส่วนใหญ่เราจะเริ่มจากพื้นที่แล้งๆ และทำไปแล้วยังไม่เห็นภาพในอนาคต แต่เราอยากให้เห็นของจริงจากที่พระพัฒนาทำมาสิบกว่าปี เราเห็นความสมบูรณ์อยู่แล้ว แต่ถ้าเราเริ่มจากดีไซน์โคก คลอง หนอง นา ในพื้นที่ไม่มีอะไรเลย ระยะเวลาความสำเร็จด้านการเกษตรจะสั้นลง โดยการคำนวณน้ำ วางดีไซน์ตามศาสตร์พระราชา จะเหลือเวลาสัก3-4 ปี ที่พระทำใช้เวลาสิบปี ซึ่งจะเป็นแหล่งให้คนมาดูเปรียบเทียบได้ง่ายขึ้น

“สองปีที่เราไปปลูกต้นไม้ที่ห้วยกระทิง ต้นไม้สูงมาก เราใช้ไม้เบิกนำ ที่นี่อยู่บนที่ราบสูง ถ้าขุดหนองเยอะๆ อากาศแห้ง ลมแรง น้ำจะระเหยเร็ว จึงใช้หญ้าแฝก เพิ่มศักยภาพป่าให้อุ้มน้ำเป็นกำแพงในการอนุรักษ์ดินและน้ำ โดยเน้นว่า เก็บน้ำในดินให้มากที่สุด แล้วน้ำจะเพียงพอเอง”

อย่างไรก็ตาม พวกเขาไม่ได้มองแค่พื้นที่ในชุมชน แต่พยายามเชื่อมโยงให้เห็นว่า การปลูกป่าหมื่นกว่าไร่ที่พระนักพัฒนาทำมากว่าสิบปี มีผลในการชะลอน้ำป่าไหลหลากเข้าตัวเมือง

“ อ.สะเมิงปีนี้ได้พิสูจน์สิ่งที่ครูบาทำในเรื่องการปลูกป่ามายาวนาน ปกติอ.สะเมิง ฝนตกหนักๆ วันเดียว น้ำป่าจะไหลทะลักลงไปที่อ.หางดง แต่งวดนี้ฝนตกหนักสามวัน น้ำป่าเพิ่งไหลลงไป ภูเขามีศักยภาพอุ้มน้ำมากขึ้น เพราะครูบาดูแลป่า ปลูกป่าเป็นหมื่นๆ ไร่ ทั้งๆ ที่มีอยู่แสนไร่ นี่คือต้นแบบป่าอุ้มน้ำ คูคลองไส้ไก่ ฝายชะลอน้ำ ปลูกพืชสามอย่าง ได้ประโยชน์สี่อย่าง มีระบบรากต่างกัน ทำให้ดินเพิ่มศักยภาพอุ้มน้ำได้ดีขึ้น"